เอ็นจีโออีสาน เผยบริษัทรับงานน้ำ ITD โยงผันน้ำหนองหานฯเอื้อเหมืองโปแตซ
กป.อพช.อีสาน ติงแผนจัดการน้ำแห่งชาติ แบ่งเค้ก 6 กลุ่มบริษัท 3.5 แสนล้านบ. เอื้อโครงการพัฒนาอุตฯขนาดใหญ่แย่งน้ำเกษตร ระบุ ITD เครืออิตาเลียนไทย โยงผันน้ำหนองหานฯใช้ในโครงการเหมืองโปแตซอุดรฯที่กำลังขอสัมปทาน
จากกรณีที่ ครม.เห็นชอบผลการคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย โดยมี 6 กลุ่มบริษัทผ่านการคัดเลือกในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ทางด้านนักวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ)หลายองค์กรได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลโดยใช้วงเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท เป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่
โดยล่าสุด นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวว่ารัฐบาลมีแนวทางที่จะจัดการน้ำทั้งระบบโดยเสนอให้มีการรวมหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำ แล้วจัดตั้งกระทรวงน้ำ และนำไปสู่การออกกฎหมายน้ำขึ้นมาบริหารจัดการน้ำ
“กฎหมายน้ำมีแนวคิดว่าน้ำเป็นของรัฐ ผู้จะใช้หรือเข้าถึงน้ำได้ก่อนคือกลุ่มทุนและโครงการขนาดใหญ่ สถานบริการ ส่วนเกษตรกรก็เป็น contract farming ที่มีเงินซื้อ ดูมาบตาพุดที่ทุนได้ใช้น้ำก่อนชาวบ้าน”
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่าจากการติดตามโครงการพัฒนาในภาคอีสานของเอ็นจีโอ ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มากว่า 10 ปี พบว่ามีแผนการลงทุนภาคอุตสาหกรรม เช่น โครงการเหมืองแร่โปแตซ 10 จังหวัด รวมเนื้อที่กว่า 1.3 ล้านไร่ ซึ่งมีความต้องการที่จะใช้น้ำอย่างมหาศาลของกลุ่มทุน และจะมีการแย่งน้ำในชุมชนเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นนโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาลจึงเอื้อประโยชน์เพื่อจัดหาน้ำให้กับเมกกะโปรเจ็ค
“1 ใน 6 บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท คือ ITD-POWERCHINA JV อยู่ในกลุ่มอิตาเลี่ยนไทย และเหมืองแร่โปแตชที่อุดรฯ บริษัทอิตาเลี่ยนไทยก็กำลังยื่นขอประทานบัตรประกอบกิจการ โดยมีแผนการใช้น้ำจากโครงการผันน้ำที่หนองหานกุมภวาปี ซึ่งย่อมมีการเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างชัดเจน”
เลขาธิการ กป.อพช.อีสาน ยังได้สะท้อนปัญหาการจัดการน้ำของรัฐที่ล้มเหลวในอดีต เช่น โครงการ โขง ชี มูล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน จนนำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ทั้งนี้เสนอว่ารัฐบาลควรมีแนวทางการจัดการน้ำให้สอดคล้องเหมาะสมแก่สภาพพื้นที่ โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจ
“รัฐบาลต้องส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมที่เป็นธรรมเท่าเทียมของคนในชุมชนก่อนตัดสินใจ ซึ่งในส่วนของเอ็นจีโอและชาวบ้านจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” เลขาธิการ กป.อพช. อีสาน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 5 ก.พ.56 ครม.ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ซึ่งนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย(กบอ)เสนอ โดยนายปลอดประสพยังแถลงผลการพิจารณา 6 กลุ่มบริษัทผู้ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างฯ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV 4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 5.กิจการร่วมค้าซัมมิท เอสยูที และ 6.กลุ่มบริษัทร่วมค้าล็อกซเล่ย์
โดยคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการ ทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย (กบนอ.) ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอกลุ่มโครงการ (Module) ละ 3 ราย ซึ่งมี Module ที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 10 Module แบ่งไปตามแผน และลักษณะการก่อสร้าง เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) และการปรับปรุงระบบคลังข้อมูล เป็นต้น .
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องได้ใน : ค้าน ครม.แบ่งเค้ก 3.5 แสนล้าน 6 กลุ่มบริษัทจัดการน้ำ งบไม่โปร่งใส-ทำลายป่า…http://bit.ly/X7od6j