หมอวิจารณ์ เสนอห้องเรียนศตวรรษที่ 21 เด็กต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม
“ศ.นพ.ประเวศ” ชวนปฏิรูปการเรียนรู้ให้เหมาะกับศตวรรษที่ 21 ชี้ชัดการเรียนรู้ที่ดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ ด้าน “ศ.นพ.วิจารณ์” เสนอปรับห้องเรียนใหม่ เน้นการเรียนรู้จากการทำงานเป็นทีม
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน กล่าวระหว่างเป็นผู้ดำเนินการเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 13 “การพัฒนาการเรียนรู้ในจังหวัดนำร่อง : ฝันที่ตั้งใจให้เป็นจริง” กรณีศึกษาจังหวัดจันทบุรี และกำแพงเพชร จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. เมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า จังหวัดจันทบุรีได้สร้างความร่วมมือให้เกิดเป็นสมัชชาการศึกษาจังหวัดเพื่อจัดดูแลการศึกษาทุกระดับตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนถึงระดับอุดมศึกษา พร้อมทั้งกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของจังหวัดเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในอีก 5 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาชุมชนต้นแบบผ่านชุมชน “เด็กกองขยะ” ซึ่งเป็นแหล่งเสื่อมโทรมหลังศาลากลางจังหวัด ที่พ่อแม่ยากจนมีความเสี่ยงต่ออบายมุข ยาเสพติด ลักขโมยและการท้องก่อนวัยอันควร
ส่วนกรณีศึกษากำแพงเพชร พบว่า ปัญหาเร่งด่วนที่คนในจังหวัดเห็นร่วมกันคือสถิติแม่วัยใสสูงติดอันดับ 1 ของประเทศ 3 ปีซ้อน ปัญหายาเสพติด เด็กติดเกม และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ จึงเป็นโจทย์ท้าทายของจังหวัดที่จะต้องเร่งแก้ไขโดยเร็วที่สุด
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ประธานการเสวนาเวทีปฏิรูปการเรียนรู้ฯ กล่าวว่า มีผลการศึกษาวิจัยที่พบว่า ประเทศใดที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง (income inequity) จะมีปัญหาเรื่องการตั้งครรภ์มาก ดังนั้น เราจะมีวิธีการช่วยเหลือเด็กผู้หญิงที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างไร ซึ่งปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นก็เกิดทั้งประเทศและทั่วโลก เราจึงต้องนำตัวความรู้จากทั่วโลกมาใช้ เพราะหมายถึงชีวิตของเด็กที่เกิดขึ้นมาบนความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาที่ไม่ถูกต้องก่อความบีบคั้นกับผู้คน ทำให้ขาดความสมบูรณ์ของการเป็นมนุษย์
"ถ้ามนุษย์มีความสมบูรณ์ สำนึกในศักดิ์ศรีของความเป็นคน จะไม่ทำใน 4 เรื่อง คือ 1. เสพยาเสพติด 2. ความรุนแรง 3. ความฟุ่มเฟือย และ 4. การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม เมื่อเกิดความสมบูรณ์ก็จะมีความยับยั้งชั่งใจในตัวได้ ดังนั้นจุดสำคัญคือปฏิรูปการเรียนรู้ที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 ซึ่งการเรียนรู้ที่ดีเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดของมนุษย์ เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำให้เพื่อนมนุษย์ได้เจอ ในขณะที่ทำอาจจะเกิดวาทกรรมที่ทำให้มีพลังไปดลใจคน"
ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) กล่าวว่า ตนขอเสนอใน 2 ประเด็นคือประเด็นแรก เป้าหมายที่สำคัญของจังหวัดภายในเวลา 2-3 ปีข้างหน้านี้ ห้องเรียนต้องเปลี่ยนไป ในศตวรรษที่ 21 ควรให้เด็กนั่งล้อมวงกันเป็นกลุ่มๆ ทำงานร่วมกันเป็นทีม
"อีกประเด็นคือจาก 1 นักเรียน 1 ความรู้ (One child One Knowledge) น่าจะเปลี่ยนเป็น 4 หรือ 6 ไม่ใช่ 1 ต้องเรียนเป็นทีม ทำงานเป็นทีมใช้ทักษะในการเรียนรู้" ศ.นพ.วิจารณ์ กล่าว และว่า ส่วนประเด็นการแก้ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมต้องทำที่ตัวรากเหง้าของปัญหานั่นคือการเลี้ยงดู การดูแลเด็ก ตั้งแต่เล็ก ที่ทำให้เด็กมีความมั่นใจในตนเอง มีเป้าหมายชีวิต การศึกษาไทยไม่ทำให้เด็กเรียนแล้วเกิดการรู้จริง เพราะเมื่อเรียนแล้วต้องมีพื้นไปต่อความรู้ใหม่ แต่ถ้าพื้นความรู้เดิมกระท่อนกระแท่นก็ไม่สามารถไปต่อความรู้ใหม่ได้
ขณะที่นางทิพย์พาพร ตันติสุนทร ผู้อำนวยการร่วมสถาบันนโยบายศึกษา กล่าวว่า เด็กอยู่หลังห้องไม่ใช่ไม่เก่ง แต่ด้วยความรับผิดชอบที่ต้องช่วยเหลือทางบ้าน ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ที่ทำให้เขาไม่พร้อม เด็กเหล่านี้เป็นเด็กดีที่สังคมไทยจะต้องโอบอุ้ม เด็กที่อยู่ในท้องถิ่นทั้งหลายน่าสงสารมาก เราต้องลงไปดูการจัดการศึกษาในท้องถิ่น นี่คือโจทย์ใหญ่ที่เป็นเสียงสะท้อนของครูในท้องถิ่น
--