การประกาศอำนาจเหนือรัฐของโจรก่อการร้าย
การเข้าโจมตีกองร้อย ร.15121 ของกลุ่มโจรก่อการร้ายเพื่อปล้นอาวุธและรุมฆ่า ผบ.ร้อย อย่างโหดเหี้ยมนั้น ไม่อยากเขียนรายละเอียดลงไป แต่ขอเสนอข้อคิดเห็น ดังนี้
เมื่อ 4 ม.ค.47 ซึ่งเป็นเวลา 7 ปีผ่านมาแล้ว มีการปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 (ค่ายปิเหล็ง) ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นครั้งที่ 1 ในปีนี้ก็มีการปล้นปืนกองร้อย ร.15121 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ขึ้นอีกครั้งเมื่อ 19 ธ.ค.54 เหตุการณ์ทั้งสองมีความคล้ายคลึงกันมาก พอสรุปได้ดังนี้
1. ที่ตั้งค่าย อยู่ในพื้นที่ที่ล้อมด้วยภูเขาสำคัญ 3 ลูกเหมือนๆ กัน (ทั้ง 2 ค่ายตั้งห่างกันประมาณ 30 กิโลเมตร) คือเทือกเขาบูโด, เทือกเขาตะเว และเทือกเขาใน อ.ศรีสาคร (จ.นราธิวาส) ซึ่งทุกเทือกเขามีการซ่องสุมของกลุ่มโจรก่อการร้ายอยู่จำนวนมาก
2. เวลาเข้าตีของกลุ่มโจร อยู่ในระยะเวลาที่กำลังพลกำลังพักผ่อนจากการระมัดระวังเหตุร้ายมาอย่างเต็มที่ในช่วงเทศกาลปีใหม่
3. วิธีเข้าตี ใช้การโจมตีฉาบฉวยเพื่อดึงความสนใจทางด้านหน้าค่าย แล้วเข้าโจมตีหลักทางด้านหลัง ซึ่งเป็นป่ายางเหมือนกันทั้ง 2 ค่าย
4. วิธีถอนตัวหลังเข้าตี ใช้มวลชนรอบพื้นที่เป้าหมายเข้ามาวางเรือใบ, เผายางรถยนต์, โค่นต้นไม้ ฯลฯ เพื่อขวางทางการเข้ามาช่วยเหลือของกำลังภายนอกเช่นกัน
5. มีไส้ศึกอยู่ภายในค่ายเหมือนๆ กัน
ความคล้ายคลึงกันในวิธีการเข้าปฏิบัติงานปล้นปืนของทั้ง 2 ค่ายจึงทำให้หลายคนมีความสงสัยว่ากองทัพไม่มีการศึกษาบทเรียนในอดีตมาหรืออย่างไร? จึงปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วในความคล้ายคลึงนั้นก็มีความแตกต่างกันมากพอสมควร เช่น
1. พื้นที่ตั้งค่ายของกองร้อย ร.15121 อยู่ในพื้นที่สีแดงจริงๆ ไม่เหมือนค่ายปิเหล็ง สาเหตุที่ต้องไปตั้งตรงนั้นเพราะประชาชนในพื้นที่ได้ร้องขอให้เข้าไปตั้งเพื่อถ่วงอำนาจของกลุ่มโจร และเป็นการสนับสนุนให้กำลังใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งทหารไม่มีทางเลือกพื้นที่ที่อื่น
2. ตัวค่ายไม่มีถาวรวัตถุป้องกันกระสุนเหมือนค่ายปิเหล็ง มีแต่บ้านน็อคดาวน์เท่านั้น รั้วก็ไม่มี
3. การตั้งค่ายพยายามวางรูปแบบให้เป็นมิตรกับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด จึงเป็นเหตุทำให้เครื่องกีดขวางทางทหารมีน้อยมาก ถือว่าเป็นจุดเด่นทางด้านจิตวิทยามวลชน แต่ก็เป็นจุดอ่อนทางทหาร ซึ่งทหารจำเป็นต้องเลือกเอาอย่างหนึ่งอย่างใด จะบอกได้ว่าในภาวะสงครามเช่นนี้ "ความกล้าหาญ" เท่านั้นถึงจะเลือกแนวทางที่เข้ามาใกล้ชิดประชาชน ไม่เช่นนั้น ผบ.ร้อย จะอยู่เฝ้าฐานทำไม แทนที่จะลากลับไปกรุงเทพฯ
4. อาวุธที่เข้าตีกองร้อยของกลุ่มโจรครั้งนี้มีความรุนแรงมากกว่าการเข้าตีค่ายปิเหล็งมาก เช่น การใช้เอ็ม 79, การใช้ระเบิดขว้าง, การข่มขวัญด้วยการจุดประทัด ฯลฯ
5. กลุ่มโจรที่เข้าตีค่ายส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการ "ฆ่าคน" และมีความโหดเหี้ยมที่สะสมมายาวนานมากกว่า 5-6 ปี เกินที่พลทหารประจำการจะรับมือไหว โดยเฉพาะยังเป็นการลักลอบโจมตีลับหลังอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้รับผิดชอบในปัญหานี้ตั้งแต่ระดับแม่ทัพขึ้นไปถึงนายกฯ จำเป็นต้องเลือกและปรับปรุงวิธีการต่อสู้กับกลุ่มโจรเหล่านี้เสียใหม่ โดยใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ซึ่งมีอยู่ถึง 5-6 วิธีด้วยกัน นับตั้งแต่การจัดระบบติดตั้งกล้องซีซีทีวี (กล้องโทรทัศน์วงจรปิด) (7 ปีผ่านมาก็ยังไม่เสร็จ) ไล่ขึ้นมาถึงการใช้เทคโนโลยีในสงครามกองโจร นำมาใช้อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นเครื่องมือรับประกันว่า
1. การสูญเสียแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก 2. การจับกุมโจรทุกคนต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่มีแต่หมายจับ และ 3. ต้องใช้งานข่าวกรองนำหน้าทหาร-ตำรวจ
ครับ ถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับกันเสียทีว่า เมื่อใดที่การสถาปนาอำนาจรัฐบนถนนสายหลักในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลยังไม่เป็นผลสำเร็จ อย่าหวังจะไปทำอย่างอื่นให้สำเร็จเลยครับ เพราะไม่มีประชาชนคนไหนจะกล้าหาญฝ่าอำนาจโจรที่อยู่ในหมู่บ้านออกมาสนับสนุนรัฐบาลหรือแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็เช่นกัน
อีกหน่อยโจรมันก็จะปิดตลาดปล้นธนาคารเหมือนในประเทศอิรัก คอยดูกันต่อไป
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : หน้าค่ายปิเหล็ง (กองพันพัฒนาที่ 4) ซึ่งถูกคนร้ายบุกปล้นปืนเมื่อ 7 ปีก่อน เทียบกับหน้าฐานปฏิบัติการ 15121 ซึ่งถูกคนร้ายบุกโจมตีและปล้นปืนเมื่อ 19 ม.ค.2554
หมายเหตุ : เรื่องและภาพต้นฉบับ http://www.oknation.net/blog/nunrimfar/2011/01/21/entry-1