ฟังเสียง"รากแก้ว"ชายแดนใต้...คิดอย่างไรกับรูปแบบการปกครอง การศึกษา ภาษา และความยุติธรรม
คณะนักศึกษากลุ่มศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 2 (4 ส.2) ได้เปิดเวทีขึ้นที่เทศบาลนครยะลาเมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อรับฟังปัญหา ผลกระทบ และความคาดหวังจากประชาชนในพื้นที่ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบในชายแดนใต้ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
เป้าหมายก็เพื่อค้นหาความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกศาสนา และทุกสาขาอาชีพ เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดไปประมวล สังเคราะห์ และยกร่างการดำเนินการตามแนวคิด "สันติธานี" เพื่อขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งที่นำมาสู่ความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน โดยยึดแนวทางใช้ "หลักการทางศาสนาอิสลาม" ไปปรับร่วมใช้กับการบริหารการปกครองท้องถิ่นทุกระบบ
ร่างรายงานดังกล่าวนี้จะถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาล (ไม่ว่าจะชุดปัจจุบันหรือชุดต่อไปก็ตาม) ได้พิจารณาเป็นข้อเสนอหนึ่งในการดับไฟใต้ต่อไป
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว นับว่าน่าสนใจมาก เพราะใช้วิธีการสนทนากลุ่มกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในท้องถิ่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความหลากหลายทั้งกลุ่มอาชีพ (นักการเมืองท้องถิ่น, ผู้นำศาสนา, บุคลากรทางการศึกษา, บุคลากรทางสาธารณสุข, สตรี และเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา), กลุ่มทางภูมิศาสตร์ (จ.ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กระจายไปเกือบครบทุกอำเภอ), ทุกศาสนาและช่วงวัย คือมีทั้งศาสนาอิสลาม พุทธ ในหลายกลุ่มอายุ
ที่สำคัญประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายนั้น ไม่เคยเป็นกลุ่มตัวอย่างในงานการศึกษา งานวิจัย หรือการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นขององค์กรหรือหน่วยงานอื่นใดมาก่อน
เรียกว่าเป็น "เสียงจริง" ของประชาชน "ฐานราก" หรือ "รากแก้ว" ในชายแดนใต้ก็คงไม่ผิดนัก
สำหรับกรอบคำถามที่ใช้ในการสนทนาและรับฟังความคิดเห็นมี 9 ประเด็น ครอบคลุมการบริหารจัดการพื้นที่ในทุกมิติ กล่าวคือ 1.การปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ในท้องถิ่น 2.กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.ระบบกลั่นกรองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง 4.การใช้ภาษามลายู 5.อัตลักษณ์อิสลามมลายู 6.ระบบกฏหมายอิสลาม 7.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 8.ระบบการศึกษาแบบผสมผสาน และ 9.ระบบสาธารณสุข
ข้อมูลจากการสนทนาและรับฟังความคิดเห็น สรุปแยกเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันได้ดังนี้
สับเละ อบต.ไร้คุณภาพ-อยากได้คนพื้นที่เป็นผู้ปกครองสูงสุด
ในประเด็นที่เกี่ยวกับการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของท้องถิ่น กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน และระบบกลั่นกรองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง พบข้อมูล ปัญหา และความคาดหวังที่น่าสนใจ กล่าวคือ
- รูปแบบการปกครองที่เป็นอยู่ไม่ตอบสนองกับความต้องการของประชาชน ทำให้บางคนไม่ไปเลือกตั้งสมาชิก อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) และได้ผู้นำที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นผู้มีอิทธิพล ไม่มีการศึกษา หรือมีเครือญาติจำนวนมากทำให้ชนะการเลือกตั้ง
วิธีแก้ควรกำหนดคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งเสียใหม่ตั้งแต่ระดับ อบต. เช่น ต้องจบปริญญาตรี จบชั้น 7 (หรือ 10) ด้านศาสนา มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นต้น
- ระบบการเลือกตั้งทำให้ชุมชนแตกแยก ไม่สามารถควบคุมตรวจสอบได้เพราะใช้วิธีพวกมากลากไป ทำให้คุณภาพของบุคลากรในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค่อนข้างต่ำ ทั้งๆ ที่ควรจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีเป็นอย่างน้อย วิธีการได้มาซึ่งสมาชิก อบต.น่าจะต้องจัดสอบวิชาภารกิจของ อบต. และแสดงวิสัยทัศน์ด้วย เนื่องจากบาง อบต.ยังไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ จากนั้นจึงค่อยคัดสรรต่อด้วยระบบเลือกตั้ง
การสอบเพื่อเข้าเป็นนายก อบต.และสมาชิกอบต. ควรสอบทั้งด้านความสามารถในการบริหารจัดการและจริยธรรม ที่ผ่านมา อบต.ถูกครอบงำโดยปลัด อบต.ซึ่งเป็นคนของรัฐ และ อบต.ควรมีวาระ 6 ปี เน้นให้ทำงานด้านคุณภาพชีวิตและการพัฒนาเป็นหลัก
- กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีบทบาทในการรักษาความสงบเรียบร้อย ควรมีการสอบวิชากฎหมายสำหรับผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง วาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี
- ต้องการผู้นำสูงสุดเป็นมุสลิม เพื่อให้มีความเข้าใจด้านศาสนาและวัฒนธรรม ผู้นำควรมาจากการสรรหาของผู้นำศาสนา คณะกรรมการกลางอิสลามระดับต่างๆ เหมือนการสรรหาจุฬาราชมนตรี เน้นตัวบุคคลที่ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง
- อยากให้มีสภาซูรอ ฝ่ายศาสนา นักปราชญ์ที่มาจากการคัดสรรของคนในท้องถิ่น ส่วนฝ่ายการเมืองมาจากการเลือกตั้ง มีนักกฎหมายที่ผ่านการสอบเพื่อตรวจสอบการทำงาน โดยมาจากหลากหลายศาสนา
- อยากให้รัฐสนับสนุนงบประมาณอย่างยุติธรรม อยากเห็นผู้บริหารที่ส่วนกลางส่งมาเป็นผู้ปกครองในพื้นที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่ เช่น เรื่องการศึกษา ภาษา กล่าวคือมีความเข้าใจภาษามลายูถิ่น
- มีการจัดเก็บรายได้จากพื้นที่เพื่อพัฒนาพื้นที่
- ต้องการให้คนพื้นที่เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะทราบปัญหาในพื้นที่ดีกว่า อยากได้รูปแบบการปกครองตนเอง อาจไม่ต้องเหมือนกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือเมืองพัทยา
แนะทำโรดแมพการปกครอง-เพิ่มมุสลิมนั่งตำแหน่งสำคัญ
- กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนคนรุ่นใหม่ต้องการให้จัดรูปแบบการปกครองใหม่โดยเลือกตั้งผู้นำสูงสุดของพื้นที่ แต่ไม่อยากให้หักดั้มพร้าด้วยเข่า ควรมี "โรดแมพ" (แผนที่เดินทาง) เพื่อพัฒนาไปสู่จุดนั้นอย่างเป็นขั้นเป็นต้น ขณะเดียวกันก็เพิ่มบุคลากรมุสลิมในตำแหน่งงานระดับต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ เช่น รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รอง ผอ.ศอ.บต.) รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นต้น
- กลุ่มนักการศึกษามุสลิมเห็นว่า ข้อคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่ว่าจะมีการซื้อเสียงนั้น ตำแหน่งผู้ว่าฯในระบบปัจจุบัน (แต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย) ก็ใช้เงินซื้ออยู่แล้วตามที่มีข่าวออกมา ฉะนั้นเอาเงินมาซื้อประชาชนน่าจะยากกว่าใช้เงินซื้อตำแหน่งจากปลัดหรืออธิบดี
- ที่ผ่านมารัฐเข้าใจผิดเรื่อง อบต. และ อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ที่บอกว่าเป็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นแล้ว เพราะในความเป็นจริงไม่มีอำนาจเต็ม ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัด
ไทยพุทธกังวลมีผู้ว่าฯมุสลิม-ไม่เอาเขตปกครองพิเศษ
- กลุ่มชาวบ้านไทยพุทธมองว่ารูปแบบการปกครองในปัจจุบันดีอยู่แล้ว ปัญหาเกิดจากผู้ปกครองทำตัวเป็นผู้มีอิทธิพล ถือเป็นปัญหาที่ตัวบุคคล ส่วนระบบนั้นยังดีอยู่ และไม่เห็นด้วยกับตั้งเขตปกครองพิเศษ เพราะขัดรัฐธรรมนูญ และอย่าโทษปัญหาทั้งหมดว่าเกิดจากทหาร
กลุ่มชาวบ้านไทยพุทธยังแสดงความวิตกว่าหากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นมุสลิม ชาวพุทธในพื้นที่จะลำบาก อีกทั้งไม่อยากให้ตั้งเขตปกครองพิเศษเพราะกลัว อยากให้ทุกฝ่ายแยกศาสนาออกจากการปกครอง ถ้าไม่แยกต่อไปโจรก่อการร้ายอาจเป็นชาวบ้านไทยพุทธแทน
- กลุ่มปัญญาชนไทยพุทธเห็นด้วยกับการปกครองตนเอง แต่ความพร้อมยังต่ำ อย่างน้อยควรเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่วิธีการและรูปแบบต้องเหมาะสมกับพื้นที่ ไม่ต้องเหมือน กทม.ก็ได้ ทั้งนี้และทั้งนั้นไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง เพราะจะสร้างความขัดแย้งตามมา และมีการใช้เงิน อยากให้มีการเลือกตั้งโดยอ้อม โดยใช้สภาซูรอ หรือเลือกผู้แทนก่อนเลือกคนเข้าดำรงตำแหน่งเหมือนสหรัฐอเมริกา
สมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่นค้านเลือกตั้งผู้ว่าฯ
- สมาชิก อบต.ทั้งพุทธและมุสลิมไม่เห็นด้วยด้วยกับเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
- ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยากให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมีบทบาทเหมือนเดิม ให้ใช้โครงสร้างเดิมในการบริหารจัดการ แต่ให้เปลี่ยนแปลงระบบความคิดของรัฐกับประชาชนให้สอดคล้องกัน ขณะที่นโยบายรัฐต้องปรับแก้ เพื่อเปิดให้ อบต.ทำงานสอดคล้องกับพื้นที่และหลักศาสนามากยิ่งขึ้น เช่น เรื่องดอกเบี้ยเงินกู้ (ซึ่งไม่มีในอิสลาม)
ส่วนการคัดสรรคนลงสมัครรับเลือกตั้งให้ใช้สภาซูรอ ซึ่งมีกรรมการมาจากทุกภาคส่วนทำหน้าที่กลั่นกรองคุณสมบัติ ได้แก่ ความรู้ ประสบการณ์ ภาวะผู้นำ ภูมิรู้ ภูมิฐาน ภูมิธรรม เป็นนักปราชญ์ เป็นที่ยอมรับในพื้นที่ วิธีการเลือกตั้งให้แบ่งเป็นเขตใหญ่ และเลือกเป็นทีม เพราะเขตเล็กซื้อเสียงง่าย ควรยุบระบบการแต่งตั้งทั้งหมด
- การมีส่วนร่วมของประชาชนที่แท้จริงคือสร้างระบบการตรวจสอบอำนาจรัฐทุกระดับ ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่นต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเพื่อความโปร่งใส ขณะเดียวกันต้องพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพ
- การปกครองทุกระดับให้เอาศาสนาเป็นตัวตั้ง อยากเห็นความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงสอดคล้องกับหลักศาสนา อัตลักษณ์ และมีงบประมาณในการบริหารอย่างเพียงพอ
ชาวบ้านรู้ตัว "คนโกง" แต่ไร้ระบบจัดการ-แนะลดงบทหาร
- มุมมองต่อทหาร ตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ ประชาชนอยากได้คนในพื้นที่มาทำงานเพื่อจะได้เข้าใจหลักปฎิบัติทางศาสนาและวัฒนธรรม ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหา เช่น เวลาแต่งตัวสวยๆ ไปร่วมพิธีในวันสำคัญทางศาสนา กลับถูกล้อว่าจะไปงานลอยกระทง ทำให้รู้สึกไม่ชอบใจ
- การปกครองรูปแบบที่อยากได้คืออยากเห็นพื้นที่เต็มไปด้วยความดี อยากให้คนที่เป็นผู้ปกครองทำงานอย่างมีคุณธรรม ยึดตามหลักเกณฑ์ ไม่เอาผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง และไม่เห็นแก่พวกพ้อง
- อยากให้ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นให้ความสำคัญกับปัญหาเด็กและเยาวชนที่ติดยาเสพติดมากๆ เพราะกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่
- ระบบการตรวจสอบลงโทษผู้นำและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กระทำความผิดยังมีปัญหา การที่ประชาชนจะเดินเข้าไปตรวจสอบหรือทำให้ผู้นำท้องถิ่นเข้าสู่กระบวนการสอบสวนมีข้อจำกัดมาก จะไปแจ้งความ อีก 2 อาทิตย์อาจหายตัวไปจากโลกนี้ จึงอยากให้รัฐเพิ่มความเข้มงวด ขยายผลเรื่องที่ไปแจ้งความ และพยายามตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น
- จริงๆ แล้วคนในหมู่บ้านรู้ดีว่าใครทุจริต การรับข้อมูลข่าวสารมีมากขึ้น ดีกว่าสมัยก่อนที่ไม่รู้อะไรเลย การรับรู้ข้อมูลข่าวสารบางครั้งก็เป็นความเจ็บปวด เพราะทำอะไรไม่ได้
- เรื่องกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน ขอให้รัฐช่วยเรื่องเทคโนโลยี แต่ผิดหวังเรื่องพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารทางราชการ เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของรัฐได้จริง
- อยากให้สภาวัฒนธรรม (ซึ่งปัจจุบันก็มีอยู่แล้ว) มีบทบาทมากขึ้นในการแก้ปัญหาในพื้นที่ ให้คน 2 ศาสนาแก้ปัญหาร่วมกันได้โดยใช้งบจาก ศอ.บต.
- ลดงบประมาณของทหารลง เพราะประชาชนไม่ค่อยมีส่วนร่วม และไม่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
- งบจากหน่วยงานใดก็ตามที่จะลงมาในพื้นที่ให้ผ่าน อบต.
หนุนใช้มลายูคู่ภาษาไทย-รองรับอาเซียนรวมเป็นหนึ่ง
ในประเด็นที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์อิสลามและการใช้ภาษามลายู พบข้อมูล ปัญหา และความคาดหวังของประชาชนในพื้นที่ กล่าวคือ
- คนในพื้นที่ส่วนใหญ่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ หรือหากไม่สามารถสื่อสารได้ หน่วยงานรัฐก็จะมีล่ามไว้บริการ ที่ผ่านมาก็พอใจเรื่องการแสดงออกด้านอัตลักษณ์ เช่น การสวมฮิญาบ เป็นต้น
- อยากให้ประชาชนที่เป็นมุสลิมแต่งกายตรงตามหลักศาสนาและอัตลักษณ์อิสลาม รวมถึงสถาปัตยกรรมต่างๆ เช่น อาคารบ้านช่อง ก็ควรให้สะท้อนอัตลักษณ์อิสลาม
- อยากให้ระบบราชการใช้ 2 ภาษาในการให้บริการ คือ ภาษาไทยกับภาษามลายู รวมถึงป้ายต่างๆ ของทางราชการด้วย เช่น ป้ายบอกทางบนท้องถนน เป็นต้น
- รัฐควรสนับสนุนให้มีการใช้ภาษามลายูในสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมประชาชาติอาเซียน ในปี ค.ศ.2015
- หลายเสียงเสนอว่าถ้าคนไทยพุทธในพื้นที่ได้เรียนภาษามลายูถิ่นหรือมลายูกลางด้วย น่าจะดีกับอนาคต เพราะอาเซียนกำลังจะรวมเป็นหนึ่งเดียว และหลายประเทศในอาเซียนก็พูดภาษามลายู ซึ่งจะสามารถปรับให้เข้าใจกันได้ และเปิดกว้างสำหรับตลาดแรงงานมากขึ้น
- กลุ่มปัญญาชนมุสลิมและพุทธเห็นพ้องกันให้ส่งเสริมการศึกษาภาษามลายูกลาง จะได้เชื่อมต่อกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งใช้ภาษามลายูกลางได้ โดยให้เรียนอักษรรูมีควบคู่กันไป
- คนไทยทั่วไปอาจยังไม่ทราบว่าใน 11 ชาติอาเซียน ใช้ภาษามลายูถึง 4-5 ประเทศ คนใช้ภาษาไทยมีแค่ 1-2 ประเทศ ฉะนั้นป้ายตามสถานที่ราชการควรใช้ 2 ภาษาควบคู่กันไป
- รัฐต้องให้อิสระในการใช้ภาษามลายู ไม่เฉพาะบนป้ายบอกทางหรือป้ายต่างๆ ของหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการใช้ภาษามลายูควบคู่กับภาษาไทยในโรงเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การศึกษาแบบ "ทวิภาษา"
- อยากให้รัฐเข้าใจอัตลักษณ์อิสลามมากขึ้น สถานีโทรทัศน์และวิทยุควรมีภาคภาษามลายู ให้มีการเตือนละหมาด 5 เวลาผ่านสถานีโทรทัศน์ รวมถึงการแจ้งข่าวสารของศาสนาพุทธด้วย เพื่อเป็นการเรียนรู้ทางศาสนาร่วมกัน
- เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ประจำตามสถานที่ราชการทุกแห่งควรมี 2 คน เป็นแบบถาวรและแบบประจำ คุณสมบัติของบุคคลที่ทำหน้าที่นี้ควรพูดได้ 2 ภาษา (ไทยและมลายู) และเอกสารทางราชการควรมี 2 ภาษา พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีอักษรยาวี
เพิ่มเอกสารการสอนยาวี-ป้ายบอกทางมลายู-เปลี่ยนวันหยุดราชการ
- ให้มีการสอนภาษามลายู ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย เป็นภาษาบังคับตั้งแต่ระดับประถมและมัธยมศึกษา
- เอกสารการเรียนการสอนให้มีภาษายาวีกำกับ
- ป้ายบอกทางควรมี 3 ภาษา คือ ภาษามลายู ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย
- ในทุกส่วนราชการ ให้กำหนดวันใดวันหนึ่งในแต่ละสัปดาห์เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้แต่งกายตามวัฒนธรรมของตน
- ให้เปลี่ยนวันหยุดราชการในพื้นที่จากวันเสาร์-อาทิตย์ เป็นวันศุกร์กับวันเสาร์ (ประเด็นนี้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวไทยพุทธไม่คัดค้าน)
- การแต่งกายของทหาร ตำรวจที่เป็นผู้หญิงมุสลิม ให้สามารถสวมฮิญาบได้
- ให้จัดเวลาละหมาดแก่ข้าราชการให้เพียงพอกับการปฏิบัติจริงตามหลักศาสนา เช่น ครั้งละ 10 นาที วันละ 5 เวลา ยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นทหารกำลังฝึกอยู่ เหงื่อโทรมกาย ผู้บังคับบัญชาให้เวลา 5 นาทีไปละหมาด ไม่สามารถทำได้ เพราะตามหลักศาสนาต้องเอาน้ำละหมาดด้วย
- กลุ่มเยาวชนในพื้นที่เห็นว่าการสื่อสารด้วยภาษามลายูและภาษาไทยควบคู่กันในฐานะคนรุ่นใหม่ไม่มีปัญหา แต่เห็นใจผู้สูงอายุในพื้นที่ที่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้ จึงอยากให้มีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ในทุกหน่วยราชการคอยตอบคำถามและช่วยสื่อสารให้กับคนที่ไม่เข้าใจภาษาไทย โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐทั่วไปไม่จำเป็นต้องพูดสองภาษาได้
- เรื่องหลักสูตรการศึกษาในโรงเรียน อยากให้รัฐให้น้ำหนักเท่ากันทั้งสายสามัญและศาสนา โดยกำหนดให้เป็นวิชาบังคับ
- การสวมหมวกกะปิเยาะห์หรือคลุมฮิญาบบ่งบอกถึงความเป็นคนมุสลิม การห้ามนอกจากผิดหลักศาสนาแล้ว ยังถือว่าเป็นการเหยียดหยามกัน อย่างอื่นอนุโลมได้ แต่เรื่องศาสนาอนุโลมไม่ได้ หลักศาสนามีมาเป็นพันปี ไม่เคยเปลี่ยนแปลง การจะอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติมีเคล็ดลับสำคัญคือต้องเข้าใจระบบและรู้ให้ถึงแก่น ไม่ใช่รู้เพียงผิวเผิน
- พบปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นมุสลิมไม่ยอมพูดภาษามลายูกับชาวบ้าน ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่นับถือศาสนาพุทธพูดมลายูไม่ได้อยู่แล้ว
ชี้ชัดกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นกลาง
ในประเด็นระบบกฎหมายอิสลามและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม พบข้อมูล สภาพปัญหา และความคาดหวังของประชาชนดังนี้
- กระบวนการยุติธรรมต้องไม่เลือกปฏิบัติ ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายมองว่าขณะนี้กระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นกลาง ยกตัวอย่างคดีตากใบ (เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ทำให้มีผู้เสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมและการขนย้ายผู้ถูกจับกุมจำนวน 85 คน) กับคดีอิหม่ามยะผา (นายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ ตำบลรือเสาะออก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เสียชีวิตเพราะถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2551) ซึ่งศาลตัดสินยกฟ้อง (จริงๆ ทั้งสองคดีนี้ศาลยังไม่ยกฟ้อง สำหรับคดีตากใบ เป็นคำสั่งไต่สวนการตาย และต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้อง ส่วนคดีอิหม่ามยะผา คำสั่งไต่สวนการตายระบุว่าทหารทำให้ตาย และกำลังอยู่ในกระบวนการที่ญาติผู้เสียหายยื่นฟ้องเอง [หมายเหตุ เป็นข้อมูลเพิ่มเติมจากคณะผู้ศึกษา])
- อยากให้มีการใช้ระบบกฎหมายอิสลามที่มีระบบการจัดเก็บซะกาต (เงินบริจาคตามหลักอิสลาม) และสามารถนำซะกาตไปลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มี อยากให้ตั้งสำนักงานจัดเก็บซะกาตโดยเฉพาะเหมือนของมาเลเซีย สามารถนำไปหักภาษีได้ ทุกวันนี้จ่ายซะกาตแล้วยังต้องเสียภาษี
หวังศาลชารีอะฮ์เกิดได้จริงในพื้นที่
- อยากให้มีศาลชารีอะฮ์ เพื่อรองรับระบบกฎหมายอิสลามได้อย่างเต็มที่
- การใช้กฎหมายอิสลาม ไม่เรียกร้องให้มีศาลชารีอะฮ์เต็มรูปแบบ แต่ให้ใช้เฉพาะที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่ใช้กับคนต่างศาสนา ถ้าเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ให้แยกตัดสินตามศาสนาของแต่ละฝ่าย เช่น ถ้าชายมีเพศสัมพันธ์กับหญิง ชายเป็นพุทธ หญิงเป็นมุสลิม ให้เฆี่ยนผู้หญิงมุสลิมก่อน แล้วค่อยแต่งงาน เป็นต้นอย่างไรก็ดี มีความเห็นต่างว่าเรื่องผิดประเวณี ระบบอิสลามอาจใช้ไม่ได้ เพราะใช้การเฆี่ยนการตี อาจขัดกับรัฐธรรมนูญไทย จึงควรเลือกใช้เฉพาะที่ไม่ขัด
- กลุ่มปัญญาชนมุสลิมเสนอว่าให้มีศาลชารีอะฮ์ตัดสินข้อพิพาททางแพ่ง ที่ดิน และมรดก เพราะระบบดาโต๊ะยุติธรรมที่มีอยู่ไม่มีอำนาจเด็ดขาดถึงที่สุด คำวินิจฉัยไม่ถึงที่สุด ขณะเดียวกันก็ให้มีระบบไกล่เกลี่ยในชุมชนโดยอิหม่าม และคดีพิพาทกับคนต่างศาสนาให้ขึ้นศาลปกติ
- การจับกุมผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย ให้หารือผู้นำท้องถิ่นก่อน การจับกุมที่ผ่านมาไม่มีเหตุผลเพียงพอ จับง่ายเกินไป ถ้าแจ้งผู้นำก่อน ผู้นำจะบอกได้ว่าข้อกล่าวหาต่อบุคคลที่เป็นเป้าหมายหรือผู้ต้องสงสัยเป็นไปได้หรือไม่ จริงหรือไม่จริง ที่ผ่านมามีความพยายามตกลงกันให้การจับกุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย ต้องหารือกับผู้นำท้องถิ่นก่อน ซึ่งผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบางคนก็ยอมรับ ถ้าคุยแล้วเป็นไปไม่ได้ ก็ไม่มีการจับ
- การจับกุม ให้ขอความเห็นชอบทั้ง 3 ฝ่าย คือ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และแจ้งผู้นำชุมชนก่อน
- เวลาประชาชนถูกดำเนินคดีต้องประสบกับความลำบากอย่างมาก ไม่สามารถหาทนายได้ ขอให้มีบัณฑิตอาสาเป็นผู้รับเรื่องร้องเรียนของประชาชนในหมู่บ้าน
จี้เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ- ตั้งทนายหมู่บ้านช่วยคนถูกจับ
- ให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
- ทหารที่ลงมาในพื้นที่ควรเป็นทหารพัฒนา ไม่ใช่ทหารที่ถนัดด้านการรบหรือหน่วยรบ
- ให้ใช้กฎหมายอาญาตามปกติในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ไม่ให้จับกุมโดยกฎหมายพิเศษ
- มีข้อเสนอให้ตั้ง "ทนายหมู่บ้าน" ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาทางกฎหมายกับประชาชน เป็นทนายให้กับประชาชนเวลามีปัญหากับรัฐ และทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชน โดยได้รับเงินเดือนจาก อบต.
- ให้มีกองทุนสำหรับการยื่นประกันตัว เพราะคดีความมั่นคงใช้หลักทรัพย์เยอะมากในการขอปล่อยชั่วคราว ชาวบ้านไม่มีเงิน
- ไม่ให้มีการประกันตัวในคดีค้ายาเสพติด
- บุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ขอให้เป็นคนจากนอกพื้นที่ ไม่เห็นด้วยที่จะมีตำรวจเป็นคนในพื้นที่ ไม่อย่างนั้นจะเห็นแก่ญาติพี่น้อง ตำรวจต้องมีความรู้ ผ่านการสอบคัดเลือก
- ผู้ว่าราชการจังหวัดควรมีสิทธิในการเลือกผู้บังคับบัญชาของตำรวจที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่ การโยกย้าย ถอดถอน ควรเป็นอำนาจของราชการส่วนภูมิภาค ไม่ใช่ส่วนกลาง
- อัยการกับศาลควรจบการศึกษาด้านกฎหมายอิสลามและเป็นมุสลิม
หนุนตั้ง "ศูนย์ยุติธรรมชุมชน"
- ควรมีศูนย์ยุติธรรมในชุมชน โดยศูนย์ยุติธรรมในชุมชนจะต้องมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐและประชาชน
- ศูนย์ยุติธรรมชุมชนเสมือนเป็นพื้นที่สันติภาพ เวลาประชาชนในท้องถิ่นถูกกล่าวหาในคดีความมั่นคง น่าจะผ่านศูนย์ยุติธรรมในชุมชนก่อน
- อยากให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีครอบครัวและมรดก ให้รัฐสนับสนุนส่งเสริมค่าป่วยการและค่าตอบแทนการไกล่เกลี่ย
- อยากให้ทหารออกนอกหมู่บ้าน เพราะทหารอยู่จะเกิดปัญหา เกิดความหวาดระแวง เวลาเกิดเหตุร้ายเจ้าหน้าที่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ เวลามีเหตุการณ์รุนแรง ชาวบ้านโทรศัพท์ไปแจ้งก็ไม่ทำอะไร การคุ้มครองครูยิ่งทำให้ครูไม่ปลอดภัย
- ทหารมาจากภาคอีสาน มาอยู่ในพื้นที่ไม่รู้จักใคร เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาใกล้ชิดกับทหารก็จะเข้าใจว่าเป็นพวก และคนเหล่านั้นก็จะให้ข้อมูลยัดเยียดความผิดให้กับอีกฝ่าย ทำให้เกิดความขัดแย้งมาตลอด
เพิ่มประสิทธิภาพครู-จัดการศึกษา 2 ระบบ
ประเด็นสุดท้ายคือการจัดศึกษาและสาธารณสุข พบข้อมูล สภาพปัญหา และความคาดหวังของประชาชนดังนี้
- รัฐต้องจัดการศึกษา 2 ระบบ คือศาสนาควบคู่กับหลักสูตรสายสามัญ
- การจัดระบบการศึกษาสายสามัญควบคู่ศาสนา ให้แบ่งสัดส่วน 50-50 ถึงเวลาเรียนศาสนา นักเรียนพุทธก็แยกไปเรียนศาสนาพุทธ นักเรียนมุสลิมก็แยกไปเรียนศาสนาอิสลาม
- กลุ่มผู้นำศาสนาอยากให้รัฐเร่งจัดการเรียนการสอนสายสามัญกับศาสนาควบคู่กัน อยากให้มีรองผู้อำนวยการโรงเรียนฝ่ายอิสลามศึกษา ดูแลหลักสูตรทางศาสนาในโรงเรียนเป็นการเฉพาะ
- ให้มีการนำหลักศาสนามาใช้ในการบริหารจัดการโรงเรียน และกฎของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร ครูอาจารย์ อาคารสถานที่ ต้องสอดคล้องกับหลักการทางศาสนาอิสลาม
- ให้รัฐสนับสนุนเปิดการสอนศาสนาในชั้นอนุบาลด้วย เริ่มจากเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป
- ให้สอนศาสนาและสายสามัญอย่างเข้มข้น ให้มุสลิมได้เรียนอย่างเข้มข้นทั้งสองอย่าง
- ให้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนแบบมาเลเซีย เช้าเรียนศาสนา บ่ายเรียนวิชาสามัญ ไม่ควรอัดแน่นทั้งสองสาขามากเกินไปจนเด็กรับไม่ไหว
- ครูสอนศาสนาต้องจบปริญญาตรีด้านศาสนา ส่วนครูสายสามัญต้องจบตรงตามสาขาที่สอน
- หลักสูตรการเรียนศาสนากับสายสามัญต้องสอดคล้องกัน เรียนจบพร้อมๆ กัน
- รัฐควรส่งเสริมให้มีตาดีกา (สถานศึกษาด้านศาสนาสำหรับเด็กปฐมวัย)
- กลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนมุสลิมหลายคนบอกว่าใจจริงอยากส่งบุตรหลานเรียนโรงเรียนรัฐบาลมากกว่าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม แต่โรงเรียนรัฐบาลต้องตอบโจทย์ทั้งวิชาชีพและศาสนาได้ทั้งสองอย่างก่อน
- กลุ่มปัญญาชนทั้งพุทธและมุสลิมเสนอให้จัดหลักสูตรตามความต้องการของผู้เรียน แต่เรียนผสมผสานระหว่างสายสามัญกับสายศาสนา
- ให้ขึ้นเงินเดือนครู และครูควรจบปริญญาตรี เงินเดือนขั้นต่ำ 12,000 บาท
- การพัฒนาของรัฐขณะนี้ขัดแย้งกับความต้องการของประชาชน คือเน้นพัฒนาแต่วัตถุ ไม่เน้นพัฒนาคน น่าจะกลับกัน คือเน้นพัฒนาคน แล้วให้เงินเดือนครูสูงๆ จะได้จูงใจให้คนเรียนเก่งๆ มาเป็นครู เช่น ให้ครูมีเงินเดือนเท่ากับแพทย์ เป็นต้น
- เรียกร้องให้คนที่มารับผิดชอบด้านการศึกษามีใจรักที่จะถ่ายทอดความรู้ ทำให้เด็กเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งวิชาชีพและวิชาชีวิต
- รัฐต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการศึกษา น่าจะมีครูเฉพาะวิชา และให้ครูรู้จริงในวิชานั้นๆ ไม่ใช่เอาครูพละมาสอนเลข หรือสอนภาษาอังกฤษ
- ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบวุฒิการศึกษาของครูว่าเหมาะสมจะรับผิดชอบการสอนวิชานั้นๆ หรือไม่
จัดระบบโควต้า "เรียน-งาน" ช่วยเยาวชนในพื้นที่
- ปัจจุบันนักเรียนในพื้นที่สอบแข่งขันกับเด็กในเมืองไม่ได้ ควรวางระบบว่าหลังจบปริญญาตรี การเปิดสอบแข่งขันบรรจุเข้าทำงานหน่วยราชการน่าจะเปิดเฉพาะคนสามจังหวัด ทุกวันนี้คนในส่วนกลางสอบบรรจุลงมาแย่งตำแหน่งในพื้นที่ จากนั้นก็ย้ายออกไปจากพื้นที่
- รัฐควรมียุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการศึกษาอย่างครบทุกด้าน โรงเรียนทุกแห่งต้องมีปัจจัยขั้นพื้นฐานครบ ทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอน และเงินเดือนครูก็ต้องเพิ่ม
- ควรเปิดโอกาสให้เด็กกำพร้าเลือกโรงเรียนได้ตามความต้องการ รัฐต้องสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับเด็กกำพร้าเป็นพิเศษ
- มีข้อเสนอให้ผู้บริหารของโรงเรียนเป็นคนในท้องถิ่น แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นมุสลิมหรือไม่
- ให้โรงเรียนอยู่ภายใต้การดูแลของ อบต. ใช้งบ อบต. และให้ส่วนกลางเข้ามาตรวจสอบรับรองคุณภาพ โรงเรียนควรน่าดู น่าอยู่ น่าเรียน ครูและผู้ปกครองควรสมานฉันท์กัน
- มีความเห็นของครูพุทธ บอกว่าโรงเรียนรัฐบาลไม่ควรสอนศาสนาแข่งขันกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เพราะจะทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน
- ให้มีการตั้งบอร์ด (คณะกรรมการบริหาร) เพื่อบริหารสถานศึกษาร่วมกัน เดิมมีบอร์ดอยู่แล้ว ประกอบด้วย ครูอาจารย์ ผู้นำศาสนา ผู้ปกครอง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่บอร์ดดังกล่าวเหมือนเป็นบอร์ดโดยตำแหน่ง ขอให้มีการเลือกตั้ง ไม่ต้องยึดติดตำแหน่ง จะเป็นใครก็ได้ในชุมชน
- อยากให้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านการศึกษาให้ อบต.ทั้งหมด ที่ผ่านมาโอนแค่บางเรื่อง แต่งบประมาณยังไม่โอนมา สำหรับครูให้สอบบรรจุจากส่วนกลาง แต่ให้มีสัดส่วนของคนในพื้นที่ 50%
"ระบบสาธารณสุข-หมอ-ยา"ควรสอดคล้องหลักศาสนา
- กลุ่มผู้นำศาสนาเสนอว่า แพทย์ในพื้นที่ต้องเป็นมุสลิม โดยเฉพาะหมอทำคลอด (สูตินรีแพทย์) ต้องเป็นมุสลิม เพราะตามหลักศาสนาต้องเอ่ยนามพระเจ้าเวลาเด็กคลอด ยาที่ใช้ก็ต้องฮาลาล ต้องมีสำนักงานตรวจสอบยาให้รู้ว่าฮาลาลหรือเปล่า โรงพยาบาลต้องมีบรรยากาศและการให้บริการตามหลักศาสนาอิสลาม บุคลากรแพทย์ พยาบาล ต้องถือตามระบบอิสลาม
ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลที่ดีในความรู้สึกของคนในพื้นที่ เพราะมีความเอาใจใส่ เชี่ยวชาญการรักษาโรค ไม่ใช่สั่งแต่ยาแก้ปวดและยาแก้อักเสบ ก็คือโรงพยาบาลรามัน อ.รามัน จ.ยะลา ซึ่งมีระบบการบริการที่คำนึงถึงหลักศาสนา อำนวยความสะดวกให้มุสลิม มีห้องละหมาดที่สะอาด หมอทำคลอดเป็นผู้หญิง
- กลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุขทั้งพุทธและมุสลิมเห็นตรงกันว่า การจัดบริการทางการแพทย์โดยยึดหลักการอิสลามจะแก้ปัญหาในพื้นที่ได้มาก
- กลุ่มสตรีอยากให้มีโรงพยาบาลระดับอำเภอที่มีแพทย์เฉพาะทาง มีบุคลากรเวรที่รู้ภาษาถิ่น หมอจะรู้ภาษามลายูหรือไม่ ไม่จำเป็น แต่จะต้องมีล่าม คนที่อยู่เวรต้องมีคนที่รู้ภาษามลายูอย่างน้อย 1 คน ส่วนหมอทำคลอดไม่จำเป็นต้องเป็นหญิง แต่ขอให้มีความรู้จริง เป็นผู้เชี่ยวชาญ เพราะความปลอดภัยสำคัญกว่า
- กลุ่มประชาชนมุสลิมบอกว่า ก่อนการเกิดและตาย ขออนุญาตให้ญาติเข้าไปเอ่ยนามพระเจ้าเป็นครั้งสุดท้ายได้ (ตามหลักศาสนา) ในโรงพยาบาล
- กลุ่มเยาวชนเรียกร้องให้โรงพยาบาลให้บริการแบบอิสลาม ไม่ใช่ให้นอนพักฟื้นในห้องที่มีภาพพระพุทธรูป
พร้อมอยู่ร่วมกันทุกศาสนิก-จัดโซนนิ่งสถานบริการ
ในช่วงท้ายของเวทีรับฟังความคิดเห็น ทางคณะนักศึกษากลุ่มศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้สรุปประเด็นที่ได้จากการรับฟังทั้งหมด พร้อมนำเสนอแนวคิด "สันติธานี" เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบและความขัดแย้งในพื้นที่ ปรากฏว่าประชาชนกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มแสดงท่าทีสนับสนุน และมีข้อเสนอเพิ่มเติมดังนี้
- ในสันติธานีไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม 100% แต่ให้มีศาสนิกอื่นอยู่ร่วมกัน
- ให้มีการนำระบบ "โซนนิ่ง" มาใช้ เพื่อกำหนดพื้นที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และตั้งสถานบริการ ซึ่งขัดกับหลักศาสนา
- อยากให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ แล้วใช้แนวทาง "สันติธานี" แก้ไขปัญหาแทน
- การจัดระบบตรวจสอบการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลของรัฐบาล โดยเพิ่มบทบาทขององค์กรปกครองท้องถิ่นและภาคประชาชนให้มากขึ้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ป้ายขบวนพาเหรดงานกิจกรรมในพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่าทุกฝ่ายต้องการเห็นความสงบ สันติสุข และสามัคคีในจังหวัดชายแดนภาคใต้บนความต่างของศาสนาและวัฒนธรรม (ภาพจากแฟ้มภาพ)