รอผลตรวจคราบดำปริศนา 40 กม.หาดสงขลา- เสธฯ ทหารเชื่อต้นตอแท่นขุดเจาะน้ำมัน
ผู้ว่าฯ สงขลา ขานรับชาวประมงเร่งทำความสะอาดคราบดำปริศนา 40 กม.หาดสทิงพระ-ระโนด-สิงหนคร สนง.สิ่งแวดล้อมฯ เชื่อไม่อันตราย-รอกรมมลพิษตรวจ 15 วัน เสธฯ ทหารคาดต้นตอ 14 แท่นขุดเจาะน้ำมัน
จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อความและภาพในเฟซบุ๊ก(ทรงวุฒิ พัฒแก้ว http://on.fb.me/V034uw) ว่าพบคราบน้ำมันบริเวณชายหาด อ.สทิงพระ อ.ระโนด อ.สิงหนคร จ.สงขลา ระยะทางยาว 40 กิโลเมตร เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีลักษณะเป็นวัตถุสีดำคล้ายยางมะตอยทั้งเล็กและใหญ่ เมื่อโดนความร้อนจะอ่อนตัวและติดแน่น ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่ามาจากการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทาน
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ได้ติดตามความคืบหน้ากรณีดังกล่าว โดยนางจินตวดี พิทยเมธากูล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จ.สงขลา กล่าวว่าขณะนี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำและวัสดุที่มีสีดำคล้ายคราบน้ำมันส่งให้กรมควบคุมมลพิษและคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.หาดใหญ่)ตรวจสอบหาสารอันตรายและที่มาแล้ว คาดว่าประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงจะทราบผล หลังจากนั้นจะนำเข้าสู่ที่ประชุมซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทั้งนี้ผู้ว่าฯสงขลา ได้ส่งหนังสือด่วนถึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้ระดมชาวบ้านทำความสะอาดชายหาด อย่างไรก็ตามคาดว่าคราบดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อร่างกายและอาชีพประมงพื้นบ้าน นอกจากการสร้างความรำคาญแก่นักท่องเที่ยว เพราะเมื่อโดนแดดจะหลอมละลายและติดตามร่างกายได้
“ ชาวบ้านมักเรียกวัสดุสีดำว่าคราบน้ำมันดิน ซึ่งจะปรากฏทุกปี มากน้อยขึ้นอยู่กับความแรงของคลื่นทะเล อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติได้จ่ายค่าภาคหลวงแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ในการแก้ไขปัญหาปีละหลายล้านบาทแล้ว”
ด้านพ.อ.ไพโรจน์ นิยมพันธุ์ อดีตเสนาธิการกองทัพบก ในฐานะนักพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าวัสดุสีดำที่ปรากฏบนชายหาดยาวกว่า 40 กม. นั้นส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลเสื่อมโทรมได้ โดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งนำมาเป็นอาหารบริโภค นอกจากนี้ยังกระทบต่อการทำประมงพื้นบ้านด้วย เพราะคราบดังกล่าวจะเกาะติดอุปกรณ์จับสัตว์น้ำทำให้ประสิทธิภาพต่ำลง
อย่างไรก็ตามตนระบุไม่ได้ว่าการสัมปทานแท่นขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้นได้ศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) หรือไม่ และคราบวัสดุสีดำมีต้นทางจากบริษัทใด แต่คาดว่าแท่นขุดเจาะน้ำมัน 14 หลุมที่ตั้งฐานใกล้ชายฝั่งอ่าวไทยที่สุดน่าจะเป็นบ่อเกิดของปัญหาดังกล่าว ซึ่งอาจเกิดจากการปล่อยออกมาโดยตั้งใจหรือการชำรุดของแท่นขุดเจาะก็ได้
พ.อ.ไพโรจน์ ยังกล่าวว่าปัจจุบันไทยมีแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจำนวนมาก แต่กลับขาดความรับผิดชอบในการดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมจนเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ หนำซ้ำฐานทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังตกอยู่ในมือกลุ่มทุน นักการเมือง จึงเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องมีนโยบายกระจายการถือครองหุ้นพลังงานให้ประชาชนของชาติทุกคน เหมือนกับประเทศการ์ต้า เพื่อให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี และอยู่ร่วมกับนายทุนได้อย่างมีความสุข
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อกรณีคราบสีดำบนชายหาดยาวกว่า 40 กม.ดังกล่าว กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งเดินทางมายื่นหนังสือต่อนายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรียกร้องให้เร่งกำจัดคราบวัสดุสีดำโดยด่วน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำทุกชนิดโดยเฉพาะกุ้งที่เลี้ยงไว้ด้วย
ทั้งนี้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันจากแท่นขุดเจาะน้ำมันของบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย)จำกัด ในสังกัดบริษัทคอสตอลเอเนอร์จี มีสำนักงานใหญ่ในกรุงลอนดอ บริษัทนี้มีการก่อสร้างโกดังและสำนักงานย่อยในจังหวัดสงขลา บริเวณซึ่งเป็นฐานดำเนินการนอกชายฝั่งตั้งอยู่ด้วย โดยมี 8 แท่นขุดเจาะ ซึ่งครั้งนั้นได้รับผิดชอบจ่ายค่าภาคหลวงให้ อปท. 28 แห่ง ๆ ละ 15 ล้านบาท/ปี รวมถึง อบจ.อีกปีละ 400 ล้านบาท.