คณะทำงานเฉพาะประเด็นฯ เสนอแก้โกงยกเครื่อง ก.ก.ต.-คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสทุจริต
อุตสาหกรรมการเมืองทุจริตหนัก เสนอแก้ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้ผู้สมัครแสดงบัยชีทรัพย์สิน-หนี้สิน ยกเลิกนับคะแนนที่หน่วย ให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างในเว็บไซต์ และพัฒนาระบบสนับสนุนคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสทุจริต ระบบงานสินบนนำจับจริงจัง คุ้มครองพยานทุกประเภท จี้รัฐวิสาหกิจใช้มาตรฐานบรรษัทภิบาล
(11 ก.พ.) ที่สมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย มีการแถลงข่าวของสำนักงานปฏิรูป (สปร.) ร่วมกับคณะทำงานเฉพาะประเด็นการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น เรื่อง “มาตรการสกัดคนโกงที่ต้นทาง ต้องยกเครื่อง ก.ก.ต.” ซึ่งเป็นการแถลงข่าวเฉพาะประเด็นครั้งที่ 3 โดยการแถลงข่าวสองครั้งแรกว่าด้วยเรื่องการปฏิรูป ป.ป.ช. ใส่ใจ ป.ป.จ. และการใช้มาตรการทางภาษีกับผู้ใช้อำนาจรัฐเพื่อปราบปรามการทุจริต ตามลำดับ
น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป ประธานคณะทำงานเฉพาะประเด็นการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น กล่าวเสนอมาตรการในการสกัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงตามเส้นทางการเมือง คือ ช่วงต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ว่า ช่วงต้นน้ำมีปัญหาที่การเข้าสู่อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เกิดจากอิทธิพลและทุนทางการเงินเป็นหลัก มีสภาพเป็นธุรกิจการเมืองครบวงจร จึงมีข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปยกเครื่องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) โดยให้ ก.ก.ต. ใช้อำนาจออกระเบียบหรือประกาศให้ผู้สมัครต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง เพื่อแสดงความจริงใจ เปิดเผย โปร่งใส ว่าเป็นผู้สุจริต ควรยกเลิกการนับคะแนนที่หน่วยย่อย เพราะมีการซื้อหน่วยเลือกตั้งได้ และใช้ระบบไอทีในการช่วยตรวจสอบ วิเคราะห์ข้อมูลการใช้เงินหาเสียง และเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบ
ช่วงกลางน้ำ ซึ่งเป็นการบริหารและใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินกว่า 2.4 ล้านล้านบาทต่อปีโดยหน่วยงานระดับกรมหรือเทียบเท่าและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ผ่านวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง (6 วิธี) ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ออกระเบียบให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างให้สาธารณะเข้าถึงได้ แต่รัฐบาลไม่ทำ อ้างว่าใช้ระเบียบกระทรวงการคลังแล้ว ดังนั้นจึงขอเสนอให้รัฐบาลสั่งให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจ ต้องเปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์โดยไม่ใช้พาสเวิร์ดปิดกั้นโอกาสเข้าถึง โดยโครงการที่มีมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไป ให้ใส่ข้อมูลตัวโครงการ (สังเขป) การประกาศเชิญชวน ขั้นตอนการพิจารณาและตัดสิน ผลการตัดสิน ข้อมูลคู่สัญญา ข้อมูลผู้รับสิทธิ์สัมปทาน ราคากลาง และกรรมการชุดต่าง ๆ สำหรับรัฐวิสาหกิจ ควรนำหลักมาตรฐานบรรษัทภิบาลมาใช้ตรวจสอบ ประเมิน อย่างเคร่งครัด
ช่วงปลายน้ำ ปัจจุบันมีปัญหาการขาดระบบส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาเรื่องอาสาสมัครเฝ้าระวังหรือผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต จึงขอเสนอให้ ป.ป.ช.ออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมโดยส่งเสริมสนับสนุนผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต (whistleblower) ในหลากหลายรูปแบบ คุ้มครองความปลอดภัยกลุ่มพยานทุกประเภทและดูแลค่าใช้จ่ายพื้นฐานทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินคดี รวมถึงและออกแบบและพัฒนาระบบงานสินบนนำจับอย่างจริงจังเพื่อเป็นมาตรการเสริม
ดร.ศรัณย์ ธิติลักษณ์ ศูนย์บริการวิชาการธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนมาตรการผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต ในกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับล่าสุด แต่ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่แพร่หลายต่อสาธารณะเท่าที่ควร และยังไม่มีความชัดเจนในข้อกฎหมายหลาย ๆ ประเด็นในกรณีให้ความคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ป.ป.ช.จึงควรเพิ่มการประชาสัมพันธ์กฎหมายคุ้มครองพยานให้สาธารณชนรับทราบมากขึ้น ทั้งนี้อาจมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมนี้ด้วย ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้ประชาชนทุกคนเป็นตำรวจ whistle blower สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนเหตุทุจริต
ด้าน ดร.มานะ นิมิตรมงคล ผู้อำนวยการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อแนวทางสร้างความโปร่งใสในการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจว่า ปัจจุบันรัฐวิสาหกิจของไทยจำนวน 57 แห่ง มีงบดำเนินงานรวมกันมากกว่า 3.5 แสนล้านล้านบาทต่อปี มีงบการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท และแต่ละแห่งยังมีงบประมาณเพื่อการลงทุนที่ก่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้างจำนวนมาก รัฐวิสาหกิจของไทยจึงเป็นที่สนใจของนักการเมืองและนักธุรกิจเอกชนที่จะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เป็นปัญหาของรัฐบาลในเรื่องคอร์รัปชั่น โดยจากศึกษาหลายกรณีพบว่า อุปสรรคในการพัฒนารัฐวิสาหกิจที่สำคัญ มาจากการคอร์รัปชั่นของบุคลากรในรัฐวิสาหกิจเอง จึงมีข้อเสนอแนะต่อปัญหาดังนี้
1.ให้รัฐวิสาหกิจบริหารจัดการอย่างมีบรรษัทภิบาล โดยใช้มาตรฐานเดียวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากเป็นแนวทางปฏิบัติที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า มีระบบติดตามประเมินให้คุณให้โทษอย่างเหมาะสม และหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบ สามารถเข้าไปตรวจสอบได้อย่างทั่วถึง
2.กำหนดให้รัฐวิสาหกิจทุกแห่งต้องเปิดเผยข้อมูลของตนในเว็บไซต์อย่างครบถ้วน เพียงพอ ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ เป็นการให้สาธารณชนมีส่วนร่วมตรวจสอบ
เอกสารงานแถลงข่าว "มาตราการสกัดคนโกงที่ต้นทาง ต้องยกเครื่อง กกต.และ ฯลฯ
(คลิป) กฏเหล็กคุมเข้มคอร์รัปชั่น