สันติธานี...อีกหนึ่งทฤษฎีดับไฟใต้ ค้นหา "หัวใจ" สู่สันติสุข
ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รอบใหม่) ที่ปรากฏผ่านสถานการณ์รุนแรงรายวันอย่างยืดเยื้อยาวนานกว่า 7 ปี ผ่านมาแล้ว 6 รัฐบาล 5 นายกรัฐมนตรีนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ายุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ยังมิอาจ "ปลดชนวน" ความขัดแย้งเพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนในพื้นที่ได้
เหตุผลสำคัญก็คือ "ต้นตอ" หรือ "รากเหง้า" ที่แท้จริงของปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขนั่นเอง
ล่าสุด กลุ่มนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ 2 (4 ส.2) สถาบันพระปกเกล้า ได้เสนอแนวคิด "สันติธานี" เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการดับไฟความรุนแรงที่ปลายด้ามขวาน โดยแนวคิดนี้จะเป็นการขจัดเงื่อนไขที่นำมาสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงในปัจจุบันทั้งหมดอย่างถึงราก เพื่อสร้างสันติสุขและการอยู่ร่วมกันของผู้คนหลากหลายวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน
หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข (หรือที่รู้จักกันในนาม 4 ส.) นี้ เป็นหลักสูตรการเรียนกึ่งฝึกอบรมที่สำคัญของสถาบันพระปกเกล้าซึ่งได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่างๆ ในสังคมมาศึกษาร่วมกัน ทั้งในเชิงทฤษฎีและการลงพื้นที่จริง เพื่อให้ได้ทราบถึงสภาพปัญหาและสาเหตุของความขัดแย้งในสังคมไทยในมิติต่างๆ พร้อมร่วมกันคิดร่วมกันทำเพื่อหาทางปลดชนวนหรือป้องกันความขัดแย้งนั้นไม่ให้ลุกลาม
หัวข้อหนึ่งที่หลักสูตร 4 ส. ให้ความสำคัญอย่างมากคือความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในรุ่นที่ 1 (4 ส.1) ได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาเอาไว้เช่นกัน โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ "การเมืองนำการทหาร" พร้อมตั้งโจทย์เอาไว้ว่าทำอย่างไรจึงจะให้ประชาชนรวมถึงผู้ที่เห็นต่างจากรัฐได้มีส่วนร่วมทางการเมืองในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนกิจกรรมหรือนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นได้อย่างแท้จริงโดยผ่านโครงสร้างการจัดการบริหารการปกครองและนโยบายที่เป็นธรรม สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่ รวมทั้งให้ชุมชนในพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วยความรู้สึกเท่าเทียมและด้วยความคิดที่เป็นอิสระ
จากโจทย์ดังกล่าว และจากการศึกษาปัญหาอย่างต่อเนื่องพร้อมลงพื้นที่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกลุ่มต่างๆ โดยคณะนักศึกษา 4 ส.2 กลุ่มศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าต้นเหตุของปัญหาความไม่สงบในดินแดนปลายสุดด้ามขวานที่แท้จริงซึ่งถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกของความรุนแรงรายวันก็คือ
1.ประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ วัฒนธรรม และศาสนาที่แตกต่าง
2.ความพยายามของรัฐไทยในทุกยุคทุกสมัยที่ต้องการสลายความหลากหลายให้กลายเป็นหนึ่ง
3.อำนาจการปกครองที่ส่วนใหญ่รวมศูนย์อยู่ในส่วนกลาง และบางส่วนกระจายสู่ภูมิภาคหรือท้องถิ่น ยังไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ ซ้ำยังขัดขวางการดำเนินชีวิตตามหลักการของศาสนาอิสลาม
4.อำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีอิสระและประสิทธิภาพเพียงพอ
5.ประชาชนในท้องถิ่นขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมคิด นำเสนอ และตัดสินใจเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นของตน
สภาพปัญหาที่ค้นพบ นำมาสู่ผลกระทบที่กว้างขวางและลึกซึ้ง ดังนี้
1.ผลกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนคนไทยทั่วประเทศและในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
2.เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศโดยรวม
3.นานาชาติขาดความเชื่อมั่น และมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแทรกแซงกิจการภายในจากองค์กรนอกประเทศ
4.ทำให้เกิดปัญหาด้านความมั่นคงและบูรณภาพแห่งดินแดน
ทั้งหมดนี้ กลุ่มศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงได้เสนอแนวคิด "สันติธานี" เพื่อแก้ไขปัญหาและสถาปนาความสงบสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนสถาพร ด้วยการนำ "ระบบอิสลาม" หรือ "หลักการของศาสนาอิสลาม" ไปปรับร่วมใช้ในการบริหารจัดการการปกครองท้องถิ่นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งหลักการเคารพในสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการปกครองท้องถิ่นของชาวไทยพุทธและคนต่างศาสนา ต่างวัฒนธรรมอื่นๆ ให้สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
ที่ผ่านมา นักศึกษา 4 ส.2 ได้ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อเก็บข้อมูลและเปิดเวทีขึ้นที่เทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ช่วงปลายปีที่แล้ว เพื่อรับฟังปัญหา ผลกระทบ และความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความไม่สงบที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ใช้วิธีการสนทนากลุ่มกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในท้องถิ่นทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ และทุกศาสนา เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงคุณภาพเกี่ยวกับการบริหารจัดการสังคมของตนเองให้มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ โดยประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายนั้นจะเน้นเฉพาะประชาชนที่ไม่เคยเป็นกลุ่มตัวอย่างในงานการศึกษา งานวิจัย หรือการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นขององค์กรหรือหน่วยงานอื่นใดมาก่อน
กรอบคำถามที่คณะนักศึกษากลุ่มศึกษาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้ในการสนทนากับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสาขาอาชีพ มี 9 ประเด็น เพื่อให้ครอบคลุมการบริหารจัดการพื้นที่ในทุกมิติ กล่าวคือ 1.การปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ในท้องถิ่น 2.กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน 3.ระบบกลั่นกรองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง 4.การใช้ภาษามลายู 5.อัตลักษณ์อิสลามมลายู 6.ระบบกฏหมายอิสลาม 7.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม 8.ระบบการศึกษาแบบผสมผสาน และ 9.ระบบสาธารณสุข
จากกรอบคำถามซึ่งเป็นหลักการของ "แนวคิดสันติธานี" ทั้ง 9 ประเด็น สรุปความต้องการและความคาดหวังของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้ดังนี้
1.การปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ในท้องถิ่น
อยากได้ผู้ปกครองสูงสุดเป็นคนในพื้นที่ เพื่อให้เข้าใจสภาพสังคม วัฒนธรรม อาจมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่ก็ได้
2.กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชน
อยากให้เพิ่มบทบาทของภาคประชาชนในการตรวจสอบถ่วงดุลผู้บริหารองค์กรท้องถิ่นทุกระดับ ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ส่วนกลางเพิ่มบทบาทและงบประมาณให้กับองค์กรปกครองท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้บริหารงานอย่างอิสระตรงตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่มากกว่าเดิม
3.ระบบกลั่นกรองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง
ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรมีระบบการคัดสรรที่ดีกว่านี้ ทั้งในแง่ความรู้ความสามารถและจริยธรรม โดยใช้ระบบ "ซูรอ" ในการคัดกรองผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับ
4.การใช้ภาษามลายู
ต้องการให้รัฐส่งเสริมให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการควบคู่กับภาษาไทย รวมทั้งในป้ายบอกทางและป้ายชื่อสถานที่ต่างๆ พร้อมทั้งจัดให้มีล่ามแปลภาษาหรือเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ที่สื่อสารภาษามลายูได้ในหน่วยราชการทุกแห่ง
5.อัตลักษณ์อิสลามมลายู
ให้รัฐสนับสนุนเรื่องการอนุรักษ์อัตลักษณ์อิสลาม อนุญาตให้ข้าราชการหญิง ทหาร ตำรวจหญิงสามารถคลุมฮิญาบได้ และจัดเวลา 1 วันต่อสัปดาห์ให้เจ้าหน้าที่รัฐแต่งกายตามหลักศาสนาของตน
6.ระบบกฏหมายอิสลาม
ให้นำหลักกฎหมายอิสลามมาใช้ตัดสินข้อพิพาททางแพ่งของคนมุสลิมในพื้นที่ โดยให้มีสภาพบังคับมากกว่าระบบดาโต๊ะยุติธรรม แต่ไม่ต้องบังคับคู่กรณีที่เป็นคนศาสนิกอื่น นอกจากนั้นให้จัดโซนนิ่งเพื่อควบคุมสถานบริการและสถานที่จำหน่ายสุราซึ่งขัดกับหลักศาสนา
7.การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม
อยากให้มีศาลชารีอะฮฺในการตัดสินคดีพิพาทระหว่างมุสลิมด้วยกัน โดยอาจไม่ต้องตั้งศาลเต็มรูปแบบ แต่ขอให้คำพิพากษาชี้ขาดมีสภาพบังคับ ขณะเดียวกันอยากให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ และยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
8.ระบบการศึกษาแบบผสมผสาน
ให้รัฐจัดการศึกษาศาสนาควบคู่กับสายสามัญอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการเรียนการสอนภาษามลายูและภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษาไทย
9.ระบบสาธารณสุข
ให้รัฐจัดสถานบริการทางสาธารณสุขให้เป็นไปตามหลักการของศาสนาอิสลาม
ขณะนี้ทางกลุ่มนักศึกษา 4 ส.2 กำลังนำข้อมูลที่ได้จากการค้นหาความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกศาสนา และทุกสาขาอาชีพ มาประมวล สังเคราะห์ และยกร่างการดำเนินการตามแนวคิด "สันติธานี" พร้อมจัดตั้ง "เมืองจำลองสันติธานี" ขึ้น เพื่อทดลองปฏิบัติจริง พร้อมเก็บข้อมูลผลการทดลอง ประเมินผล และปรับแก้ไขเพื่อสรุปผลในขั้นสุดท้าย
นายพระนาย สุวรรณรัฐ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (อดีต ผอ.ศอ.บต.) เคยกล่าวเอาไว้ว่า "มีแต่การแปลงแนวคิดให้เป็นการปฏิบัติจริงเท่านั้นจึงจะสามารถยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นและนำสังคมแห่งสันติสุขกลับคืนสู่ชายแดนใต้ได้"
ฉะนั้น "เมืองจำลองสันติธานี" จะเป็นการแปลงแนวคิดไปสู่การปฏิบัติจริงครั้งสำคัญเพื่อรังสรรค์สันติสุขให้เกิดขึ้นในดินแดนแห่งนี้อย่างแท้จริงและยั่งยืน.