โพลล์หนุนห้ามขายน้ำอัดลมในโรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยม
เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แถลงข่าวผลการสำรวจ “พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล และความคิดเห็นต่อการห้ามจำหน่ายน้ำอัดลม ในสถานศึกษา ของเด็กวัยเรียน และหนุ่มสาววัยทำงาน ในกรุงเทพมหานคร และ 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่”
เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานพบว่า คนไทยรับประทานน้ำตาลสูง กลุ่มเด็กและวัยรุ่นนิยมดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ แม้จะมีความรู้ว่าการกินหวานมากเกินไปนั้นทำให้เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ อาทิ โรคอ้วน ฟันผุ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
จากการสำรวจของเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน และศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (เอแบคโพลล์) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ พบว่า ในเด็กวัยเรียน และหนุ่มสาววัยทำงาน ในกรุงเทพมหานคร และ 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา รวมทั้งสิ้น 2,238 ตัวอย่าง พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
ตัวอย่าง 2 ใน 3 ยังไม่ลดหรือควบคุมการกินหวาน เกือบ 1 ใน 4 ดื่มน้ำอัดลมเป็นประจำทุกวัน/เกือบทุกวัน บางรายยังดื่มมากกว่า 1 ขวด/กระป๋องต่อวัน และคนที่ดื่มน้ำอัดลมนี้เกือบครึ่งหนึ่งมักทานขนมขบเคี้ยวกรุบกรอบควบคู่ไปด้วยทุกครั้งหรือที่มีโอกาส
เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลงจนถึงระดับ “หวานน้อย” พบว่าไม่มีผลทำให้กลุ่มตัวอย่างดื่มเครื่องดื่มลดลง แต่เมื่อสอบถามถึงการขึ้นราคา พบว่าหากปรับขึ้นราคาน้ำอัดลม ชา กาแฟ จะมีผลต่อการตัดสินใจลดหรือเลิกดื่ม ยิ่งปรับราคามากขึ้น ยิ่งมีผลต่อการตัดสินใจลดหรือเลิกมากขึ้นตามลำดับ มาตรการด้านภาษีจึงอาจส่งผลต่อการควบคุมเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาล
ด้านความคิดเห็นต่อมาตรการการห้ามจำหน่ายน้ำอัดลมในสถานศึกษา พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่สนับสนุนมาตรการดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการห้ามจำหน่ายในโรงเรียนอนุบาล ประถม และมัธยม
จากผลการสำรวจครั้งนี้ ทพญ. ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน กล่าวว่า “ความคิดเห็นจากการสำรวจครั้งนี้สนับสนุนมาตรการโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสหวานในสถานศึกษาที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดเป็นนโยบาย ส่วนมาตรการด้านภาษีและราคา แม้การศึกษานี้จะสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศ ที่พบว่าเป็นมาตรการที่ช่วยลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงได้ หากแต่ในทางปฏิบัติยังคงต้องมีการประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินการในแง่มุมอื่นๆ เพิ่มเติม”