รัฐตะลุมบอน "หนุน-ค้าน" เคอร์ฟิว จับตาเหตุรุนแรงถี่เข้าทางใคร?
ข้อเสนอเรื่องการประกาศ "เคอร์ฟิว" หรือมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด (เวลากลางคืน) ที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี จุดพลุขึ้นมาตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น กลายเป็นประเด็นร้อนในบริบทการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะแม้แต่คนในรัฐบาลด้วยกันเองก็ยังเห็นขัดแย้งกัน
ร.ต.อ.เฉลิม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศปก.กปต.) อ้างความเห็นจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เตรียมประกาศ "เคอร์ฟิว" ในพื้นที่เกิดเหตุรุนแรงซ้ำซาก โดยยกตัวอย่าง อ.กรงปินัง จ.ยะลา และ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุสังหารพ่อค้ารับซื้อผลไม้พร้อมลูกน้องรวม 4 ศพ และยิงถล่มรถชาวนาจาก จ.สิงห์บุรี และสุพรรณบุรี ที่ไปช่วยฟื้นฟูนาร้างตามโครงการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
แนวคิดการประกาศเคอร์ฟิวได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจาก นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยให้เหตุผลว่า การรักษาโรคจะแค่กินยาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฉีดยาด้วย และว่าเคอร์ฟิวไม่ใช่เรื่องใหม่ สมัยที่ตนเองเป็นนายอำเภอในภาคอีสานก็เคยมีการประกาศมาแล้วเช่นกัน
ทว่า พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คุมเหล่าทัพทุกเหล่าทัพ กลับแสดงท่าทีคัดค้าน จนกลายเป็นวิวาทะกับ ร.ต.อ.เฉลิม ถึงขั้นท้าทายว่าหากเก่งจริงก็ให้มาเป็น ผอ.ศปก.กปต.แทนตนเอง!
ขณะที่ทางฝั่งทหาร แม้ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 จะตั้งโต๊ะแถลงว่าพร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล แต่ก็บอกว่าพื้นที่ 2 อำเภอที่ ร.ต.อ.เฉลิม ยกมาว่าสมควรประกาศเคอร์ฟิวนั้น จริงๆ ไม่ได้มีความรุนแรง แทบไม่มีเหตุการณ์มาเป็นปีแล้ว
ที่น่าสังเกตก็คือท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งสวนทางกับแม่ทัพภาคที่ 4 เพราะมีแนวโน้มเห็นด้วยกับมาตรการเคอร์ฟิว โดยจากการให้สัมภาษณ์ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 9 ก.พ. เจ้าตัวบอกว่าการประกาศเคอร์ฟิวจะทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้สะดวกขึ้น หากประชาชนคนไหนเดือดร้อนก็ขออนุญาตได้ มีธุระก็ขอเจ้าหน้าที่ได้ แต่ถ้าไม่ให้ประกาศ ประชาชนก็ต้องดูแลตัวเอง กลางคืนอย่าออกมาจากบ้าน
ส่วนภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ชัดเจนว่าคัดค้านกันพรึ่บทั้งสามจังหวัด
ดังนั้นจุดชี้ขาดจึงต้องรอการประชุม ศปก.กปต.ในวันศุกร์ที่ 15 ก.พ.นี้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร เพราะ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ก็แสดงท่าทีว่าเป็นเรื่องของ ศปก.กปต.
รัฐผิดคิวอ้างพื้นที่ไม่รุนแรง
เป็นที่น่าสังเกตว่า พื้นที่ 2 อำเภอที่ ร.ต.อ.เฉลิม ยกขึ้นมาระหว่างการให้สัมภาษณ์ คือ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี กับ อ.กรงปินัง จ.ยะลา จริงๆ แล้วไม่ใช่อำเภอที่ติดกลุ่มมีสถิติการเกิดเหตุรุนแรงสูง ซึ่งก็เป็นไปตามที่แม่ทัพภาคที่ 4 ได้บอกเอาไว้จริงๆ
เพราะเมื่อพลิกดูสถิติการเกิดเหตุรุนแรงย้อนหลังที่เก็บรวบรวมโดยส่วนปฏิบัติการและรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์ปฏิบัติการร่วมทางยุทธวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เอง พบว่า ตลอดปี 2555 ทั้ง อ.กรงปินัง และ อ.ยะหริ่ง ไม่ติดกลุ่มอำเภอที่เกิดเหตุรุนแรงบ่อยครั้ง (เดือนละ 4-6 ครั้งหรือมากกว่านั้น) แม้แต่เดือนเดียว
นอกจากนั้นในส่วนของ อ.กรงปินัง ยังมีอีก 3 เดือนคือเดือน ก.พ. เม.ย.และ พ.ย.ที่ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลยด้วย!
ที่สำคัญ หากย้อนดูสถิติการเกิดเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะพบว่าเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ หรือเหตุรุนแรงประเภทสะเทือนขวัญ ทั้งคาร์บอมบ์ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ หรือยิงครู ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน เช้าหรือเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังพลมีวงรอบในการออกปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยเฉพาะการลาดตระเวน และรักษาความปลอดภัยครู หรือในช่วงพลบค่ำ ซึ่งแทบทั้งหมดอยู่นอกเวลาเคอร์ฟิว (21.00-04.00 น. ตามที่เคยประกาศเมื่อปี 2550-2552 ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อ.ยะหา กับ อ.บันนังสตา จ.ยะลา)
ตะลุมบอนผ่านสื่อสะท้อนไร้เอกภาพ
แม้สถิติการเกิดเหตุรุนแรงจะไม่ได้เป็นตัวชี้วัด 100% ว่าพื้นที่นั้นๆ มีการเคลื่อนไหวของขบวนการก่อความไม่สงบในระดับรุนแรงหรือไม่ เพราะบางพื้นที่กลุ่มขบวนการอาจใช้เป็นสถานที่หลบซ่อน กบดาน จึงเลือกที่จะไม่ก่อเหตุก็เป็นได้ ทว่าการแสดงทัศนะโดยสวนทางกับตัวเลขสถิติที่มองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ย่อมทำให้การประกาศมาตรการเคอร์ฟิวมีความชอบธรรมน้อยลง
ยิ่งไปกว่านั้น การที่บุคคลระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลยังมีความเห็นแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ถึงขั้นเปิด "วิวาทะ" ผ่านสื่อ ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความไร้เอกภาพของระดับนโยบาย ทั้งๆ ที่สถานการณ์ไฟใต้ดำเนินมาเกือบจะครบ 1 ทศวรรษแล้ว ศปก.กปต.ที่จัดตั้งขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ จึงเป็นเหมือน "องค์กรกระดาษ" ที่ไม่มีความหมายใดๆ เพราะไม่ได้สร้างเอกภาพหรือการบูรณาการให้เกิดขึ้นจริงตามที่กล่าวอ้าง
ทั้งๆ ที่การแก้ไขปัญหาการให้สัมภาษณ์กันไปคนละทิศละทางจน "เข้าทาง" ฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามกันรัฐ คือวัตถุประสงค์สำคัญข้อหนึ่งของการตั้ง ศปก.กปต.
เหตุรุนแรงถี่ยิบ "เข้าทางใคร?"
เป็นที่น่าสังเกตว่าหลังจากคนในรัฐบาลออกมาพูดเรื่อง "เคอร์ฟิว" สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ก็ร้อนแรงขึ้นเป็นลำดับ ล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ก.พ.2556 เกิดเหตุ "คาร์บอมบ์" ที่ อ.รามัน จ.ยะลา จนต้องสูญเสียทหารไปถึง 5 นาย และตลอดทั้งวันก็ยังมีความพยายามสร้างสถานการณ์ขึ้นอีกหลายๆ จุด
พิจารณาตามรูปการณ์เสมือนหนึ่งเป็นการโหมความรุนแรงก่อนวันศุกร์ที่ 15 ก.พ. ซึ่งเป็นวันประชุม ศปก.กปต.เพื่อสรุปว่าจะประกาศเคอร์ฟิวกันหรือไม่ ท่ามกลางเสียงคัดค้านอย่างกว้างขวางจากผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในพื้นที่
ความชัดเจนประการหนึ่งก็คือ การประกาศเคอร์ฟิวจะทำให้ฝ่ายรัฐ "เสียมวลชน" ไประดับหนึ่งแน่ๆ เพราะย่อมไม่มีใครอยากให้บ้านของตนเองตกอยู่ในมาตรการคุมเข้มของทหารราวกับเป็นพื้นที่การรบหรือสงคราม แค่การตั้งด่านและใช้กฎหมายพิเศษเท่าที่ดำรงอยู่ โดยเฉพาะพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) อย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบ 8 ปี ชาวบ้านก็แทบสำลักอยู่แล้ว
สำหรับคนนอกพื้นที่ลองนึกถึงบรรยากาศหลัง 19 พ.ค.2553 ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง แล้วเกิดเหตุการณ์เผาเมืองจนต้องประกาศเคอร์ฟิวว่ามันเป็นอย่างไร ถ้ายังจำกันได้ก็คงพอจะทราบคำตอบว่าชาวบ้านที่ชายแดนใต้จะชอบหรือไม่หากรัฐเลือกใช้มาตรการนี้
ที่สำคัญ หากรัฐเลือกประกาศเคอร์ฟิวในบางอำเภอจริง แล้วสถานการณ์ดูเหมือนจะสงบลง ก็ไม่ได้ความว่าพื้นที่นั้นจะสงบตลอดไป เพราะกลุ่มผู้ก่อเหตุเลือกที่จะรอได้ ด้านหนึ่งคือ "รอ" ไม่ก่อเหตุในสถานการณ์ที่ตนเองเสี่ยงจะเพลี่ยงพล้ำหรือเสียเปรียบ ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ "รอ" ให้รัฐและฝ่ายความมั่นคงเสียเครดิตไปเรื่อยๆ จากการใช้มาตรการเข้มข้นซึ่งกระทบสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม
การเลือกใช้มาตรการเคอร์ฟิวจึงไม่ใช่เครื่องการันตีความสงบสุข หนำซ้ำยังเสี่ยงล้มเหลวหากเลือกประกาศเฉพาะบางพื้นที่ บางอำเภอ เพราะมาตรการทางทหารลักษณะนี้ต้องใช้ในแนวกว้าง คือประกาศให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายและเขตติดต่อทั้งหมด เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเบ็ดเสร็จ รวดเร็ว แต่มันไม่ได้ตอบโจทย์ "สงครามกองโจรในเมือง" ที่เน้นความยืดเยื้อยาวนานอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ตลอดสัปดาห์นี้มีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุรุนแรงซ้ำซ้อนขึ้นอีก เพื่อกดดันรัฐให้จำต้องประกาศเคอร์ฟิว ซึ่งเมื่อประกาศเมื่อไรก็จะ "เข้าทาง" ฝ่ายขบวนการก่อความไม่สงบเมื่อนั้น ทั้งในแง่ที่ชาวบ้านต่อต้าน และในแง่ที่รัฐดิสเครดิตตัวเอง เนื่องจากยังต้องใช้ "ยาแรง" แสดงว่าสถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นจริง สวนทางกับสิ่งที่ ร.ต.อ.เฉลิม เคยพูดไว้เองว่า สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถิติการเกิดเหตุร้ายน้อยกว่า จ.นครศรีธรรมราช เสียอีก
ถึงที่สุดแล้วการประกาศเคอร์ฟิวจึง "เข้าทาง" ขบวนการป่วนใต้ และ "คนมีสีกลุ่มหนึ่ง" ที่ยังมีแนวคิดเชื่อมั่นกับการใช้มาตรการกดทับประชาชนว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาความไม่สงบได้ชะงัด...แค่นั้นเอง