ผู้หญิงคือพลัง...ความหวังสู่สันติภาพ
เพราะผู้หญิงมีสถานะเป็นทั้ง “แม่” และ “ภรรยา” ของครอบครัวอันเป็นสถาบันตั้งต้นของชุมชนและสังคมในการรังสรรค์สันติภาพ โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องสูญเสีย “ผู้ชาย” ซึ่งเป็น “เสาหลัก” ของครอบครัวไป ไม่ว่าจะด้วยเหตุการณ์ความรุนแรง หรือถูกจับกุมคุมขังโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม
ที่สำคัญในทุกๆ พื้นที่ความขัดแย้งที่อำนาจรัฐอ่อนแอ ย่อมเป็นบ่อเกิดของปัญหาสังคมซ้อนทับปัญหาความรุนแรง บทบาทของ “ผู้หญิง” ในฐานะ “แม่” และ “ภรรยา” จึงยิ่งมีความสำคัญ เพราะกลายเป็น “เสาหลัก” ที่ช่วยค้ำยันสังคมให้ดำเนินไปในแนวทางที่ถูกที่ควร
ทว่าในหลายๆ กรณี “ผู้หญิง” กลับเป็น “ผู้ถูกกระทำ” เสียเอง จนส่งผลถึงเด็กและเยาวชน ทำให้ปัญหาสังคมบานปลายมากขึ้นไปอีก...
เดือนพฤศจิกายนที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี และในโอกาสที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งมีพันธกิจต้องจัดทำรายงานความก้าวหน้าของนโยบายและกลไกการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภาพรวม โดยเฉพาะสิทธิเด็กและสตรี ทำให้ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวางอีกครั้ง
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และมูลนิธิเพื่อนหญิง ได้จัดเวที “ผู้หญิง ก่อร่างสร้างสันติภาพ” ขึ้น ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี เพื่อเปิดพื้นที่ให้ “ผู้หญิงจากชายแดนใต้” ซึ่งจัดเป็นพื้นที่ความรุนแรงแห่งหนึ่งของประเทศไทย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอข้อคิดเห็นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการสร้างพื้นที่สันติภาพ สร้างบรรยากาศและกลไกส่งเสริมให้ผู้หญิงมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน นำไปสู่ “สันติสังคม” ที่มีความมั่นคงและปลอดภัย ตามกรอบกฎหมายและอนุสัญญาสิทธิเด็ก สตรี และสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยได้ร่วมลงนามและต้องดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์
พลังผู้หญิง...เปลี่ยนโลกสู่สันติ
ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปาฐกถานำในหัวข้อ “ผู้หญิงเปลี่ยนโลกให้สันติ” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมบนเวที “ผู้หญิงก่อร่างสร้างสันติภาพ” โดย ศ.ดร.อมรา เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า พลังของผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่หายไปไหน ท่ามกลางความรุนแรงเลวร้ายของสถานการณ์ความไม่สงบ
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกระทบต่อความรู้สึกของผู้หญิงทุกคน มีคำถามว่าผู้หญิงมุสลิมหายไปไหนทั้งที่มีจำนวนมาก แต่กลับไม่มีใครนำพาพวกเธอออกมาสู่การแสวงหาคำตอบและกิจกรรม ฉะนั้นจึงจำเป็นที่ต้องเร่งปลุกพลังผู้หญิงในพื้นที่ให้ออกมาขับเคลื่อน เพราะผู้หญิงทำอะไรได้มากมาย หากมีเครือข่ายที่ดี และมีกิจกรรมที่รองรับบทบาทของพวกเธอ”
อย่างไรก็ดี ศ.ดร.อมรา ยอมรับว่า การจะปลุกพลังของผู้หญิงชายแดนใต้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐเองจะต้องเปิดพื้นที่เพื่อสร้างโอกาสให้พวกเธอด้วย
“รัฐรวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องให้ความรู้กับผู้หญิงในชายแดนใต้ในเรื่องของสิทธิ หน้าที่ และสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งเริ่มให้ความสำคัญกันอย่างแพร่หลายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา”
“แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า เรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะสิทธิของผู้ด้อยโอกาสและด้อยอำนาจในสังคมนั้น เมื่อนำเสนอต่อรัฐจะใช้เวลาในการอนุมัตินานมาก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยให้การรับรองอนุสัญญาของสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับเื่รื่องนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันมีความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง จึงต้องมาคุยกันว่าต้องดูแลสิทธิของผู้หญิงและเด็กให้ลึกซึ้งมากขึ้นไปอีกในเรื่องของความรุนแรง ด้วยเหตุนี้เราจึงกำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันที่กระตุ้นเตือนให้ทุกฝ่ายระลึกถึงปัญหานี้ และรณรงค์กันตลอดทั้งเดือน”
ศ.ดร.อมรา กล่าวด้วยว่า เรื่องเกี่ยวกับเด็ก ผู้หญิง ครอบครัว และสิทธิมนุษยชน แท้จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน ฉะนั้นแผนงานด้านสิทธิมนุษยชนแผน 2 ระหว่างปี 2552-2558 ต้องพิจารณาควบคู่กับโครงสร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ตามกฎหมายใหม่ ว่าจะเชื่อมโยงกันได้อย่างไร โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลสิทธิของผู้หญิงและเด็กให้กว้างขวางขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ผู้หญิงทุกคนได้ตระหนักว่า มีกลไกทางสังคมที่สามารถขับเคลื่อน “พลังของผู้หญิง” ในพื้นที่ให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อลดความรุนแรง ดูแลสิทธิขั้นพื้นฐาน และทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้นได้ หากทุกคนร่วมกันสร้างเครือข่ายได้แข็งแรงพอ
สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา
มัรยัม สาเม๊าะ ครูสอนศาสนาจากศูนย์เด็กกำพร้าบ้านสุไหงปาแน จ.ปัตตานี กล่าวว่า อิสลามให้ความสำคัญต่อผู้หญิงเป็นอย่างมาก ทั้งในอัลกุรอานและหะดิษ ดังวจนะของท่านนบีมูฮำหมัดที่ว่า “สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา” บ่งบอกว่าเพศหญิงมีบทบาทและความสำคัญมากต่อครอบครัวและสังคม เรื่องราวทุกอย่างในบ้านหรือแม้แต่ในชุมชน หากผู้หญิงไม่ให้ความร่วมมือก็จะไม่มีทางทำสำเร็จ
“สิ่งสำคัญคือต้องทำงานด้วยความจริงใจ อัลลอฮ์สร้างทุกอย่างมาเหมาะสมอยู่แล้ว จึงอยู่ที่มุมมองของแต่ละคนมากกว่า เช่นการดูแลลูก ต้องให้ข้อคิดที่ถูกต้องกับลูก แม่สามารถบ่มเพาะลูกให้เป็นคนดีได้ แต่การที่จะให้ลูกเป็นคนดี แม่ต้องเป็นคนดีและเป็นแบบอย่างที่ดีเสียก่อน ต้องปฏิบัติให้ลูกเห็นและสัมผัสได้ แม้ยากก็ต้องพยายาม การปฏิบัติมีอิทธิพลมากกว่าคำพูด เพราะมีผลถึง 70 เปอร์เซ็นต์ อิสลามบอกว่าแม้เพื่อนเราเลว 99 อย่าง แต่มีดีอย่างเดียว ให้มองในความดีนั้นก็พอ ถ้าเรามองว่าเพื่อนดีก็จะไม่ทะเลาะกัน”
“ผู้หญิงเปลี่ยนโลกได้ด้วยความสามารถที่พระเจ้าประทานมาให้ ควรยึดมั่นในหลักศาสนาเป็นแนวทางในการกระทำทุกอย่าง ไม่เห็นแก่ตัวและไม่ทำผิด สิ่งสำคัญสามอย่างที่ควรปฏิบัติคือ ‘มินลัลลอฮ์’ หรือทุกสิ่งทุกอย่างมาจากอัลลอฮ์ ‘บินลา’ ทุกอย่างสำเร็จด้วยอัลลอฮ์) และ ‘ลิลลา’ ทำทุกอย่างเพื่ออัลลอฮ์ หากทำได้เช่นนี้ ทุกอย่างก็จะสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า“ มัรยัม กล่าว
สันติภาพเริ่มจากตัวเองก่อน
วรรณดี ทองเกลี้ยง ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หนึ่งในกลุ่มสตรีที่สูญเสียสามีจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกเล่าประสบการณ์การรวมกลุ่มของผู้หญิงเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชนว่า อย่าไปคิดหรือมองว่าเราเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้วคนอื่นไม่ใช่ แต่ต้องมองว่าเราอยู่ในชุมชน ทุกคนก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ฉะนั้นต้องช่วยกัน พยายามรวมกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบเหมือนกัน แล้วสร้างอาชีพ หากิจกรรมทำร่วมกัน ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาให้กับชุมชนได้
ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม กล่าวว่า สิ่งที่หวังและอยากเห็นคือการสร้างเครือข่ายของผู้หญิง แม้จะเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะในพื้นที่พิเศษอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่รัฐต้องเปิดใจกว้าง เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนคิดเอง ทำเอง แล้วรัฐให้การสนับสนุน ต้องเชื่อมั่นในประชาชน ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน
“ถ้าเราหวังให้มีสันติภาพจริง เราต้องมีสันติภาพในตัวเราเองก่อน มีความจริงใจในการทำงานบนพื้นฐานของความศรัทธา ความตั้งใจดี ความปรารถนาดี ไม่หวังผลประโยชน์ สุดท้ายก็จะทำได้ เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แล้วจะมั่นคงขึ้นเอง"
สร้างเครือข่ายด้วย “บวร” กับ “บรม”
ส่วน นูรยีลัน บิล หะยีอาบูบากา ครูนักกิจกรรมจาก อ.บันนังสตา จ.ยะลา กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายภาคประชาชนให้เกิดพื้นที่สันติสุข ต้องให้ความความสำคัญกับคำว่า “บวร” และ “บรม”
เริ่มจากบวร “บ” หมายถึงบ้าน “ว” หมายถึงวัด “ร” หมายถึงโรงเรียน ส่วนบรมนั้น “บ” หมายถึงบ้าน “ม” หมายถึงมัสยิด และ “ร” หมายถึงโรงเรียน ฉะนั้นขอให้ทุกชุมชนอยู่บนหนทางสงบ และใช้ “บวร” กับ “บรม” ในการขับเคลื่อนเครือข่าย ฝึกตัวเองให้เป็นนักกิจกรรมมืออาชีพ
“ถ้าทุกคนมีจิตสาธารณะ มีจิตใจสะอาด เข้าใจบทบาท สิทธิ และหน้าที่ของตัวเอง ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ครอบครัว วัด และมัสยิดเข้ามามีบทบาท ก็จะช่วยสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นในชุมชนท้องถิ่นของเราได้” นูรยีลัน กล่าว
ขณะที่ ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสรุปรวบยอดความคิดที่ได้จากเวทีว่า ถ้าครอบครัวอบอุ่น มีความสุข สันติสุขจะมาเอง และขยายสู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติโดยรวม อยากฝากไว้ว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค เป็นวิถีที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกันส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครอง
รู้จักวันยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 เป็นต้นมา องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เพื่อรำลึกถึงนักต่อสู้หญิงชาวโดมินิแกน 3 คนที่ถูกลอบสังหารอย่างทารุณโดยผู้นำเผด็จการเมื่อ พ.ศ.2503 ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
“ความรุนแรง” ในที่นี้หมายถึงการกระทำใดๆ ก็ตามที่เกิดจากอคติทางเพศ เป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว รวมทั้งความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงจากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองหรือภาวะสงคราม
รูปแบบของความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ได้แก่ ความรุนแรงทางเพศ มีตั้งแต่การแทะโลมด้วยสายตาและวาจา การอนาจาร ลวนลาม คุกคามทางเพศ การข่มขืน รุมโทรม การข่มขืนแล้วฆ่า
ขณะที่ “ความรุนแรงในครอบครัว” หมายถึงพฤติกรรมล่วงละเมิด บังคับ ขู่เข็ญ ทำร้ายโดยบุคคลในครอบครัว มีหลายรูปแบบ เช่น การใช้กำลังทำร้ายทุบตีภรรยา ไม่รับผิดชอบครอบครัว การนอกใจภรรยา การขายลูกสาว ด่าทอ ดูถูกเหยียดหยาม ทำให้อับอาย เศร้า เสียใจ การมึนตึงไม่พูดด้วย การปิดกั้นทางสังคมไม่ให้ติดต่อกับเพื่อน ญาติพี่น้อง หรือสังคมภายนอก การควบคุมทางการเงินเพื่อให้ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากอีกฝ่ายหนึ่ง การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่รับผิดชอบของฝ่ายชายหรือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการไม่สามารถต่อรองเรื่องการคุมกำเนิดกับคู่ครองได้
นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น ติดเชื้อเอดส์จากสามีหรือจากการถูกละเมิดทางเพศ การนำเสนอผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ ในสื่อลามกรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการนำเสนอทางเพศในการโฆษณาสินค้า การล่อลวงมาบังคับค้าประเวณี การใช้แรงงานเยี่ยงทาส หรือการถูกเลือกปฏิบัติด้านต่างๆ เช่น ด้านการศึกษา การประกอบอาชีพ การได้รับค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม เหล่านี้เป็นต้น
จากนิยามที่ยกมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ผู้หญิง” ยังคงถูกละเมิดอย่างดาษดื่นในสังคมไทย ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะต้องหยุดยั้ง...หากยังหวังให้สันติสุขเกิดขึ้นจริงในแผ่นดิน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพลีดประกอบเรื่อง เป็นงานศิลปะของ Supachai Sirikoun-keaw ศิลปินจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเว็บไซต์ http://www.oknation.net/blog/print.php?id=102731
บรรยายภาพ :
2 ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์
3 มัรยัม สาเม๊าะ