“ปฏิญญาปัตตานี” นำอิสลามศึกษาสู่สันติสุขโลก
"คำประกาศปัตตานี" จะเป็นดั่งบทสรุปของการประชุมครั้งนี้ และ "เข็มทิศ" ที่ทุกองคาพยพจะก้าวเดินต่อไป
ทั้งนี้ ตัวแทนจากประเทศจอร์แดนรับหน้าที่กล่าวเป็นภาษาอาหรับ ขณะที่ รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นตัวแทนประเทศไทยกล่าวเป็นภาษาอังกฤษ โดยมี นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี และ ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยานในพิธีประกาศปฏิญญาเพื่อนำอิสลามศึกษาสู่สันติสุขของโลก
สาระของคำประกาศปฏิญญาปัตตานี ได้แก่
1.นำอิสลามศึกษาไปสู่สันติสุขแก่มนุษยชาติทุกคน
2.บูรณาการศาสตร์อิสลามศึกษาให้เกิดการพัฒนาต่อสังคม
3.ให้การศึกษาอิสลามเป็นศาสตร์ที่มีชีวิตชีวา บูรณาการให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในการนำความเจริญไปสู่สังคมที่มีความสงบสุข
4.ควรเน้นเรื่องอิสลามศึกษาในแนวทางที่จะนำไปสู่ความร่วมมือในระดับโลก
5.จัดให้ทุกประเทศได้มีโอกาสในการพูดคุยระหว่างสมาชิกด้วยกัน และเน้นนำเสนอให้ประชาคมมุสลิมได้ประพฤติปฎิบัติเรื่องสิทธิ เสรีภาพ เพื่อให้มีการปกป้องและป้องกันความคิดสุดโต่ง และป้องกันมรดกทางสังคม
ในคำประกาศปฏิญญาปัตตานียังเน้นสิ่งที่ต้องพัฒนาร่วมกันใน 7 ประเด็นหลัก ได้แก่
1.เน้นเรื่องการสร้างความสมดุลสำหรับผู้ที่จะเรียนในประเทศต่างๆ และการให้ความสำคัญต่อศาสนาอิสลาม โดยกำหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการศึกษาอิสลาม หรือ เอสซีซีโอ ทำงานในเรื่องนี้ให้สำเร็จภายในปี 2555
2.พยายามจัดตั้งศูนย์วิจัยวิชาการอิสลาม หรือ อาร์โอเอ็ม พร้อมจัดตั้งเครือข่ายการทำวิจัยร่วมกันเพื่อให้ง่ายและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอิสลามศึกษา
3.สร้างความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นระหว่างนักคิดในด้านวิชาการและวิจัยหลากหลายสาขาที่เน้นไปสู่การศึกษาอิสลาม
4.สร้างความพยายามในการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางด้านการศึกษา อาจารย์ นักศึกษา ให้มีความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน
5.ให้มีการจัดหลักสูตรทางการศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโลกาภิวัตน์ เพื่อให้มีประสบการณ์และพัฒนามากยิ่งขึ้น
6.ให้วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเป็นศูนย์กลางการศึกษาภาษาอาหรับในประเทศไทย
7.กำหนดให้มีการประชุมนานาชาติทุกๆ 2 ปีที่ จ.ปัตตานี เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยนความเห็นและรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
“ในปฏิญญาปัตตานีซึ่ง ม.อ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) รับผิดชอบดูแล จะมีบริบทส่งเสริมสร้างสันติสุข เสรีภาพ และพัฒนาเยาวชนอิสลามรุ่นใหม่ให้มีโอกาสและชีวิตที่ดีในสังคมหลังยุคโลกาภิวัฒน์ เน้นความร่วมมือในการพัฒนาและกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาด้านวิชาการอิสลามศึกษาร่วมกัน เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในระดับนานาชาติ เปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างประเทศมีโอกาสเข้ามาเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทางอิสลามศึกษา คาดว่าหลังการสัมมนาครั้งนี้จะได้แนวคิดโครงการและแนวคิดการจัดกิจกรรมที่เป็นระดับนานาชาติอีกมากกว่า 10 โครงการ” รศ.ดร.บุญสม กล่าว
ขณะที่ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์สำคัญเชิงจิตวิทยาของประเทศไทย และต้องจัดครั้งต่อไปอีกในอนาคต
“ขอแสดงความชื่นชมต่อรัฐบาล นายกรัฐมนตรี ม.อ.ปัตตานี และทุกฝ่ายที่ทำให้การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของปัตตานีและประเทศไทย ถือเป็นปรากฏการณ์สำคัญเชิงจิตวิทยาและความมั่นคง มีอุลามะฮ์มาร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการและเติมเต็มการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ความผูกพันให้เป็นส่วนเดียวกัน เป็นความพยายามสนับสนุนศาสนาอิสลามในพื้นที่ ให้เห็นถึงภาพลักษณ์อันดีงามของไทยที่ได้ส่งเสริมกิจการศาสนาอิสลาม ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามกรอบวิถีวัฒนธรรมของตน” นายอาศิส กล่าว
--------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศในนาทีประกาศปฏิญญาปัตตานี
2 นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี