ปั้นคะแนน "โอเน็ต" ชายแดนใต้...ข้อกล่าวหากับคำชี้แจง
ห้วงเวลานี้ (วันที่ 2-3 ก.พ. และ 10-11 ก.พ.) ทุกจังหวัดทั่วประเทศกำลังจัดสอบ "โอเน็ต" ประจำปีการศึกษา 2555 กันอยู่ แต่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีการตั้งข้อสังเกตถึงคะแนนสอบ "โอเน็ต" ของเด็กในพื้นที่เมื่อปีที่แล้วว่าอาจมีความไม่โปร่งใส เพราะคะแนนน่าจะสูงเกินจริง
การสอบโอเน็ต (O-NET) หมายถึง การทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ Ordinary National Education Test จัดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยจะใช้วัดความรู้และความคิดของนักเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 6 (ป.6) มัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.3) และ ม.6
ทั้งนี้ ข้อสอบโอเน็ตจะประกอบไปด้วยเนื้อหา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย, สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม, ภาษาอังกฤษ, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สุขศึกษาและพลศึกษา, การงานอาชีพและเทคโนโลยี, ศิลปะ โดยคะแนนสอบโอเน็ตนอกจากเป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยแล้ว ยังเป็นคะแนนที่นักเรียนในระดับชั้นต่างๆ ต้องนำไปใช้ในการสมัครเข้าเรียนต่อระดับชั้นต่อไปด้วย เช่น นักเรียนชั้น ป.6 ก็ต้องใช้คะแนนสอบโอเน็ตในการสมัครเข้าศึกษาต่อในระดับ ม.1 เป็นต้น
สำหรับปัญหาที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา หนึ่งในคณะผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาจากมูลนิธิพัฒนาการศึกษาและสงเคราะห์สังคม (EDS) ซึ่งได้รับมอบหมายจากสำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้เข้าประเมินสถานศึกษาของรัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 20 แห่ง และได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความผิดปกติของคะแนนสอบโอเน็ตโดยผ่านการเขียนบทความที่ชื่อ "การก่อการร้ายต่อเด็กจังหวัดชายแดนใต้ของผู้ใหญ่ กรณีศึกษาผลการสอบ O-NET"
โรงเรียนปิดบ่อยทำไมคะแนนสูง?
บทความดังกล่าว ระบุว่า นักเรียนชายแดนใต้ในอดีตก่อนปี 2554 ผลสอบโอเน็ตทุกวิชาและทุกระดับชั้นของโรงเรียนในพื้นที่มีคะแนนอยู่ในอันดับสุดท้ายของประเทศ คือ อันดับที่ 75-77 ตลอดมา แต่ในปี 2554 กลับพบว่าคะแนนสอบโอเน็ตสูงขึ้นอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะในโรงเรียนของรัฐ ทั้งๆ ที่ในสภาพความเป็นจริงการจัดการศึกษาท่ามกลางความรุนแรงประสบปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนปิดบ่อย การหยุดเรียน เลิกเรียนก่อนเวลา เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบในหมู่บ้าน ผู้เรียนย่อมไม่สามารถไปเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ (ขาดเรียนบ่อย) แต่กลับมีหลายวิชาที่ผลการสอบโอเน็ตได้คะแนนสูงขึ้นหากพิจารณาจากค่าเฉลี่ยระดับประเทศ
บทความของนายอับดุลสุโก อ้างอิงข้อมูลจากบทความของ ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิ สุข-แก้ว แก้วแดง อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งยกตัวอย่างคะแนนสอบโอเน็ตของนักเรียนที่ชายแดนใต้ซึ่งมีทิศทางที่ดีขึ้น เช่น วิชาภาษาอังกฤษ นักเรียนจาก จ.ยะลา ได้คะแนนดีที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีคะแนนเฉลี่ยร้อยละ 38.96 เป็นอันดับที่ 27 ของประเทศ สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ อีก 50 จังหวัด อาทิ ราชบุรี สมุทรปราการ สงขลา และนครศรีธรรมราช ทั้งยังสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 38.37 ถึงร้อยละ 0.59
ขณะที่ จ.นราธิวาส ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 37.48 อยู่ในอันดับที่ 35 และ จ.ปัตตานี ได้คะแนนเฉลี่ยร้อยละ 34.88 อยู่ในอันดับที่ 51 ของประเทศ ซึ่งยังสูงกว่า จ.กาญจนบุรี พัทลุง ตรัง และสตูล
วิชาภาษาไทย จ.ยะลา ได้คะแนนร้อยละ 42.69 สูงเป็นอันดับที่ 52 ของประเทศ ตามด้วย จ.ปัตตานี อันดับที่ 57 จ.นราธิวาส อันดับที่ 74 สูงกว่าสามจังหวัดที่ได้อันดับสุดท้ายของประเทศ คือ จ.แม่ฮ่องสอน พังงา และสตูล เป็นต้น
อ่านไทยยังไม่คล่อง-สงสัยผู้ใหญ่สั่งปั้นตัวเลข
บทความของนายอับดุลสุโก ระบุต่อว่า หากดูตัวเลขผลสอบโอเน็ตอย่างผิวเผิน ก็น่าจะดีใจว่าคุณภาพการศึกษาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังดีขึ้น แต่จากการที่คณะผู้ประเมินคุณภาพการศึกษาจากมูลนิธิพัฒนาการศึกษาและสงเคราะห์สังคมได้เข้าประเมินสถานศึกษาของรัฐกว่า 20 แห่งในพื้นที่ซึ่งมีคะแนนโอเน็ตสูงกว่าหลายจังหวัดในประเทศไทย โรงเรียนหนึ่งคะแนนภาษาอังกฤษผ่าน แต่เมื่อไปสัมภาษณ์นักเรียนชั้น ม.1 (เรียนชั้น ป.6 ในปีการศึกษาที่ผ่านมา) กลับพบว่าอ่านภาษาอังกฤษหรือแม้แต่ภาษาไทยยังไม่คล่อง ขณะที่การคิดวิเคราะห์ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้หนึ่งของการประเมิน ทุกโรงเรียนที่เข้าไปประเมินอยู่ในระดับแค่ "พอใช้"
บทความระบุด้วยว่า จากการตรวจสอบในเชิงลึกของคณะผู้ประเมินฯ ในแต่ละโรงเรียนที่เข้าประเมิน พบข้อสังเกตที่เป็นไปได้เกี่ยวกับความไม่โปร่งใสในการจัดสอบโอเน็ต ซึ่งไม่ใช่โรงเรียนเดียว แต่อาจมีหลายโรงในพื้นที่ทำเป็นขบวนการ จากผู้ใหญ่ตั้งแต่ระดับโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษา หรืออาจจะมีการส่งสัญญาณจากระดับผู้ใหญ่ที่สูงกว่านั้นด้วย เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน อันจะส่งผลดีต่อผู้บริหารสถานศึกษา เพราะผลสอบโอเน็ตเป็นหนึ่งในเกณฑ์ชี้วัดความสามารถของผู้บริหารสถานศึกษา
นายอับดุลสุโก ดินอะ ยังได้ตั้งคำถามไว้ในบทความว่า "หากนักเรียนยังอ่านหนังสือไม่ว่าภาษาไทยหรืออังกฤษยังไม่คล่อง จะทำข้อสอบวิเคราะห์ระดับชาติได้อย่างไร" และชี้ว่าหากพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะถือเป็นการก่อการร้ายอย่างร้ายแรงต่อเด็กสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะผู้ใหญ่ได้หน้า แต่คุณภาพการศึกษาที่แท้จริงของเด็กยังต่ำอยู่
ในท้ายบทความ นายอับดุลสุโก ยังแนะนำให้ผู้อ่านไปอ่านบทความของ ดร.รุ่ง แก้วแดง กับ นายประสิทธิ์ หนูกุ้ง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสงขลา เขต 3 ซึ่งเขียนและให้ข้อมูลในทำนองว่าผลสอบโอเน็ตรายวิชาของเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ดีขึ้นด้วย
ย้อนดูบทความ "รุ่ง แก้วแดง – ประสิทธิ์ หนูกุ้ง"
สำหรับบทความของ ดร.รุ่ง เผยแพร่ในเว็บไซต์หนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2555 ในชื่อ "ข่าวดี...ที่ชายแดนใต้" (อ่านเพิ่มเติมที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350347716&grpid=03&catid=03) เนื้อหาในบทความส่วนหนึ่งเป็นการชื่นชมครูและโรงเรียนในพื้นที่ที่ช่วยกันทำให้คะแนนสอบโอเน็ตของนักเรียนประจำปีการศึกษา 2554 ดีขึ้น โดยเฉพาะในวิชาภาษาไทย ทั้งๆ ที่เด็กนักเรียนในพื้นที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยเป็นภาษาพูดที่บ้าน
บทความของ ดร.รุ่ง ยังอธิบายเหตุผลว่า สาเหตุที่หลายโรงเรียนในพื้นที่ชายแดนใต้มีคะแนนโอเน็ตภาษาไทยดีขึ้น เพราะนำวิธีการสอนใหม่ๆ มาใช้ เช่น ใช้คาราโอเกะเป็นสื่อการสอนภาษาไทย ทำให้เด็กฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาไทยด้วยความสนุก เป็นต้น โดยได้ยกตัวอย่างโรงเรียนที่ผลสอบโอเน็ตวิชาภาษาไทยได้คะแนนสูงสุดใน 3 จังหวัดว่าคือ โรงเรียนบ้านน้ำใส อ.มายอ เขตการศึกษา 2 จังหวัดปัตตานี ได้คะแนนร้อยละ 82.13 ตามด้วยโรงเรียนบ้านบือลอ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี ร้อยละ 78.40
อย่างไรก็ดี บทความของ ดร.รุ่ง ก็ได้กล่าวถึงคะแนนสอบโอเน็ตวิชาอื่นๆ ของนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งผลออกมายังไม่ดีนักด้วย โดยเฉพาะวิชาสังคมศึกษา และคณิตศาสตร์ ที่ยังติดกลุ่ม 4 อันดับรั้งท้ายของประเทศ รวมทั้ง 3 กลุ่มวิชา คือ สุขศึกษาและพลศึกษา วิชาศิลปะ และวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ที่มีคะแนนอันดับที่ 75-77 คือ 3 อันดับสุดท้ายของประเทศ
ส่วนบทความของ นายประสิทธิ์ หนูกุ้ง นำเสนอในบล็อค GotoKnow ชื่อ "การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้" เป็นการแจกแจงผลสอบรายวิชาเมื่อปี 2552 ระบุว่าโรงเรียนใน 11 เขตพื้นที่การศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลคะแนนใกล้เส้นมาตรฐานระดับชาติ ซึ่งหมายถึงดีขึ้น แต่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ (อ่านเพิ่มเติมใน http://www.gotoknow.org/posts/362981)
ผอ.สพท.รับมีไม่โปร่งใส-แจงเป็น"คะแนนเฉลี่ย"
จากการตรวจสอบเอกสาร "ผลการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา" พบว่าผลประเมินตัวชี้วัดการสอบโอเน็ตของโรงเรียนต่างๆ มีคะแนนคละกันไป ทั้งดีและไม่ดี พอใช้ และต้องปรับปรุง ส่วนการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนแยกเป็นกลุ่มสาระวิชา ก็มีทั้งต้องปรับปรุง พอใช้ ดี และดีมาก
แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (ผอ.สพท.) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ความไม่โปร่งใสในการสอบโอเน็ตนั้น บางส่วนเกิดขึ้นจริง แต่เป็นเรื่องรายบุคคล ไม่ใช่ภาพรวมระดับโรงเรียนหรือระดับจังหวัด และเป็นเรื่องที่ป้องกันยาก โดยเฉพาะช่วงชั้น ป.6 เพราะเมื่อเปิดภาคการศึกษาใหม่ เด็กก็นำคะแนนสอบโอเน็ตไปเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนใหม่แล้ว การตรวจสอบย้อนหลังจึงทำได้ยากมาก แต่ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ก็พยายามแก้ไขและหาทางป้องกันอย่างดีที่สุด
แหล่งข่าวย้ำว่า ปัญหาความไม่โปร่งใสไม่ได้เกิดขึ้นทั้งหมด มีเพียงบางส่วน เพราะต้องยอมรับว่าบางโรงเรียนที่เด็กเก่งจำนวนมากๆ ก็มี บางโรงเรียนได้ครูสอนภาษาอังกฤษดี ก็ทำให้คะแนนพุ่งสูงขึ้น แต่บางโรงเรียนที่ผลสัมฤทธิ์ต่ำก็มี โดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจนครูขอย้ายออก
"ต้องเข้าใจว่าคะแนนเฉลี่ยโอเน็ตของจังหวัด มาจากการหารเฉลี่ยคะแนนของนักเรียนทุกโรงเรียน การที่คะแนนโอเน็ตดีขึ้นจึงไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนต้องเก่งขึ้นหรือมีพัฒนาการขึ้นเสมอไป เพราะเป็นค่าถัวเฉลี่ยระหว่างเด็กเก่ง เด็กปานกลาง และเด็กที่ไม่เก่ง"
ปัด ผอ.โรงเรียนได้ผลงาน – ศอ.บต.รับตรวจสอบ
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าบางโรงเรียนพยายามผลักดันให้คะแนนโอเน็ตของสถานศึกษาตนเองสูงขึ้น เพื่อหวังผลในการประเมินผู้บริหารสถานศึกษา และอาจมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานมากขึ้นนั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า ข้อสังเกตนี้มีส่วนจริงอยู่บ้างแต่ไม่ทั้งหมด เพราะผลสอบโอเน็ตและผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเป็นหนึ่งใน 10 ตัวชี้วัดในการประเมินคุณภาพของผู้บริหารสถานศึกษา การจะมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน หรือเลื่อนระดับจากระดับ 7 เป็นระดับ 8 ต้องมีตัวชี้วัดอื่นสนับสนุนด้วย และโรงเรียนที่ตนเองบริหารก็ต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะแค่ผลสอบโอเน็ต
มีรายงานว่า ประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่โปร่งใสของการสอบโอเน็ตของสถานศึกษาบางแห่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดย นายพีระศักดิ์ รัตนะ ผู้อำนวยการสำนักประสานนโยบายการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา ได้รับทราบข้อมูลแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 คลินิกภาษาไทย เป็นห้องติวเข้มวิชาภาษาไทยให้กับเด็กนักเรียนที่อ่อนภาษาไทย โดยเฉพาะเด็กมุสลิมในพื้นที่ที่ใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน โดยห้องติวเข้มแบบนี้มีแม้แต่ในโรงเรียนเอกขนสอนศาสนาอิสลาม
2 เด็กนักเรียนกำลังเดินแถวกลับบ้านโดยมีครูรอส่ง (ภาพทั้งหมดโดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)