เปิดประชุมนานาชาติ...ดัน ม.อ.ปัตตานีสู่ "ศูนย์กลางอิสลามศึกษาโลก"
นายกฯเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยอิสลามศึกษา ระดมความเห็นจากนักวิชาการและนักการศาสนา 16 ประเทศร่วมออกแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสังคมยุคหลังโลกาภิวัตน์ หวังดัน "ม.อ.ปัตตานี" เป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาและภาษาอารบิคของโลก ผลิตบัณฑิตป้อน "อาหรับ-อาเซียน" ชี้เป็นหัวใจพัฒนาสันติสุขชายแดนใต้
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยบทบาทของอิสลามศึกษาในยุคสังคมหลังโลกาภิวัตน์ หรือ International Conference “Roles of Islamic Studies in Post Globalized Societies” เมื่อวันอังคารที่ 21 ธ.ค.2553 เพื่อผลักดันให้ ม.อ.ปัตตานี เป็นศูนย์กลางด้านอิสลามศึกษาของโลก โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด และมีคณาจารย์ ตลอดจนนักวิชาการและผู้นำศาสนากว่า 350 คนจาก 16 ประเทศเข้าร่วม อาทิ กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย กาตาร์ คูเวต จอร์แดน โมรอคโค แอฟริกาใต้ ซูดาน อิยิปต์ เป็นต้น
ศ.ดร.กนก วงศ์ตระหง่าน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี ม.อ. และ ดร.ยูโซะ ตาเละ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี ร่วมกันแถลงข่าว โดย ศ.ดร.กนก กล่าวตอนหนึ่งว่า การสัมมนาครั้งนี้คือโจทย์ที่สำคัญมากของโลกมุสลิม คือจะทำอย่างไรกับการเรียนการสอนเรื่องอิสลามศึกษาให้สอดคล้องและเป็นประโยชน์กับสังคมในยุคหลังโลกาภิวัฒน์ เพราะที่ผ่านมาเนื้อหาสาระของอิสลามศึกษาใช้ประโยชน์ได้อย่างจำกัดและขาดแคลนวิชาชีพต่างๆ ทำให้คนที่เรียนจบอิสลามศึกษาไม่มีงานทำ ทั้งที่ในประวัติศาสตร์อิสลามศึกษา เริ่มต้นจากวิชาชีพและครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นศาสนา สังคม วัฒนธรรม วิชาช่าง วิชาแพทย์ สิ่งแวดล้อม และชุมชน
แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วง 500-600 ปีที่ผ่านมา ทำให้วิชาชีพถูกแยกออกจากวิชาอิสลามศึกษา ทำให้มิติวิชาชีพลดลง การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่นักวิชาการจากทั่วโลกจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และปัตตานีเหมาะเป็นศูนย์กลางเพื่อตอบโจทย์อิสลามศึกษาในยุคหลังโลกาภิวัฒน์ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่เป็นการตอบโจทย์ของทั้งโลก
ตั้งเป้าศูนย์กลางภาษาอารบิคโลก-ผลิตบัณฑิตป้อน"อาหรับ-อาเซียน"
"รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อจัดส่งอาจารย์ไปศึกษาต่อต่างประเทศ แลกเปลี่ยนนักศึกษา รวมทั้งในอนาคตวิทยาลัยอิสลามศึกษา ม.อ.ปัตตานี จะเป็นศูนย์กลางการสอนภาษาอารบิคที่ได้มาตรฐานระดับโลก เป็นศูนย์กลางเรื่องภาษา การวิจัย และส่งเสริมให้มีการสอนภาษาอาหรับ รวมทั้งจัดทดสอบภาษาอาหรับเช่นเดียวกับการสอบโทเฟลด้วย เพื่อให้นักศึกษาที่สอบผ่านไม่ต้องเรียนภาษาอาหรับใหม่ในต่างประเทศ พร้อมทั้งสร้างบทบาทเชิงวิชาการให้กับการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้” ศ.ดร.กนก กล่าว และว่า มีแผนจะจัดประชุมวิชาการนานาชาติลักษณะนี้ทุกๆ 2 ปี
รศ.ดร.บุญสม กล่าวว่า ม.อ.ปัตตานี มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางอิสลามศึกษาของโลก ตั้งแต่ปี 2545 มหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมสู่ความเป็นเลิศร่วมกับวิทยาลัยอิสลามศึกษา เช่น สนับสนุนให้เพิ่มจำนวนอาจารย์จากเดิม 14 ท่าน ปัจจุบันมีอาจารย์ไทยและต่างชาติเกือบ 40 คน เพิ่มครุภัณฑ์และอุปกรณ์การสอน รวมทั้งเพิ่มงบประมาณ และในอนาคตอันใกล้ วิทยาลัยอิสลามศึกษาจะมีสถาบันพัฒนาครูสอนวิชาอิสลามศึกษา เพื่อพัฒนาครูสอนศาสนาอิสลามให้มีคุณภาพสูงขึ้น จะมีศูนย์ภาษาอารบิค และได้วางแนวทางพัฒนาศาสตร์ทางด้านอิสลามศึกษา สร้างนักศึกษาให้เป็นเยาวชนของโลกที่มีความสามารถสูง (Competitive global citizens)
"นักศึกษาในพื้นที่จะมีความสามารถด้านภาษาอราบิค ภาษามาลายู ภาษาอังกฤษ และภาษาไทย ทำให้นักศึกษาสามารถอยู่ในสังคมโลกาภิวัตน์ที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน และสามารถไปประกอบอาชีพในสังคมตะวันออกลาง สังคมอาเซียน และสังคมอื่นๆ ทุกพื้นที่บนโลกใบนี้ได้ นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยยังมีโครงการจะนำวิชาอิสลามศึกษาไปสู่การเรียนการสอนในหลักสูตรอื่นๆ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เมื่อเรียนรู้อิสลามศึกษา ก็สามารถไปเป็นวิศวกรในอินโดนีเซียหรือตะวันออกกลางได้อย่างไม่มีการติดขัดด้านวัฒนธรรม เช่นเดียวกับพยาบาลศาสตร์ก็สามารถไปทำงานในที่แห่งใดก็ได้ ถ้ารู้ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาอารบิค และวัฒนธรรมมุสลิม"
ออกแบบอิสลามศึกษา...หัวใจพัฒนาสันติสุขชายแดนใต้
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความชื่นชมที่มหาวิทยาลัยจัดการประชุมวิชาการด้านอิสลามศึกษาขึ้น ซึ่งเป็นการระดมแนวคิดจากผู้นำศาสนาอิสลามและนักวิชาการด้านอิสลามศึกษาจากต่างประเทศจำนวนมาก นับเป็นการประชุมวิชาการครั้งสำคัญและเป็นหัวใจของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ที่ยังต้องการการพัฒนาสู่ความสงบสุข ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ทั้งทางด้านศาสนาและการศึกษาทางโลก
"เราต้องเข้าใจว่าอิสลามไม่ได้ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างศาสนากับการศึกษาหลักสูตรทั่วไป เนื่องจากมีส่วนเสริมซึ่งกันและกัน โดยมีเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ดังนั้นผู้ศึกษาจำเป็นต้องมีความเพียรพยายามอย่างสูง เพื่อจะได้ปฏิบัติตามแนวทางของอิสลามได้อย่างถูกต้อง นักศึกษาจึงจำเป็นต้องศึกษาความรู้ด้านอื่นๆ ควบคู่กันไปกับความสนใจและความสามารถส่วนตัวด้วย อิสลามศึกษาในศตวรรษที่ 21 ต้องมีการออกแบบให้สอดคล้องกับการศึกษาด้านอื่นๆ ซึ่งทำให้แน่ใจได้ว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะสามารถแข่งขันในตลาดงานที่มีผลตอบแทนสูงได้ จึงจำเป็นต้องมีทักษะที่เหมาะสมและคุณสมบัติพิเศษร่วมด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว
รอลุ้นคำประกาศ"ปฏิญญาปัตตานี"
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ธ.ค. ผู้แทนรัฐบาลและผู้บริหาร ม.อ.ปัตตานี ได้เปิดแถลงข่าวที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เรื่องการจัดงานสัมมนาวิชาการนานาชาติว่าด้วยบทบาทของอิสลามศึกษาในยุคหลังโลกาภิวัตน์ เพื่อผลักดันหลักสูตรอิสลามศึกษาให้เป็นมาตรฐานสากลรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ และเป็นหนทางใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจและสันติภาพของโลก
การแถลงข่าวในวันนั้น นายสมัย เจริญช่าง รองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ชาวมุสลิมในประเทศไทยนับว่าได้รับเสรีภาพทางศาสนาไม่น้อย หรือบางครั้งมากกว่าสิทธิเสรีภาพที่ชาวมุสลิมในประเทศมุสลิมได้รับเสียอีก เช่น การสร้างมัสยิด การจัดการศึกษา ซึ่งการใช้พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ม.อ.ปัตตานี เป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง
“ดังที่ปราชญ์ของโลกมุสลิมได้เคยอุปมาอุปไมยไว้ว่า 'ถ้าเมกกะฮ์คือศูนย์กลางของบ้านหลังหนึ่ง อาเจะห์ของอินโดนีเซียคือหน้าต่างบ้านทางทิศตะวันออก ปัตตานีก็คือระเบียงของบ้าน’ ดังนั้นเมื่อใครจะเข้าสู่ตัวบ้านก็ต้องผ่านระเบียงเป็นเบื้องต้น การจัดเวทีอิสลามนานาชาติจึงเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่นักวิชาการจากทั่วโลกจะได้เห็นว่าประเทศไทยมีสิทธิเสรีภาพทางศาสนา และไม่ได้ถูกลิดรอนสิทธิ์อย่างที่มีความเข้าใจกัน” นายสมัย กล่าว
สำหรับการประชุมวิชาการนานาชาติฯ จะใช้เวลา 3 วัน และในวันสุดท้ายจะมีการลงนามร่วมกันใน "ประกาศปฏิญญาปัตตานี" เพื่อเป็นเข็มทิศในการทำงานต่อไป และปฏิญญาปัตตานีจะเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ของโลกที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย
--------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : เนื้อหาข่าวบางส่วนจากสำนักข่าวเนชั่น และภาพข่าวโดย จรูญ ทองนวล