เยือน "ปอเนาะญิฮาด" เรื่องราวที่มากกว่าข่าวอายัดที่ดิน
คำสั่งของ ปปง. หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ที่ให้อายัดทรัพย์ชั่วคราวโรงเรียนญิฮาดวิทยา แม้จะเป็นข่าวฮือฮาแต่ก็เพียงแค่วันสองวัน ไม่ได้ทำให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่กลางดงมะพร้าวใน ต.ตะโละกาโปร์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แห่งนี้มีชีวิตขึ้นมาแต่อย่างใด
เพราะโรงเรียนญิฮาดวิทยา หรือ "ปอเนาะญิฮาด" ถูกปิดตายและกลายสภาพเป็นเพียงอาคารไม้เก่าๆ ที่ถูกทิ้งร้าง ตั้งแต่ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงปิดล้อมตรวจค้นเมื่อ 19 พ.ค.2548 และทางการมีคำสั่งปิดการเรียนการสอนในอีก 2 วันถัดมา
คำว่า "ญิฮาดวิทยา" ทำให้เจ้าหน้าที่และคนนอกพื้นที่ที่ไม่มีความเข้าใจในภาษามลายูมองโรงเรียนแห่งนี้อย่างไม่ไว้วางใจ โดยนำคำว่า "ญิฮาด" หรือ Jihad ไปโยงกับข่าวระเบิดพลีชีพหรือการกระทำรุนแรงของนักรบมุสลิมตามการปั้นแต่งของสื่อตะวันตก ทั้งๆ ที่คำว่า "ญิฮาด" มีหลายมิติความหมาย และความหมายที่ "บาบอเฮง" ผู้ก่อตั้งโรงเรียนต้องการสื่อ ก็คือความจริงจังในทุกๆ เรื่อง ทั้งจริงจังกับการเรียน การทำงาน และอยู่ร่วมกันกับเพื่อนมนุษย์ ไม่ได้ต้องการสื่อถึงสงครามหรือความรุนแรงเลยแม้แต่น้อย
ยาวาฮี แวมะนอ หญิงมุสลิมวัย 46 ปี ลูกสาวของบาบอเฮง เล่าว่า บิดาของเธอเปิดปอเนาะญิฮาดเมื่อปี พ.ศ.2511 บนที่ดินที่อยู่ห่างจากหมู่บ้านที่อาศัยอยู่ 1 หมู่ แต่เปิดได้เพียง 10 ปี คือปี พ.ศ.2521 บิดาของเธอก็ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างขี่รถจักรยานยนต์ไปร่วมงานเมาลิดพร้อมกับครูที่สอนอยู่ในโรงเรียน หลังจากนั้นสามีของเธอ อับดุลเลาะ แวมะนอ จึงมารับช่วงดูแลโรงเรียนต่อจากบิดาที่ล่วงลับ
"ตอนนั้นฉันอายุ 17 ปี เมื่อพ่อถูกยิงตายก็ไม่มีคนดูแลปอเนาะ ชาวบ้านและผู้ใหญ่หลายฝ่ายเห็นว่าอับดุลเลาะเป็นลูกศิษย์ของพ่ออยู่แล้ว เป็นคนนิสัยดี เรียนเก่ง แม้จะยากจน แต่คิดว่าไม่มีปัญหาหากจะเป็นผู้บริหารโรงเรียนต่อไป ก็เลยจับฉันแต่งงานกับอับดุลเลาะ และสามีก็บริหารโรงเรียนเรื่อยมากระทั่งถูกปิดเมื่อปี 2548" ยาวาฮี เล่าย้อนอดีต
การเป็นเจ้าของโรงเรียนปอเนาะในสมัยก่อน หาใช่เครื่องหมายของความร่ำรวยหรือมีอันจะกิน แต่เป็นเครื่องหมายแห่งบุญจากการให้การศึกษาเยาวชน และเป็นเครื่องหมายแห่งศรัทธาที่ชาวบ้านมอบความไว้วางใจให้ "บาบอ" ในฐานะเจ้าของโรงเรียน ดูแลบุตรหลาน
"ปอเนาะญิฮาด" ก็เช่นกัน ยาวาฮี บอกว่า ค่าใช้จ่ายในการเปิดและบริหารโรงเรียนช่วงแรกเป็นเงินทำบุญจากชาวบ้าน และซะกาต (เงินบริจาค) จากมาเลเซีย เด็กที่เข้าเรียนที่โรงเรียนจะไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ เลย เมื่อสูญเสีย "บาบอเฮง" จึงทำให้กิจการของโรงเรียนทรุดลงในช่วงแรกๆ ยังดีที่ชาวบ้านซึ่งรักและเคารพบิดาของเธอระดมกำลังช่วยเหลือทุกอย่าง
"ชาวบ้านมาช่วยสร้างบ้านหลังที่อยู่จนทุกวันนี้ มาช่วยกระทั่งค่าน้ำมันรถของอุสตาซ (ครู) ที่มาสอนหนังสือ โดยชาวบ้านช่วยกันออกให้ครูวันละ 20 บาท ถ้าอุสตาซคนไหนพักอยู่ที่ปอเนาะ (กระท่อมในโรงเรียน ใช้เป็นที่พักของเด็กๆ ที่อยู่ประจำ และครู) ก็จะหุงข้าวให้กิน ตอนนั้นมีเด็กนักเรียน 150 คน ก็สอนกีตาบ (คัมภีร์) กับแนวทางศาสนา ความรู้เรื่องศาสนา และมี กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) ถึง ม.6"
ยาวาฮี บอกว่า ทุกอย่างเปลี่ยนไปเมื่อโรงเรียนถูกเจ้าหน้าที่ปิดล้อมตรวจค้นและถูกสั่งปิด เธอเคยพูดกับตัวเองว่า "เชื่อเถอะ...หมู่บ้านนี้ต้องเกิดความวุ่นวาย" และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
"คนที่นี่มีฐานะยากจน ใครไม่มีเงินก็จะพาลูกหลานมาเรียนที่นี่ เพราะที่นี่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เรียนเช้าก็กลับไปกินข้าวที่บ้านตอนเที่ยงได้ บางคนปลูกพริก ปลูกผัก ก็จะรดน้ำก่อน ช่วงเที่ยงค่อยมาเรียนหนังสือ เรียนถึงเย็นก็กลับไปทำงานต่อได้อีก แล้วก็มาเรียนตอนกลางคืนอีกรอบ ก็ถือว่าเป็นที่พึ่งของคนที่นี่ ที่สำคัญเรายังรับเด็กที่โรงเรียนอื่นไม่รับ เด็กที่โรงเรียนอื่นเอาไม่อยู่ เพราะถือว่าถึงอย่างไรก็เป็นเด็ก ควรให้ความรู้มากกว่าขับไล่ไสส่ง ฉะนั้นเราจึงมีลูกศิษย์ลูกหามากพอสมควร แต่พอโรงเรียนถูกปิด เด็กๆ ก็ไม่มีความรู้ ไม่มีการศึกษา พ่อแม่ไม่ได้ส่งเรียนต่อ แล้วยาเสพติดก็เข้ามาในชุมชนเยอะมาก ปัญหาอีกหลายๆ อย่างก็ตามมา"
วันที่ "ปอเนาะญิฮาด" ถูกตรวจค้น ยาวาฮียังจำได้ดี เพราะบ้านของเธอก็ตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียน
"วันที่ถูกปิดล้อมมีนักเรียนแค่ 2 คน เพราะโรงเรียนยังไม่เปิด น้องชายฉันก็ถูกจับ แต่จับไปสักพักก็ปล่อยกลับมา หลังจากนั้นเขาก็ไม่กล้าอยู่บ้าน วันปิดล้อมเจ้าหน้าที่ยึดรถยนต์ไป 2 คัน มอเตอร์ไซค์อีก 1 คัน แต่ภายหลังคืนรถยนต์มาแค่คันเดียว อีกคันยังไม่ได้คืน ไม่รู้หายไปไหน รถคันนั้นผ่อนได้แค่ 2 เดือน ยังไม่ได้โอนชื่อเลย จากนั้นก็เลยไม่ได้จ่ายค่างวด ไม่รู้ว่าเจ้าของรถที่ อ.รือเสาะ (จ.นราธิวาส) เจอปัญหาอะไรบ้างหรือไม่ ส่วนครอบครัวของฉัน หลังจากนั้นไม่กี่เดือนน้องชายก็ถูกยิงตายไปอีกคน"
เมื่อโรงเรียนถูกสั่งปิด อาคารทุกหลังก็ถูกทิ้งร้าง ยกเว้นบาลัย (สถานที่ละหมาด) ที่ชาวบ้านลงขันกันซื้ออุปกรณ์มาช่วยกันก่อสร้างเพียงอาคารเดียวที่ยังใช้งานอยู่ ยาวาฮี เล่าว่า ที่ผ่านมาเวลามีกิจกรรมอะไรของชุมชน เช่น งานเมาลิด หรือละหมาดตะรอเวียะห์ (ช่วงเดือนรอมฎอน) ก็จะใช้บาลัยเป็นสถานที่จัดงานหรือประกอบศาสนกิจ แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงในมัสยิดอัลฟุรกอน บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2552 ก็ได้ตัดสินใจหยุดจัดกิจกรรมทุกอย่าง เพราะกลัวเกิดเหตุร้ายซ้ำรอยไอร์ปาแย
"อาคารเรียนทุกหลังถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้สอย ที่พังไปแล้วก็มี กำลังจะพังก็มี สุดท้ายก็ต้องพังทั้งหมด เพราะไม่คิดเปิดโรงเรียนใหม่อีกแล้ว ฉันคิดว่าสิ่งที่รัฐทำเกินไป และหนักมากสำหรับฉัน"
กับข่าวครึกโครมที่ ปปง.แถลงผ่านสื่อทุกแขนงว่าสาเหตุที่ต้องอายัดทรัพย์ปอเนาะญิฮาดเพราะเป็นสถานที่ฝึกอาวุธของกลุ่มก่อความไม่สงบ และผู้บริหารโรงเรียนมีพฤติการณ์สนับสนุนการก่อการร้ายนั้น ยาวาฮี ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่เธอข้องใจว่าที่ดินเนื้อที่ 14 ไร่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียน ราคาประเมิน 5.9 แสนบาทตามที่ ปปง.ประกาศอายัดนั้น ปปง.ดำเนินการได้อย่างไร
"รู้สึกงงกับข่าวที่สื่อเสนอ เพราะยังไม่ได้รับหนังสือใดๆ จาก ปปง. สิ่งที่ต้องการที่สุดตอนนี้คือความเป็นธรรม ที่ดินแปลงไหนที่ถูกอายัดก็ยังไม่รู้ และที่ดินทั้งหมดของโรงเรียนและบ้านที่อยู่ก็ไม่ใช่ของอับดุลเลาะ เพราะเขาเป็นเขย ที่ดินผืนนี้เป็นของคนในตระกูลฉัน และมีเจ้าของร่วมถึง 5 คน"
ความรู้สึกของ ยาวาฮี ไม่แตกต่างจาก ซูไฮลา แวมะนอ ลูกสาววัย 28 ปีของเธอ ที่บอกว่า พอได้ยินข่าวรู้สึกตกใจมาก และหลังจากนั้นก็มีโทรศัพท์จากหลายๆ คน หลายๆ พื้นที่ ทั้งที่เป็นศิษย์เก่า เพื่อนบ้าน ทุกคนโทร.มาถามว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า มีที่มาที่ไปอย่างไร มีข้อเท็จจริงอย่างไร พอตอนเช้าชาวบ้านก็มาถามอีก
"เราก็ได้แต่งง เพราะไม่มีหนังสือจาก ปปง.ส่งมา ถามคนในบ้านก็ไม่มีใครได้รับหนังสือ แต่กลับมีข่าวบอกว่า ปปง.อายัดที่ดิน 14 ไร่ ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงอย่างไรเพราะ ปปง.ไม่ได้แจ้ง เรารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะที่ดินไม่ได้เป็นชื่อของพ่อ (อับดุลเลาะ) เนื่องจากพ่อเป็นเขย คนที่มีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินคือลุง น้า แม่ รวม 5 คน ฉะนั้นถ้าจะมาอายัดที่ดินเพราะเคยถูกเจ้าหน้าที่บอกว่าเป็นที่เลี้ยงผู้ก่อความไม่สงบ ก็คิดว่าไม่ยุติธรรมกับพวกเราเลย" ซูไฮลา บอก
ไม่เฉพาะคนในครอบครัวแวมะนอ และบาบอเฮง ที่มีความรู้สึกกับเรื่องนี้ แต่ เมาะรองิง วาจิ หญิงชราวัย 70 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้โรงเรียนมาตั้งแต่เด็กก็รู้สึกเช่นเดียวกัน
"โรงเรียนนี้เปิดตอนเมาะ (ยาย) เป็นสาวๆ ไม่ว่าใครที่ยากจนก็จะมาพึ่งปอเนาะแห่งนี้ ปอเนาะมีสวนมะพร้าว มีข้าว ชาวบ้านยังได้รับบริจาคจากปอเนาะด้วย พอมีลูกหลานก็ส่งมาเรียน เมื่อโรงเรียนถูกปิดก็เดือดร้อนกันหมด ลูกหลานบางคนไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีเงินส่ง เมาะเองก็เหมือนกันเพราะเป็นคนจน รู้สึกเสียใจที่โรงเรียนถูกปิด และยิ่งมารู้ว่าที่ดินของปอเนาะมาถูกอายัดอีก ก็คิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อย่าไปทำเขาให้หนักกว่านี้เลย แค่นี้พวกเขาก็โดนกันหนักแล้ว"
เป็นเรื่องราวและความรู้สึกของคนที่เกี่ยวพันกับโรงเรียนญิฮาดวิทยา สถาบันที่แม้จะถูกปิดร้าง แต่ยังไม่ร้างไปจากหัวใจของผู้คน...
----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1-4 อาคารเรียนและปอเนาะที่ถูกทิ้งร้าง
5-7 ยาวาฮี ขณะกำลังโชว์โฉนดที่ดินซึ่งมีชื่อผู้ครอบครองถึง 5 คน
หมายเหตุ : ชมคลิปวิดีโอเพิ่มเติมได้ใน https://www.facebook.com/photo.php?v=10151297105085784&set=vb.132990610046563&type=2&theater