อีกครั้งกับ “นครปัตตานี” 8 ความคาดหวังของคนพื้นที่ต่อรูปแบบการปกครองใหม่
จากเวที “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย: ความจริงหรือความฝัน” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งตรงกับวันรัฐธรรมนูญ และได้จุดประเด็น “การปกครองตนเอง” กับ “การจัดรูปการปกครองใหม่” จนฮือฮาไปทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล่าสุดวันรัฐธรรมนูญในปีนี้ ก็ได้มีเวทีสาธารณะว่าด้วย “นครปัตตานี” อีกครั้ง ในหัวข้อที่ลึกซึ้งกว่าเดิมคือ “นครปัตตานีภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ความฝันที่จับต้องได้?"
เวทีสาธารณะดังกล่าว ใช้สถานที่เดียวกับเมื่อวันเดียวกันของปีที่แล้ว คือที่ห้องประชุมใหญ่ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยมีองค์กรขับเคลื่อนชุดเดิม คือเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บรรยากาศโดยรวมคึกคักไม่แพ้ปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง
ที่สำคัญตามสี่แยกใหญ่ๆ ริมถนนสายหลักทั่วสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีคัตเอาท์ขนาดเขื่องของพรรคเพื่อไทย ปะรูป พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรค พร้อมข้อความโดนใจ “นูซันตารา...นครปัตตานี” เป็นการสร้างกระแสเรียกน้ำย่อยก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นอย่างแน่นอนในปีหน้าอีกด้วย
และนั่นทำให้วลี “นครปัตตานี” ฮิตติดปากและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน...
พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม ประธานเครือข่ายภาคประชาสังคม 23 องค์กรฯ และสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วทางองค์กรได้จัดเวทีสาธารณะมาแล้วครั้งหนึ่งในหัวข้อเดียวกัน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทางองค์กรเครือข่ายจึงได้ประสานความร่วมมือกับสภาพัฒนาการเมือง สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจำนวน 47 เวที กระจายไปทั่วทุกอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้กระทั่งในชุมชนพี่น้องไทยพุทธ และได้รวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดมาเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบในเวทีสาธารณะปีนี้ เพื่อช่วยกันผลักดันความฝันให้เป็นความจริง
เวที “นครปัตตานี” เริ่มต้นที่ รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปาฐกถานำในประเด็น “สิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ระบอบประชาธิปไตยเปรียบเสมือนผ้าหลากสีที่มาอยู่รวมกัน ทุกคนมีความเป็นมนุษย์ก่อนเป็นพลเมือง แต่ละคนมีศิลปะวิทยาการไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนต้องมีศิลปะการเมือง (Civil Wisdom) คือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ โดยมีสำนึกถูกผิดชั่วดี เมื่อทำผิดก็รู้สึกผิดในใจ และมีการใช้ภาษาในการสื่อสารโดยไม่ต้องใช้กำลังในการจัดการความขัดแย้ง
สังคมโบราณที่ผ่านมามักมีการปกครองโดยคนๆ เดียว ทำให้อำนาจกระจุกตัว ต่อมาจึงมีแนวคิดการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีอำนาจในตัวเอง และร่วมกันตัดสินใจเพื่อกำหนดทิศทางของบ้านเมือง ทว่าประเทศไทยทุกวันนี้อำนาจกลับไปกระจุกตัวอยู่ที่รัฐสภา และคิดว่าจะยังคงเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน
“ระบอบประชาธิปไตยเหมือนผืนผ้าที่ประดับประดาไปด้วยผ้าชิ้นเล็กๆ หลากหลายสี เหมือนสิทธิที่ต้องเคารพซึ่งกันและกัน ประชาธิปไตยต้องมาก่อน สังคมจึงจะสงบสุข เช่นเดียวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เปรียบเสมือนดอกไม้สีหนึ่งของเมืองไทย เราจะยอมให้มีดอกไม้สีอื่นอยู่ด้วยหรือไม่ การจะเป็นเมืองปลอดสุราหรือพูดภาษายาวีไม่ได้สร้างปัญหา แต่กลับบ่งบอกถึงความมีวัฒนธรรมของตนเอง สิ่งสำคัญคือต้องมีอำนาจกลางการันตีสิทธิเสรีภาพในพื้นที่แห่งนี้ หลักประกันเมื่อกระจายอำนาจกลับมาจะต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมและความเสมอภาคอย่างแท้จริง” รศ.ดร.ไชยันต์ ซึ่งเพิ่งพ้นข้อกล่าวหาคดีฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อปี 2549 กล่าว และย้ำว่า สิ่งที่บ่งบอกความเป็นพลเมืองคือสิทธิทางการเมือง
หลังการปาฐกถาของ รศ.ดร.ไชยันต์ ได้มีการรายงานสรุปความคิดเห็นของประชาชนจากที่ได้เปิดเวทีรับฟังมาถึง 47 เวที พบว่ามีความคาดหวังพื้นฐาน 8 ประการของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ต่อการเมืองการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวคือ
1.รูปแบบการปกครองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1 คือ “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้”
2.ต้องเป็นการปกครองที่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมทางการเมืองในลักษณะที่ทุกฝ่ายเกิดความรู้สึกว่าตนเองมีที่ยืนและเป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย รับฟังเสียงส่วนใหญ่โดยไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย คำนึงถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่าง รวมทั้งมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพที่เป็นรูปธรรมแก่คนไทยพุทธซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของพื้นที่
3.ต้องมีผู้บริหารที่มีอำนาจสูงสุดทางการปกครองเป็นคนในพื้นที่ มีจำนวนข้าราชการไทยพุทธและไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในสัดส่วนที่สอดคล้องกับจำนวนประชากร ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริหารและข้าราชการที่มีสำนึกรักท้องถิ่น และมีความรู้ความเข้าใจในวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง
4.ต้องมีกลไกที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในการริเริ่ม เสนอแนะ และตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการของท้องถิ่น รวมทั้งกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะผู้บริหารท้องถิ่นได้ในระดับที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าตนเองได้มีอำนาจในการจัดการชีวิตของตัวเองดังที่กำหนด
5.ต้องมีระบบการกลั่นกรองผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นที่สามารถลดการแข่งขันแตกแยกในชุมชนและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในระดับหนึ่งว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวนหนึ่งเป็นบุคคลที่มีคุณธรรมและความรู้ความสามารถเหมาะสมกับการเป็นตัวแทนประชาชนอย่างแท้จริง
6.ควรต้องใช้ภาษาไทยและภาษามลายูปัตตานีควบคู่กันไปบนสถานที่และป้ายต่างๆ ของทางราชการ
7.ต้องมีระบบการศึกษาที่อยู่ในมาตรฐานกลางของกระทรวงศึกษาธิการ สอดคล้องกับความต้องการและอัตลักษณ์ท้องถิ่น โดยใช้หลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญและสายศาสนา รวมทั้งมีการเรียนการสอนวิชาภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ ในลักษณะที่ผู้ปกครองจากทุกกลุ่มวัฒนธรรมต่างมีความสบายใจและมั่นใจที่จะส่งบุตรหลานเข้ามาเรียน
8.ควรต้องมีการบังคับใช้ระบบกฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้นทั้งในแง่ของบทบัญญัติ การวินิจฉัยตัดสิน และการมีสภาพบังคับ โดยเน้นไปที่กฎหมายว่าด้วยครอบครัวและมรดกซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตโดยตรงมากที่สุด
การบ้านข้อใหญ่นับจากนี้คือจะแปลง “นครปัตตานี” และ 8 ความคาดหวังของคนในพื้นที่ ไปสู่รูปธรรมได้อย่างไร?
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศสุดคึกในเวทีสาธารณะว่าด้วย “นครปัตตานี” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา