มุมมอง‘อนาคตเกษตรไทย’ รอดหรือล้มในเออีซี?
นับถอยหลังก้าวสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มาร่วมกันมองว่า "เส้นทางเกษตรไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน" มีอนาคตแค่ไหน ในเวทีวิชาการวันเกษตรแห่งชาติ’56
ประชานิยมดับโอกาสตลาดเกษตรไทยในเออีซี
การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในวันที่ 31 ธ.ค. 2558 ที่จะถึงนี้ หากมองในแง่การค้าการลงทุนย่อมหมายถึงโอกาสที่ 10 ประเทศอาเซียนจะขยายฐานตลาดจากกลุ่มลูกค้าในประเทศไม่กี่สิบล้านคนไปสู่ชาวอาเซียนกว่า 600 ล้าน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประชากรร้อยละ 8.8 ของโลก ยิ่งไปกว่านั้นหากนับอาเซียน+3 โดยรวมประเทศจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเข้ามา ประชากรอาเซียนจะมีมากกว่า 2,100 ล้านคน และหากรวมเป็นอาเซียน+6 โดยเพิ่มประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดียเข้ามาแล้ว ประชากรอาเซียนจะมีมากกว่า 3,200 ล้านคน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ที่พ่อค้าและนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจในขณะนี้
หากมองธุรกิจภาคเกษตรในอาเซียน จากการวิเคราะห์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) พบว่า การค้าสินค้าเกษตรไทยกับอีก 9 ประเทศอาเซียน มีสัดส่วนตลาดเพิ่มขึ้นจากปี 2546 ที่ร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2554 และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สวนทางกับสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรกับสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปที่ลดลงเพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยในปี 2555 ที่ผ่านมาไทยมีกำไรสุทธิจากการค้าสินค้าเกษตรกับอาเซียนคิดเป็นมูลค่าถึง 1.92 แสนล้านบาท โดยสินค้าส่งออกสำคัญมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ยางพารา น้ำตาลทราย ข้าวเจ้าขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้น 2 และครีมเทียม ขณะที่สินค้านำเข้ามูลค่าสูงสุด คือ รังนก ผลิตภัณฑ์ใบยาสูบ เมล็ดกาแฟ และอาหารปรุงแต่งที่ใช้เลี้ยงทารกที่ผลิตจากนม
แม้แนวโน้มของภาคเกษตรไทยในอาเซียนที่สศก.วิเคราะห์จะค่อนข้างสดใส แต่ไทยก็ยังมีคู่แข่งสำคัญแบ่งตามชนิดสินค้าดังนี้ 1.ข้าว คู่แข่งคือ เวียดนามและอินเดีย 2. ผลไม้ คู่แข่ง คือ เวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลีย 3. ยางธรรมชาติ คู่แข่งคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม และ4.น้ำมันปาล์ม คู่แข่งคือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งหลายชนิดสินค้ามีต้นทุนและราคาต่ำกว่าของไทยอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่นักวิชาการอาวุโสมองว่าแม้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี จะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจโดยรวม แต่สำหรับภาคเกษตรไทยกลับมีแนวโน้มประสบปัญหาภายใต้สถานการณ์ที่เห็นได้ชัดว่า ภาคเกษตรไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยกำลังถูกทอดทิ้ง! รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยมีการพัฒนาและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตร เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกในปี 2554 ซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรม 6,882.64 ล้านบาท และสินค้าเกษตรเพียง 987.52 ล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อปีต่อครัวเรือนของเกษตรกรอยู่ที่ปีละ 110,700 บาท (ปี 2554) แบ่งเป็นรายได้ในภาคเกษตรร้อยละ 40 และรายได้นอกภาคเกษตรร้อยละ 60
ซึ่งหากมองการแข่งขันภาคเกษตรของตลาดโลกและอาเซียนในอนาคตจะพบว่ามีแนวโน้มต้องการสินค้าที่ปลอดภัยมีคุณภาพมากขึ้น เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ จากระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งแม้ไทยจะมีนโยบายที่ส่งเสริมแต่ในทางปฏิบัติรัฐกลับดำเนินการสวนทางโดยเน้นแต่นโยบายประชานิยมที่ไม่สอดคล้องกับการเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขัน ที่ต้องเน้นการแข่งขันกันด้วยคุณภาพและต้นทุนที่ต่ำ เช่น โครงการรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท รับจำนำแต่ข้าวเคมีแต่ไม่รับจำนำข้าวอินทรีย์คุณภาพปลอดสารพิษด้วย
เช่นเดียวกับดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ที่มองว่าการเข้าสู่เออีซีจะทำให้ภาคเกษตรไทยเสียเปรียบจากความพยายามในการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน หรือ AFTA (เริ่มเปิดมาตั้งแต่ 1 ม.ค. 53) เนื่องจากหลายประเทศตั้งกฎเกณฑ์หรือกำแพงทางการค้าสูงแม้จะปลอดภาษี ขณะที่กำแพงทางการค้าของไทยกลับเปิดกว้างมากที่สุด นอกจากนี้เกษตรกรไทยยังมีจำนวนน้อยลง โดยจากการวิจัยพบว่ามีเกษตรกรที่จะมีทายาทสืบทอดอาชีพเพียงร้อยละ 0.9 ทั้งยังเป็นเป็นเกษตรกรที่มีหนี้สินมากที่สุดและได้กำไรต่ำที่สุดในอาเซียน ขณะที่ด้านคุณภาพของสินค้าสำคัญอย่างข้าว ไทยก็กลายเป็นรอง โดยถูกประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาและพม่าโค่นแชมป์ข้าวหอมที่คุณภาพดีที่สุดในโลกแล้วไปแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนในการประกวดสุดยอดข้าว
ขณะที่ภาคเอกชนอย่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังย้ำถึงความเสียเปรียบด้านต้นทุนการผลิตอันเป็นผลมาจากนโยบายค่าจ้าง 300 บาทว่า ค่าจ้างวันละ 300 บาทของแรงงานไทย สามารถนำไปจ้างแรงงานลาวได้วันละ 3 คน เวียดนาม 4 คน กัมพูชา 5 คน และจ้างแรงงานพม่าได้ถึงวันละ 9 คน โดยที่แรงงานเวียดนามมีศักยภาพสูงเกินค่าจ้างเสียด้วยซ้ำ จึงเชื่อได้ว่าเวียดนามจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว
เทคโนฯชีวภาพ ดันช่องทางอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์พืช
อย่างไรก็ดีในเวทีวิชาการมีการกล่าวถึงธุรกิจหนึ่งที่ดูไปได้ไกลยิ่งขึ้นหากเข้าสู่เออีซี และตอนนี้ไทยยังเป็นที่ 1 ในอาเซียน นั่นคือ อุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ดร.บุญญานาถ นาถวงษ์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) อธิบายให้เห็นถึงมูลค่ามหาศาลของการขายเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดว่า ปีๆหนึ่งไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,400 ล้านบาท และผลิตขายในประเทศคิดเป็นมูลค่าเท่าๆกัน โดยเกษตรกรนำเมล็ดพันธุ์ (seed – ขยายพันธุ์ได้)มูลค่า 1,400 ล้านบาทนี้ ไปผลิตได้เป็นเมล็ดพืขข้าวโพด (grain – เมล็ดที่ไว้บริโภค) ซึ่งสศก.ประเมินออกมาคิดเป็นมูลค่าถึง 44,000 ล้านบาท โดยเมล็ดข้าวโพดที่ผลิตได้นี้นำไปสู่อุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อุตสาหกรรมปศุสัตว์, แปรรูปอาหารสัตว์, การผลิตน้ำมันที่ต้องใช้ข้าวโพด และการผลิตแป้งข้าวโพด ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาลที่ไทยสามารถเลี้ยงตัวเองได้ด้วยเมล็ดข้าวโพดที่ผลิตได้เอง ขณะเดียวกันเกษตรกรกว่า 3 หมื่นครัวเรือนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดขายยังมีรายได้รวมกันปีละกว่า 3,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่เกษตรกรเลี้ยงตัวเองได้จริงโดยที่รัฐบาลไม่จำเป็นต้องช่วยรับซื้อเข้าโครงการรับจำนำ
โดยในปี ค.ศ. 2050 ธนาคารโลกคาดว่า ประชากรโลกจะมีจำนวนถึง 9,000 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มี 6,700 ล้านคน ด้วยประชากรจำนวนมหาศาลขนาดนั้น ความต้องการอาหารก็จะยิ่งมากขึ้น รวมถึงความต้องการบริโภคอาหารคุณภาพ เช่น กลุ่มอาหารปศุสัตว์ ไก่ หมู วัว ฯลฯ ก็จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 40 หมายความว่าความต้องการอาหารสัตว์ เช่น เมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเมล็ดพันธุ์อื่นๆก็จะมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือเป็นโอกาสของเกษตรกรไทยที่จะร่ำรวยขึ้นจากการผลิตเมล็ดพันธุ์
อย่างไรก็ดีประเทศเพื่อนบ้านเช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม เริ่มขยับตัวมาผลิตและส่งออกเมล็ดข้าวโพดรวมทั้งเมล็ดพันธุ์อื่นๆแข่งขันกับไทยแล้ว หากเราไม่สามารถรักษาฐานการเมล็ดพันธุ์ไว้ได้และปล่อยให้ประเทศอื่นผลิตได้มากและถูกกว่าไทย ภาคอุตสาหกรรมก็จะนำเข้าเมล็ดข้าวโพดจากต่างชาติ ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดภาวะขาดดุลทางการค้าแล้ว เกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดข้าวโพดที่เคยหารายได้ได้ด้วยตนเองก็จะอยู่ไม่ได้ และต้องกลายเป็นภาระของรัฐบาล
โดยเชื่อว่าในอนาคตเหตุการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้น หากสังคมไทยยังมีความเชื่อผิดๆและไม่ยอมรับเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ๆ อย่าง เทคโนโลยีชีวภาพ หรือ ไบโอเทคโนโลยี หรือที่เรียกกันอย่างน่าหวาดกลัวว่า การผลิตพืชจีเอ็มโอ (พืชที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม ถูกคัดสรรแต่ยีนส์ที่มีลักษณะดี) โดยมีการผลิตสร้างความเชื่อว่าไบโอเทคโนโลยีเป็นอันตรายต่อร่างกายผู้บริโภคและความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การดัดแปลงปรับปรุงพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตต่างๆเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวันตามกระบวนการธรรมชาติเพื่อกำจัดจุดด้อยและความไม่สมดุล อย่างไรก็ดีท่ามกลางความหวาดระแวงของไทย หลายประเทศทั่วโลกเช่น สหรัฐ อเมริกา อินเดีย เวียดนาม และเพื่อนบ้านโดยรอบไทยมีการผลิตและพัฒนาพันธุ์พืชจากไบโอเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และสินค้าหลายอย่างคนไทยได้รับประทาน(โดยที่ไม่รู้ตัว)มานาน
เช่นเดียวกับ ศ.พิเศษ ดร.สุทัศน์ ศรีวัฒนพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ที่มองว่า เทคโนโลยีทางการเกษตรพันธุวิศวกรรมคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ไทยแข่งขันสูงตลาดในอนาคตได้ เนื่องจากการพัฒนาพืชจีเอ็มโอจะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิต อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ(รักษายีนส์ดีไว้) โดยสามารถคัดเลือกยีนส์ที่เป็นประโยชน์ เช่น ต้านแมลง ต้านโรคพืช ให้ธาตุอาหาร และให้ผลผลิตสูงมารวมกันไว้ได้ นอกจากนี้ยังปรากฎงานวิจัยในปี 2539 – 2553 ที่พบว่าการปลูกพืชไบโอเทคหรือจีเอ็มโอสามารถลดการใช้สารเคมีอันตรายได้ถึง 440 ล้านกิโลกรัม โดยลดผลกระทบที่เกิดจากการใช้หรือรับประทานสารเคมีได้มากถึงร้อยละ 17.9 เช่นนี้แล้วการปลูกพืชจีเอ็มโอจึงได้รับการยอมรับให้ปลูกและขยายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว
“ถ้าวันนี้เราไม่เตรียมตัวเรื่องไบโอเทคฯและยังมีความเชื่อผิดๆ ต่อไปเราจะเมล็ดพันธุ์ที่ตลาดไม่ต้องการ เพราะอนาคตตลาดต้องการพืชที่พันธุกรรมดีที่ไปแก้ปัญหาการเกษตรได้ ต่อไปเราจะไม่มีเมล็ดพันธุ์ดีไปขายแข่งสู้อินโดนีเซียและเวียดนาม ทำให้อุตสาหกรรมเราล่มสลายตั้งแต่ต้นน้ำ ” ดร.บุญญานาถ กล่าว
ทางรอดเกษตรไทย : มุมมองรัฐ-เอกชน-ประชาสังคม
จะเห็นได้ว่าการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเออีซีภายใต้ระบบการค้าและการลงทุนที่เสรี ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียแล้วแต่จะมองมุมไหนและมุมของใคร อย่างไรก็ดีภาคส่วนต่างๆได้ชี้หนทางที่ภาคเกษตรไทยจะอยู่รอดได้และไม่ตามหลังเพื่อนบ้านไว้ดังนี้
ภาครัฐ : โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) จะเร่งขับเคลื่อนนโยบายสร้างเกษตรกรปราดเปรื่องหรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อสร้างเกษตรที่มีความรู้และสามารถนำข้อมูลมาวางแผนจัดการการผลิตตลอดจนการตลาดได้ นอกจากนี้จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการพัฒนาพันธุ์ สนับสนุนแหล่งน้ำ พัฒนาดิน และการจัดระบบการปลูกพืช(โซนนิ่ง)ตามความเหมาะสมของพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาผลผลิตขาด-ล้นตลาด รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรในระบบสหกรณ์ตามวาระแห่งชาติด้านสหกรณ์เพื่อให้เกษตรกรรายย่อยเข้มแข็งและมีอำนาจต่อรองกับตลาดได้ โดยเลขาธิการสศก.แสดงความคาดหวังว่าสหกรณ์เกษตรไทยจะเป็นได้ทั้งผู้ผลิต ผู้แปรรูป พ่อค้าคนกลางและผู้ส่งออกด้วยตนเอง
ภาคธุรกิจรายใหญ่ : นายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) มองโอกาสให้ภาคเอกชนว่า แม้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรในบ้านเราจะสูงและเสียแชมป์ส่งออกสินค้าสำคัญอย่างข้าวไป แต่ไทยสามารถชดเชยส่วนแบ่งการตลาดข้าวที่สูญเสียไปด้วยการเข้าไปลงทุนการปลูกข้าวในประเทศเพื่อนบ้าน ดำเนินการแปรรูป และที่สำคัญจะต้องทำตัวเป็นพ่อค้าคนกลางนำข้าวไปขายในตลาดโลกแทนสิงค์โปร์ให้ได้ โดยแนะวิธีแก้ผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำในพื้นที่ที่ระบบชลประทานเข้าไม่ถึงให้เกษตรกรเปลี่ยนมาปลูกพืชพลังงานอย่างปาล์มน้ำมัน ผลิตเป็นไอโอดีเซลใช้ในประเทศแทน ขณะที่ต้องส่งเสริมให้พื้นที่ปลูกข้าวในเขตที่ระบบน้ำสมบูรณ์มีผลผลิตต่อไร่มากกว่า 1 ตันให้ได้
ภาคเกษตรรายย่อย : นักวิชาการอาวุโสของชาติ อย่างรศ.สมพรและดร.วิวัฒน์ ให้ข้อชี้แนะสำหรับเกษตรกรรายย่อยซึ่งจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดว่า หนทางที่เหล่ากระดูกสันหลังชาติจะเติบโตและอยู่รอดได้ในเออีซี คือ การภาครัฐและสถาบันการศึกษาต้องดึงงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรใหม่ระดับบน เช่น ไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี ลงสู่พื้นล่างเพื่อสร้างศักยภาพการผลิตและขยายโอกาสการแข่งขัน โดยจะต้องมีกระบวนการที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันสร้างความเข้มแข็งในชุมชน ผลิตสินค้าคุณภาพที่มีเอกลักษณ์สนองความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ นิชมาร์เก็ต (Niche Market) ให้ได้ ขณะที่ตัวเกษตรกรเองจะต้องยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการใช้ชีวิต ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิด ไม่หวังพึ่งเพียงการขายสินค้าใดสินค้าหนึ่ง เพื่อให้สามารถอยู่รอดและพึ่งพาตนได้ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดอาเซียนข้างหน้า
…………………
เวลานี้คำว่าอาเซียนหรือเออีซีไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ แต่การจะทำให้ไทยเดินไป(อย่างองอาจ)บนเส้นทางนี้ ย่อมไม่ใช่เพียงลมปาก…พรศิลป์ พัชรินตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องเริ่มที่การแก้ปัญหาภายในประเทศขจัดความขัดแย้งคน 4 กลุ่ม ได้แก่ นักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ และเอ็นจีโอ ซึ่งจะต้อง “ร่วมมือกันแข่งกับเพื่อนบ้าน ไม่ใช่หันมาฆ่ากันเอง”.
ที่มาภาพ ::: http://education.kapook.com/view25763.html