เปิดตัวโครงการช่วยเหลือทางกฎหมายให้ชาวบ้านฟรี นักวิชาการปลุกตั้งเครือข่าย "สันติศึกษา"
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 7 ปี ประเด็นที่พูดถึงกันมากที่สุดเป็นลำดับต้นๆ และกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายวงของปัญหา คือปมการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยที่ภาครัฐเองก็ยังแก้ไม่ตก ล่าสุดจึงมีความเคลื่อนไหวอันน่าติดตามขององค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่งที่สมควรนำมาบันทึกไว้
เมื่อวันพุธที่ 9 ก.พ.2554 มูลนิธิคอนราด อาเดนาวร์ ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการส่งเสริมการเข้าถึงความยุติธรรม ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 2 ปี มีเป้าหมายให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายโดยไม่คิดค่าบริการแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อยกระดับและปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเสริมสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (อียู) ภายใต้โครงการพัฒนาสำหรับภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
กิจกรรมหลักๆ ในโครงการประกอบด้วย การให้บริการด้านกฎหมายโดยไม่คิดค่าบริการแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทำคดีในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Litigation), การประชุมคดีระหว่างทนายความและผู้ชำนาญการด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชน, การอบรมเพิ่มทักษะให้แก่ทนายความ ผู้ช่วยทนายความ และนักศึกษาคณะนิติศาสตร์, การจัดสัมมนาโดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นหน่วยงานในพื้นที่ หน่วยงานด้านความมั่นคง ผู้มีอำนาจตัดสินใจ และเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม, งานวิจัยและการทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับความต้องการการใช้บริการให้ความช่วยเหลือด้านคดีโดยไม่คิดค่าบริการ, ส่งเสริมให้พนักงานอัยการและศาลมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และการจัดทำข้อเสนอให้กับหน่วยงานของรัฐ
สิ่งที่คาดหวังสำหรับโครงการนี้ก็คือ การเพิ่มศักยภาพชุมชนเพื่อช่วยให้หน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานด้านความมั่นคงสามารถยึดถือและปฏิบัติตามกฎหมายในระดับประเทศและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน
ผู้ถูกควบคุมตัวโวยถูกซ้อมทรมาน
สำหรับสถานการณ์การร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 11 ก.พ. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ทำหนังสือถึง พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) พล.ต.ท.ไพฑูรย์ ชูชัยยะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผบช.ศชต.) และประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีนายเอ (นามสมมุติ) ราษฎร จ.นราธิวาส ร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานและถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี เพื่อบังคับให้รับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปล้นปืน พร้อมขอให้จัดบุคลากรทางการแพทย์จากภายนอกเข้าตรวจร่างกายด้วย โดยนายเอถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค.2554 ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์พิทักษ์สันติ ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้
ต่อมา เจ้าหน้าที่จากศูนย์พิทักษ์สันติได้ควบคุมตัวนายเอไปตรวจร่างกายและเอ็กซเรย์ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ตามคำขอของญาติและหนังสือร้องเรียนของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมแล้ว โดยมีรายงานจากเอกสารใบแจ้งข่าวของมูลนิธิผสานวัฒนธรรมว่า แพทย์ได้ตรวจรักษาและพบว่านายเอมีบาดแผลตามที่กล่าวอ้างและร้องเรียนจริง เช่น บาดแผลบริเวณข้อมือ บริเวณคอ รอยช้ำบริเวณก้นกบ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรมยังเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการการตรวจรักษาและบันทึกสภาพร่างกายก่อนและหลังการควบคุมตัวและการย้ายสถานที่ควบคุมตัวทุกครั้งให้เป็นมาตรฐานอย่างเคร่งครัดตามบรรทัดฐานของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และกฎหมายสากล เพื่อเป็นมาตรการป้องกันการซ้อมทรมาน สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ และขอให้ตรวจสอบข้อร้องเรียนการถูกซ้อมทรมานของนายเออย่างโปร่งใสด้วย
ถกตั้งเครือข่ายสันติศึกษาอุดมศึกษา
ก่อนหน้านั้น เมื่อวันจันทร์ที่ 7 ก.พ. ที่ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การส่งเสริมวิชาสันติศึกษาอุดมศึกษา" จัดโดยศูนย์ศึกษาความขัดแย้งและสันติภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันอิสลาม มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา และเครือข่ายผู้สนใจงานด้านสันติวิธี
ผศ.ดร. ม.ร.ว.กัลยา ติงศภัทิย์ รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งว่า สภาพการณ์หลายอย่างในสังคมไทยทำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องหันมาสนใจปัญหาความรุนแรงและการสร้างสันติภาพในสังคมอย่างจริงจัง และตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างภาคีร่วมกันเกี่ยวกับการส่งเสริมวิชาสันติศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่อไป
รศ.ดร.มารค ตามไท ผู้อำนวยการสถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ กล่าวว่า มีความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยต้องช่วยกันปรับบทบาทให้สามารถรับผิดชอบต่อสังคมได้มากขึ้น ด้วยการเปิดวิชาสอนที่ตอบปัญหาความเดือดร้อนที่สังคมเผชิญอยู่ได้ รวมทั้งเข้าร่วมปฏิบัติการแก้ไขปัญหากับชุมชนและสังคมด้วย
เตรียมจัดเวทีใหญ่ขับเคลื่อนกลาง เม.ย.
สำหรับการก่อตั้งเครือข่ายอุดมศึกษาเพื่อสันติศึกษาและบทบาทในการเสริมสร้างสันติภาพนั้น จะมีการจัดเวทีใหญ่เพื่อระดมความคิดเห็นและขับเคลื่อนกันอีกครั้งระหว่างวันที่ 18-19 เม.ย.นี้ โดยมีนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสถาบันเข้าร่วม อาทิ รศ.ดร.มารค ศ.สุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม รศ.ดร.ไชยยันต์ รัชกูล จากมหาวิทยาลัยพายัพ ดร.ชาญชัย ชัยโกศล จากมหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อาจารย์กริยา หลังปูเต๊ะ จากมหาวิทยาลัยอิสลามยะลา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า และนายศิริชัย สาครรัตนกุล กรรมการอำนวยการนโยบายทีวีไทย เป็นต้น
เป้าหมายของเวทีระดับชาติดังกล่าว คือต้องการสะท้อนการใช้สันติวิธีในการแก้ไขปัญหาสังคมไทยที่เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง โดยใช้ประสบการณ์จากคนธรรมดา ชุมชนในพื้นที่ความรุนแรง ตลอดจนหน่วยงานและสถาบันต่างๆ ที่ได้นำหลักการสันติวิธีไปใช้แก้ไขปัญหาว่าประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร และมีบทเรียนอย่างไรบ้าง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ภาพประกอบจากแฟ้มภาพอิศรา