เสียงจาก "กลุ่มเป้าหมาย"...ไม่มั่นใจกระบวนการมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ
แม้รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จักเดินหน้าใช้กระบวนการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว โดยเชื่อว่าจะเป็น "ไม้เด็ด" ที่สามารถสกัดการขยายวงของกลุ่มก่อความไม่สงบได้ แต่ปัญหาก็คือชาวบ้านในพื้นที่ โดยเฉพาะ "บรรดาแนวร่วม" หรือ "ผู้ต้องสงสัย" ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญนั้น เห็นด้วยหรือไม่กับกระบวนการนี้
มาตรา 21 (ม.21) แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการเปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกต้องหาว่ากระทำความผิดตามฐานความผิดที่รัฐกำหนดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ "กลับใจยอมเข้ามอบตัว" หรือ "กระทำไปเพราะหลงผิด" ได้เข้ารับการฝึกอบรมจากรัฐเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องรับโทษจากการกระทำความผิดนั้น
ไม่มั่นใจ...หวั่นมอบตัวแล้วติดคุก
มุมตัส หีมมินะ จากกลุ่มด้วยใจ ซึ่งเป็นเครือข่ายครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เล่าให้ฟังว่า เท่าที่ได้ฟังจากครอบครัวผู้หลบหนีที่ได้รู้จัก (อาจจะเป็นกลุ่มที่ถูกออกหมายจับในคดีความมั่นคง หรือผู้ต้องสงสัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ทราบว่ามีจำนวนมากที่ไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการตามมาตรา 21 แม้จะยอมรับว่ากระบวนการนี้เป็นเรื่องดี แต่ไม่มั่นใจกระบวนการตรวจสอบหลักฐานและคัดกรองผู้เข้าร่วมอบรมแทนการถูกดำเนินคดี
"เขาไม่เชื่อมั่นกับวิธีการว่าถ้ายอมเข้ามอบตัวแล้วจะอบรมแค่ 6 เดือนจริงหรือไม่ หรือว่าต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ คือยังไม่มีใครสามารถบอกพวกเขาได้เลยว่าเขาจะผ่านกระบวนการตรวจสอบนี้แล้วเข้าสู่การอบรมได้แน่ๆ และหากไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบคัดกรอง เขาต้องถูกส่งเข้าเรือนจำใช่หรือไม่ ถ้าเป็นอย่างก็เหมือนเป็นการหักหลัง"
"ยกตัวอย่างในชุมชนแห่งหนึ่งมีการออกมามอบตัว แต่พอมอบตัวแล้วกลับไม่ได้รับการประกันตัว ทั้งๆ ที่คดีก็ไม่มีหลักฐานอะไร ถามว่าเขาจะเชื่อใจรัฐได้อย่างไรในเมื่อคนที่บริสุทธิ์ใจออกมามอบตัวยังไม่ได้รับการประกันตัว จุดนี้กลายเป็นว่าเขาไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรม เพราะรัฐไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ และอีกประเด็นหนึ่งคือรัฐไม่สร้างความโปร่งใสในกระบวนการด้วย ทำให้เขาไม่ไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้นไปอีก"
คนผิดจริงได้ฟอกตัว-ผู้บริสุทธิ์ถูกกล่าวหาเป็นตราบาป
มุมตัส บอกว่า จากข้อมูลที่รับฟังมาจึงยังมองไม่ออกเลยว่าวิธีการที่รัฐจะทำให้กลุ่มเป้าหมายออกมาแสดงตัวจะทำได้อย่างไร และยังเห็นว่าผู้ที่จะได้ประโยชน์จากกระบวนการตามมาตรา 21 ก็คือผู้ที่กระทำความผิดจริง แล้วใช้หนทางนี้ฟอกตัวเอง ไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรม แค่ 6 เดือนก็ออกมาเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว ส่วนผู้บริสุทธิ์ตัวจริงที่ถูกกล่าวหาหรือถูกตั้งข้อสงสัยอย่างไม่เป็นธรรมจะได้ไม่รับประโยชน์อะไรเลย
"ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด คนกลุ่มนี้จะมีวิธีการไหนพิสูจน์นอกจากกระบวนการยุติธรรมตามปกติ เขาก็ต้องใช้เวลา 4-5 ปี (สู้คดีในศาลยุติธรรม) เทียบกับคนที่กระทำผิดจริงใช้เวลาแค่ 6 เดือน อย่างนี้เรียกว่ายุติธรรมไหม"
"คนที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด เมื่อเดินเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ต้องถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นผู้กระทำความผิดไปตลอดชีวิต หากมองระยะยาวย่อมไม่ส่งผลดีต่อครอบครอบครัวของเขา จึงไม่รู้ว่าเขาจะเลือกเส้นทางไหนดี เพราะปลายทางมันตันไปเสียหมด"
แต่ยังหนุนมาตรา 21 แนะออกระเบียบรองรับให้รัดกุม
อย่างไรก็ดี มุมตัส บอกว่า หากถามว่าเห็นด้วยกับมาตรา 21 หรือไม่ เธอเห็นด้วยครึ่งหนึ่ง โดยเฉพาะหากเทียบกับกฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ก็ถือว่าดีกว่า ถ้าใช้กฎอัยการศึกจะดีสำหรับทหารที่สามารถปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว แต่กระทบกับประชาชน
"มาตรา 21 หากพูดถึงคนหลบหนีหรือผู้ต้องสงสัย ฉันยังมองไม่ออกว่าจะได้รับประโยชน์อย่างไร คิดว่าผู้ที่กระทำผิดจริงน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ซึ่งไม่รู้ว่าจริงๆ เขาจะกลับตัวกลับใจได้จริงหรือไม่ หรือจะใช้มาตรา 21 เป็นเครื่องตัวฟอกตัวเอง คำถามก็คือว่าแล้วเราจะช่วยเหลือผู้บริสุทธิ์ได้อย่างไร"
"จริงๆ ฉันเห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะมันอ่อนกว่ากฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 21 ที่ผู้บริสุทธิ์หรือเป็นแค่ผู้ต้องสงสัยกลับต้องมาลงชื่อเสมือนว่าตัวเองเป็นผู้กระทำความผิด ทำให้ถูกมองว่าถ้าเขาไม่ได้กระทำผิดแล้วเขาจะไปสารภาพผิดทำไม หรือว่าถ้าเขายอมมอบตัว แต่ไม่ผ่านกระบวนการคัดกรอง เขาต้องไปอยู่ในเรือนจำจะทำอย่างไร เพราะเรือนจำไม่ใช่สิ่งสวยงามแบบที่ใครอยากจะเข้าไปอยู่"
มุมตัส เสนอว่า รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงต้องมีระเบียบขั้นตอนที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้หลบหนีเข้ามอบตัว ซึ่งนั่นเป็นเพียงขั้นแรก เพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติมีความเข้าใจหรือยัง จากนั้นต้องทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย เพราะทุกวันนี้ประชาชนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีเนื้อหาอะไรบ้าง มาตรา 21 เขียนไว้ว่าอย่างไร
ติงมาตรา 21 สันนิษฐานล่วงหน้าว่ามีความผิด
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า สิ่งที่นักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนกังวลมากที่สุดคือหลักการของมาตรา 21 ซึ่งขัดกับหลักที่ว่าทุกคนต้องถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะมาตรานี้เขียนว่าผู้ที่จะเข้ากระบวนการคือผู้ต้องหาว่ากระทำความผิด และต้องสารภาพ หรือรับผิด หรือกลับใจ เพื่อเข้าสู่การอบรมเป็นเวลา 6 เดือน แล้วจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา
"มาตรา 21 ไปให้ความเชื่อถือกับกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น คือชั้นสืบสวน สอบสวน ออกหมายจับ และการหาพยานหลักฐานดำเนินคดีในชั้นต้นโดยตำรวจหรือทหารซึ่งอาจจะใช้กฎหมายพิเศษว่าน่าเชื่อถือมากถึงมากที่สุด และเชื่อว่าบุคคลที่ถูกกล่าวหาเหล่านั้นเป็นผู้กระทำผิดไว้ก่อน แล้วมาต่อรองให้โอกาสในการสารภาพหรือรับผิดตามที่ถูกกล่าวหา เพราะใช้ความเห็นของพนักงานสอบสวนในการเสนอและคัดกรองผู้ที่เข้ากระบวนการฝึกอบรม"
"แต่ในความเป็นจริงก็คือกระบวนการยุติธรรมลำดับต้นในสถานการณ์ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้เป็นปัญหามากที่สุด หลายกรณีไม่มีความน่าเชื่อถือ คือสูญเสียความน่าเชื่อถือไปแล้ว จึงทำให้ประชาชนและนักกฎหมายที่คลุกคลีอยู่ไม่เชื่อมั่น ตั้งข้อสงสัย ตั้งแง่ และอาจไม่ให้ความร่วมมือ"
ให้ยึดโยงหลักทั่วไปตาม ป.วิอาญา
พรเพ็ญ ยังชี้ว่า แนวทางที่ดีที่สุดในมุมมองของนักกฎหมายอย่าง ศ.วิทิต มันตาภรณ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำงานให้องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้วย ได้นำเสนอไว้เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2553 ว่า การบังคับใช้กฎหมายพิเศษในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา หากจะใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ต้องมีการบรรเทาผลลัพธ์ทางลบ โดยใช้หลักการทั่วไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาปกติ (ป.วิอาญา) คือต้องนำตัวผู้ต้องหาขึ้นศาลภายใน 84 วัน (กระบวนการชั้นก่อนฟ้องทั้งตำรวจและอัยการ) โดยจะต้องมีกลไกให้ศาลตรวจสอบ (หมายถึงผัดฟ้องฝากขังต่อศาลทุก 12 วัน) ด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใส
ส่วนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในทางปฏิบัติก็สามารถใช้ได้ แต่ต้องให้ทนายหรือผู้ที่ถูกควบคุมตัวไว้วางใจสามารถเข้าถึงประชาชนที่ถูกจับกุมโดยทันที แม้ว่าจะมีการควบคุมตัวโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาเป็นเวลา 30 วันก็ตาม
รัฐพร้อมรับฟัง-เปิดช่องทางประกันตัวง่ายขึ้น
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงใน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าขณะนี้ภาครัฐรับทราบข้อกังวลต่างๆ ของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับกระบวนการตามมาตรา 21 แล้ว และพยายามหาจุดร่วมจากข้อเสนอของทุกฝ่าย เพื่อให้กระบวนการนี้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริง
"คนที่เข้ากระบวนการตามมาตรา 21จะมุ่งเน้นผู้ที่สมัครใจจริงๆ เท่านั้น หากใครไม่สมัครใจเข้าร่วม ก็จะมีช่องทางการต่อสู้ในชั้นศาลต่อ ไม่ใช่ลักษณะการบีบบังคับ หากเขาต้องการประกันตัว ภาครัฐก็มีแผนช่วยให้ประกันตัวได้ง่ายขึ้น คือต้องเข้าใจว่าตอนนี้เรามีจำนวนผู้ต้องขังรอการไต่สวนคดีจำนวนมากเกินที่เรือนจำจะรองรับได้ ขณะที่ศาลเองก็ต้องรับภาระต่างๆ มากมาย ดังนั้นช่องทางตามมาตรา 21 ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหานี้ด้วย" แหล่งข่าว ระบุ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การตั้งด่านตรวจจุดสกัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ (ภาพโดย อะหมัด รามันห์สิริวงศ์)
2 มุมตัส หีมมินะ (ภาพโดย แวลีเมาะ ปูซู)