กษ.สุ่มตรวจสารตกค้างผัก-เนื้อในตลาด หวังดันมาตรฐานเทียบส่งออก
ก.เกษตรฯลงพื้นที่ ‘ตลาดไท-โมเดิร์นเทรด’ สุ่มตรวจสารเคมีตกค้างในสินค้าเกษตร จับมือสธ.-อุตฯหวังดันมาตรฐานปลอดภัยทัดเทียมส่งออก
วันที่ 13 ก.พ. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(รมว.กษ.) เปิดเผยว่า ตามที่กษ. กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (ก.อุตฯ) ได้ร่วมหารือเชิงบูรณาการเมื่อต้นเดือนม.ค. 56 ในการกำกับดูแลสินค้าเกษตรเพื่อการบริโภค ทั้งสินค้าพืชผัก สินค้าประมงและปศุสัตว์ที่วางจำหน่ายภายในประเทศให้มีความปลอดภัยทัดเทียมสินค้าที่ส่งออกจำหน่ายต่างประเทศซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสากลกำหนด และมีเปอร์เซ็นต์การตกค้างของยาและสารเคมีต้องห้ามน้อยเมื่อเทียบกับประเทศผู้ผลิตรายอื่นๆ
โดยในส่วนของกษ.ได้มอบหมายให้ นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกษ. ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการผลิต ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาหารปลอดภัยของกระทรวงเกษตรฯทั้ง 5 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อกำหนดแนวทางเชิงบูรณาการกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรมในการ กำกับดูแลอาหารปลอดภัยภายในประเทศ
ในวันนี้(13 ก.พ.56) นายนิวัติ จะเข้าสุ่มตรวจสินค้าเกษตร ที่ตลาดไท อ.คลองหลวง ปทุมธานี และตลาดโมเดิร์นเทรด “สยามแมคโคร” คลองสาม ปทุมธานี โดยมีเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมส่งเสริมการเกษตร เข้าร่วมประสานงาน ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าพืชจะเน้นที่ผักและผลไม้ สินค้าประมงเน้นที่ปลานิลและกุ้ง ส่วนสินค้าปศุสัตว์จะเน้นที่เนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อวัว
โดยภายใน 1 สัปดาห์ หลังจากผลการวิเคราะห์ที่มีความละเอียดในระดับห้องปฏิบัติการซึ่งเป็นระดับ เดียวกับสินค้าส่งออกได้ครบถ้วนแล้ว คณะทำงานจะร่วมกันวิเคราะห์ร่วมกับผู้ดูแลตลาดทั้ง 2 แห่ง เพื่อนำเสนอแนวทางการกำกับดูแลและการยกระดับอาหารปลอดภัยในประเทศนำเสนอต่อรมว.กษ. เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางนโยบายร่วมกันระหว่าง 3 กระทรวงดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเป็นผู้ดูแลสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
“ แม้ว่าการควบคุมการผลิตของสินค้าทุกชนิดที่มีจำหน่ายในประเทศให้เป็นไปตาม ที่กระทรวงเกษตรฯ กำหนดนั้น จะมีความยากลำบากมากกว่าในส่วนของสินค้าส่งออก เนื่องจากเป็นสินค้าเกษตรที่ผลิตขึ้นเพื่อการบริโภคที่กระจายสู่ผู้บริโภคภายในประเทศ มาจากเกษตรกรมืออาชีพที่ขึ้นทะเบียนผู้ผลิตกับกระทรวงเกษตร ฯ และเกษตรกรรายย่อยๆ ที่ผลิตเพื่อบริโภคเองและนำส่วนเหลือออกจำหน่ายยังตลาดท้องถิ่น แต่การดำเนินการสุ่มตรวจสินค้าเกษตรที่วางจำหน่ายตามแหล่งจำหน่ายสินค้าเกษตรดังกล่าว จะทำให้กระบวนขั้นต้นในการควบคุมการผลิตสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายยุคลกล่าว
ที่มาภาพ :: semsikkha.org