สำนักงาน ป.ป.ช. เริ่มดีเดย์กระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. เดือนเมษายน 2556
สำนักงาน ป.ป.ช. จะเริ่มต้นกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ครั้งแรก ๒๐ เมษายนนี้ เริ่มในพื้นที่ ๓๒ จังหวัดก่อน สำหรับครั้งที่สอง จะเริ่มในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ จำนวน ๔๔ จังหวัด
สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๔๖ วรรคท้าย บัญญัติให้มีกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด โดยคุณสมบัติ กระบวนการสรรหา และอำนาจหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงได้ออกระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ. ๒๕๕๕ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด
ในระเบียบดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ช. จึงมีภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานให้มี การสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ประกอบด้วย ๒ ภารกิจ ดังนี้
ภารกิจที่ ๑ การดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. โดยให้ผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กรในแต่ละจังหวัด รวม ๙ กลุ่มองค์กรหรือหน่วยงาน คัดเลือกกันเองให้เหลือหน่วยงานหรือองค์กรละหนึ่งคน รวม ๙ คน ทำหน้าที่สรรหากรรมการ ป.ป.จ. ในภารกิจที่ ๒ ต่อไป
ภารกิจที่ ๒ การสรรหากรรมการ ป.ป.จ. โดยประกาศรับสมัครจากบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จากนั้นให้คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. พิจารณาคัดเลือกไว้เป็นสองเท่าของจำนวนกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด แล้วนำรายชื่อจัดทำบัญชีเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งให้เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัดตามจำนวนของแต่ละจังหวัดต่อไป
ดังนั้นในภารกิจที่ ๑ จะดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ขึ้นมาคณะหนึ่งก่อนในแต่ละจังหวัด โดยดีเดย์ครั้งแรก ประมาณ ๒๐ เมษายน ในพื้นที่ ๓๒ จังหวัดที่ได้เปิดดำเนินการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดมาก่อนแล้ว และครั้งที่ ๒ ประมาณเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ เริ่มในพื้นที่ ๔๔ จังหวัดที่เหลือ การคัดเลือกคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. จะสรรหาจากผู้แทนหน่วยงานหรือองค์กร ในแต่ละจังหวัดรวม ๙ กลุ่มองค์กร ตามที่กฎหมายกำหนดประกอบด้วย
๑. สมาคมหรือชมรมครู อาจารย์ หรือสมาคมทางด้านการศึกษา
๒. สภาทนายความหรือผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย
๓. สมาคมหรือชมรมพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือสภาแรงงาน หรือสหภาพแรงงาน
๔. สภาหอการค้าจังหวัดหรือสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหรือชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด
๕. กลุ่มอาสาสมัคร
๖. องค์กรเอกชน
๗. องค์กรเกษตรกร
๘. สมาคมหรือชมรมสื่อมวลชน
๙. หัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัด
คณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.เมื่อผ่านการสรรหาเรียบร้อยแล้ว จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.ในแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นการดำเนินงานในภารกิจที่ ๒ โดย ขั้นแรกคือ ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ประวัติ และพฤติการณ์ของผู้สมัครเป็นกรรมการ ป.ป.จ. แต่ละราย ขั้นที่ ๒ คือ พิจารณาคัดเลือกผู้สมัครกรรมการ ป.ป.จ. ที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามซึ่งสมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.จ. ส่งมาให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาคัดเลือกและแต่งตั้งต่อไป
การสรรหากรรมการ ป.ป.จ. ในแต่ละจังหวัดจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามคนแต่ไม่เกินห้าคน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ ป.ป.จ. คนหนึ่ง และกรรมการ ป.ป.จ. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. และให้ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการ ป.ป.จ. ซึ่งการกำหนดจำนวนกรรมการ ป.ป.จ. ในแต่ละจังหวัด ให้คำนวณโดยการนำประชากรในจังหวัดที่มีจำนวนประชากรสูงสุดยกเว้นกรุงเทพมหานครมาหารด้วยสอง ได้จำนวนเท่าใดให้ใช้เป็นฐานในการคำนวณ จังหวัดใดมีจำนวนประชากรตั้งแต่กึ่งหนึ่งขึ้นไปของจำนวนประชากรที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณ ให้จังหวัดนั้นมีกรรมการ ป.ป.จ. จำนวนห้าคน จังหวัดใดมีจำนวนประชากรน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของฐานในการคำนวณ ให้จังหวัดนั้นมีกรรมการ ป.ป.จ. จำนวนสามคน
การสรรหาคนดีในพื้นที่มาเป็นกรรมการ ป.ป.จ. ในแต่ละจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะกรรมการ ป.ป.จ. มีบทบาทในการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินเสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งการประสานความร่วมมือกับประชาชนและส่วนราชการเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนในทุกระดับได้ตระหนักถึงผลกระทบจากการทุจริต อันเป็นการป้องกันการทุจริตและเสริมสร้างทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริต ให้ประชาชนหรือกลุ่มบุคคลในทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับพื้นที่
ผู้ที่มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.จ. ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
คุณสมบัติ
(๑) เป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
(๒) มีความรู้ความสามารถและมีผลงานเป็นที่ยอมรับในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๓) มีสัญชาติไทย
(๔) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปีบริบูรณ์ และไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์
(๕) รับหรือเคยรับราชการในระดับไม่ต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่า หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์หรือมีผลงานเป็นที่ยอมรับในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือเป็นผู้ซึ่งองค์การพัฒนาเอกชนหรือองค์กรวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองและปฏิบัติงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีโดยองค์การพัฒนาเอกชนหรือองค์กรวิชาชีพให้การรับรอง
ไม่มีลักษณะต้องห้าม
(๑) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
(๒) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(๓) ติดยาเสพติดให้โทษ
(๔) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(๕) ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้ว่าคดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือมีการรอการลงโทษหรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
(๖) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ
(๗) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(๘) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด
กรรมการ ป.ป.จ.ในแต่ละจังหวัดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนและผ่านกระบวนการสรรหาเรียบร้อยแล้ว จะต้องปฏิบัติงานที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนั้น ๆ และมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ ไม่ว่าในจังหวัดใด สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.จ. ดังกล่าวมีสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับ ดังต่อไปนี้
(๑) ค่าตอบแทนรายเดือน ในตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.จ. เดือนละ ๕๗,๖๕๐ บาท ตำแหน่งกรรมการ ป.ป.จ. เดือนละ ๔๗,๒๔๐ บาท
(๒) บำเหน็จตอบแทน
(๓) การประกันสุขภาพ
(๔) ประโยชน์ตอบแทนอื่นตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
(๕) มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเพื่อขอรับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
อนึ่งเพื่อให้ได้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาที่มีคุณสมบัติถูกต้องและไม่มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานอย่างโปร่งใส ให้ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครให้แก่สื่อมวลชนในจังหวัดดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ หากเห็นว่าเป็นบุคคลที่ไม่เหมาะสมขอให้รีบแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับประวัติและพฤติการณ์ให้สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดทราบผ่านทางเว็บไซต์ ไปรษณีย์ หรือช่องทางอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นดำเนินงานไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคลากรของสำนักงาน ป.ป.ช.ทุกท่านในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจหรือประชาชนทั่วไปให้ได้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ในการค้นหาคนดีในพื้นที่มาเป็นคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.จ. และกรรมการ ป.ป.จ. ได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง เมื่อสำนักงาน ป.ป.ช.ได้คนดีในพื้นที่มาเป็นกรรมการ ป.ป.จ.ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในแต่ละพื้นที่ที่จะเร่งระดมปูพรมกำจัดการทุจริตอย่างครบวงจรต่อไป
หากข่าวสารสำนักงาน ป.ป.ช. มีความคืบหน้าในรายละเอียดต่าง ๆ จะนำมารายงานให้ทราบในโอกาสต่อไป