"กบฏ-ก่อการร้าย-ฆ่าคนตาย-วางระเบิด" เข้าข่าย ม.21 มีลุ้นอบรม 6 เดือนแทนถูกดำเนินคดี
การใช้กระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่พูดกันมานานนับปี แต่กลับไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับ “ฐานความผิด” ที่รัฐบาลกำหนดสำหรับบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิด ซึ่งจะได้รับโอกาสในการ “กลับใจเข้ามอบตัว” เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานของรัฐเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ
ล่าสุดเริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับ “ฐานความผิด” ดังกล่าวแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2554 และได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 12 ม.ค.ปีเดียวกัน
ทำความรู้จักมาตรา 21 พ.ร.บ.ความมั่นคง
สำหรับกระบวนการตามมาตรา 21 (ม.21) แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคง อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การเปิดโอกาสให้บุคคลที่ถูกต้องหาว่ากระทำความผิดตามฐานความผิดที่รัฐกำหนดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ “กลับใจยอมเข้ามอบตัว” หรือ “กระทำไปเพราะหลงผิด” ได้เข้ารับการฝึกอบรมจากรัฐเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนแทนการถูกดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องรับโทษจากการกระทำความผิดนั้น
ทั้งนี้ กระบวนการตามมาตรา 21 เริ่มขึ้นแล้วในปัจจุบันในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้แก่ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 29 พ.ย.2553 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2553 ถึงวันที่ 30 พ.ย.2554 กับพื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ซึ่งรัฐบาลได้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) แล้วให้ใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน
จะเห็นได้ว่าสาระสำคัญที่สุดประการหนึ่งของกระบวนการตามมาตรา 21 ก็คือ "ฐานความผิด" ที่รัฐบาลประกาศว่าเข้าข่ายได้รับการยกเว้นโทษหากบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิด “กลับใจยอมเข้ามอบตัว” หรือพนักงานสอบสวนเห็นว่า “กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์” แล้วยินยอมเข้าโปรแกรมการอบรมแทน
“กบฏ-ก่อการร้าย-ฆ่า-ซ่องโจร” เข้าข่าย ม.21
ฐานความผิดที่ว่านี้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 3 ง วันที่ 12 ม.ค.2554 เรื่อง กำหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2554 รายละเอียดมีดังต่อไปนี้
การกระทำความผิดที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 21
1 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ประกอบด้วย
- ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 113 ถึงมาตรา 118 (หมายถึงความผิดฐานกบฏแบ่งแยกดินแดน, ตระเตรียมก่อกบฏ, ชักชวนให้หยุดงาน และการกระทำใดๆ ต่อธงเพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ)
- ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119, 120, 127, 128 และ 129 (หมายถึงความผิดฐานคบคิดกับบุคคลซึ่งกระทำการเพื่อประโยชน์ของรัฐต่างประเทศ ด้วยความประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการดำเนินการรบต่อรัฐ หรือทางอื่นที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐ, กระทำการใดๆ ให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอกประเทศ รวมถึงผู้ที่พยายามและสนับสนุนการกระทำดังกล่าว)
- ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 135/1 ถึงมาตรา 135/5 (หมายถึงความผิดฐานก่อการร้ายทั้งหมด ทั้งที่ได้กระทำแล้ว หรืออยู่ในขั้นตระเตรียมการ และผู้สนับสนุน)
- ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 136 ถึงมาตรา 146 (หมายถึงความผิดฐานดูหมิ่น แจ้งความเท็จ ข่มขืนใจ และต่อสู้ขัดขืนต่อเจ้าพนักงาน ทำลายเอกสารที่เป็นพยานหลักฐาน ให้สินบน และแต่งกายเลียนแบบเจ้าพนักงาน)
- ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 209 ถึงมาตรา 216 (หมายถึงความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร และสมคบกันตั้งแต่ 10 คนก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง)
- ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 217 ถึงมาตรา 239 (หมายถึงความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ของบุคคลและราชการ รวมทั้งกระทำการต่อสาธารณูปโภคจนน่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อประชาชน)
- ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288 ถึงมาตรา 294 (หมายถึงความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ฆ่าเจ้าพนักงาน ฆ่าโดยทารุณโหดร้าย ฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน และฆ่าเพื่อความสะดวกในการกระทำความผิดอื่น)
- ความผิดต่อร่างกาย ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 295 ถึงมาตรา 300 (หมายถึงความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทั้งสาหัสและไม่สาหัส)
- ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 309 ถึงมาตรา 321 (หมายถึงความผิดฐานข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ, หน่วงเหนี่ยวกักขัง, ล่อลวงเด็ก เยาวชน และบุคคลที่อายุเกิน 15 ปี รวมถึงพรากผู้เยาว์ และส่งคนออกไปนอกราชอาณาจักร)
- ความผิดฐานลักทรัพย์และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336 ทวิ
-ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 337 ถึงมาตรา 340 ตรี
- ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 357 (หมายถึงผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิด)
- ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 358 ถึงมาตรา 361 (หมายถึงทำให้ทรัพย์ของผู้อื่นเสียหาย ทำลาย หรือเสื่อมค่า)
- ความผิดฐานบุกรุก ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 362 ถึงมาตรา 366 (หมายถึงการเข้าไปในบ้าน อาคารสถานที่ หรือที่ดินของผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยเหตุต้องการรบกวน ครอบครอง หรือหลบซ่อนตัวก็ตาม)
“แต่งกายคล้ายทหาร-ยิง-บึ้ม” มีสิทธิเข้าอบรม
2.ความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบทหาร พ.ศ.2477 (หมายถึงการแต่งเครื่องแบบทหาร หรือแต่งกายคล้ายเครื่องแบบทหาร จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นทหาร)
3.ความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 (หมายถึงความผิดที่เกี่ยวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุน และวัตถุระเบิดทั้งหมด)
4.ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 (หมายถึงความผิดที่เกี่ยวกับการจราจรทางบก เช่น ตัดต้นไม้กีดขวางทางจราจร เป็นต้น)
5.ความผิดตามพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.2535
สำหรับบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดดังกล่าว สามารถเข้าแสดงตัวหรือมอบตัวต่อพนักงานสอบสวนได้ โดยในส่วนของ 4 อำเภอ จ.สงขลา ระหว่างวันที่ 1 ธ.ค.2553 ถึงวันที่ 30 พ.ย.2554 ขณะที่ อ.แม่ลาน ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.2554 ถึง 18 ม.ค.2555 โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบคัดกรองบุคคลเพื่อเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ดังกล่าว
เปิดขั้นตอนตามมาตรา 21
อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ความมั่นคง นั้น ก็มีขั้นตอนและเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบด้วยเช่นกัน โดยสามารถอธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้
1.คณะรัฐมนตรีมีมติตามมาตรา 15 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง (ประกาศกำหนดให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และให้อำนาจ กอ.รมน.ดำเนินการภายในเขตพื้นที่ที่กำหนดดังกล่าว
2.เมื่อปรากฏว่าบุคคลใดต้องหาว่าได้กระทำความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด (ฐานความผิดตามที่แจกแจงมาทั้งหมด) แต่
- ผู้นั้นกลับใจเข้ามอบตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ
- พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนแล้วปรากฏว่าบุคคลนั้นได้กระทำไปเพราะหลงผิดหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์
3.การเปิดโอกาสให้บุคคลนั้นกลับตัวจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
4.ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนรายงานการสอบสวนและความเห็นไปให้ผู้อำนวยการ (หมายถึงผู้อำนวยการ กอ.รมน. หรือ ผอ.รมน. ในที่นี้หมายถึง ผอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งก็คือแม่ทัพภาคที่ 4) และหาก ผอ.รมน.เห็นด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ตรงกับเงื่อนไขข้างต้นครบถ้วน ให้ ผอ.รมน.ทำบันทึกสำนวนพร้อมความเห็นไปยังพนักงานอัยการ
5.พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องหาให้ ผอ.รมน. เพื่อเข้ารับการอบรม
6.หากผู้ต้องหายินยอมเข้ารับการอบรมและปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ และศาลเห็นสมควร ศาลจะสั่งให้ส่งผู้ต้องหานั้นให้ ผอ.รมน.เพื่อเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนด
7.เมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้เข้ารับการอบรม รวมทั้งปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ที่ศาลกำหนดเสร็จสิ้นแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้ต้องหาเป็นอันระงับไป
------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ข้อมูลบางส่วนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม