นิทรรศการภาพข่าวชายแดนภาคใต้... กระจกบานใหญ่จากปลายขวาน
คำกล่าวที่ว่า...ภาพดีๆ เพียงแค่ภาพเดียว สามารถแทนคำพูดได้นับพันนับหมื่นคำ...คือการสะท้อนความสำคัญและ "คุณค่า" ของภาพถ่ายที่หลายคนเชื่อว่ามีความเป็นอมตะไม่แพ้วรรณกรรมดีๆ เล่มหนึ่งเลยทีเดียว และภาพข่าวที่บันทึกเหตุการณ์ผ่านคมเลนส์ทั้งร้ายและดี ความรุนแรงและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมมี "คุณค่า" เอนกอนันต์เช่นกัน
เหตุนี้เอง กลุ่มช่างภาพชายแดนใต้ทั้งที่สังกัดองค์กรสื่อและช่างภาพอิสระจึงได้รวมตัวกันในนามของ "กลุ่มช่างภาพข่าวชายแดนใต้" (Deep South Photojournalism) หรือ DSP และจัดนิทรรศการ "ภาพข่าวจังหวัดชายแดนภาคใต้" ขึ้น โดยได้จัดแสดงไปแล้วในช่วงบรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนปลายเดือนตุลาคมต่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ ดีพเซาท์วอทช์ (Deep South Watch) เล่าให้ฟังว่า ทางศูนย์เฝ้าระวังฯ ได้ร่วมกับกลุ่มช่างภาพข่าวชายแดนใต้ รวมตัวกันจัดนิทรรศการที่บริเวณสนามหญ้าริมสระน้ำ ภายในโรงพิธีช้างเผือก เทศบาลนครยะลา และอุทยานการเรียนรู้ยะลา หรือ ทีเค ปาร์ค โดยวัตถุประสงค์เพื่อใช้ภาพถ่ายเป็นตัวสะท้อนแง่มุมอันหลากหลายในพื้นที่ ทั้งยังเป็นเครื่องมือชักชวนผู้คนในสังคมให้ตั้งคำถามต่อแนวทางการจัดการปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงกระตุ้นให้ตระหนักถึงวิถีทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ทั้งนี้ ภาพที่นำมาจัดแสดงเป็นภาพที่บันทึกโดยช่างภาพข่าวและช่างภาพอิสระในพื้นที่ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงและความเจ็บปวดของผู้คนมากมาย
“จากบทเรียนความขัดแย้งหลายครั้ง ช่างภาพข่าว หรือ Photojournalist คือผู้หนึ่งที่ทำหน้าที่รายงานข่าวความจริงที่เกิดขึ้น และตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ด้วยภาพ การที่ต้องอยู่ในสถานที่เกิดเหตุเพื่อบันทึกภาพเหตุการณ์ ด้านหนึ่งจึงเป็นพยานแห่งความจริง และผู้บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์ไปพร้อมกัน”
ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกต่อว่า แม้ภาพที่บันทึกไว้จะมีอยู่เป็นจำนวนมากและหลากหลายแง่มุม แต่พื้นที่สื่ออันจำกัดและมุมมองนโยบายในการคัดเลือกภาพข่าวของแต่ละองค์กรข่าวเป็นปัจจัยที่ลดทอนความจริงของเหตุการณ์ หรือเล่าเรื่องให้เหลือเพียงความรุนแรงด้านเดียว ขณะที่ยังมีภาพที่นำเสนอมุมมองเชิงวัฒนธรรม วิถีชีวิต และมุมมองที่สะท้อนข้อเสนอของกลุ่มคนต่างๆ อันแตกต่างหลากหลายอีกมากมาย ทว่ากลับมักไม่เป็นที่ปรากฏผ่านสื่อ
ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ยังแสดงทัศนะว่า ในความเห็นของเขา ช่างภาพข่าวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีลักษณะพิเศษที่ไม่เหมือนช่างภาพทั่วไปในสังคมไทย เนื่องจากหากเป็นช่างภาพในพื้นที่อื่น อาจจะได้เผชิญหน้ากับสถานการณ์ความขัดแย้งบ้าง แต่เหตุการณ์ความรุนแรงก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทว่าช่างภาพชายแดนใต้คือผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงตลอดเวลา ไม่ต่างจากผู้คนทุกสาขาอาชีพในพื้นที่
"ผมคิดว่าการรวมตัวของช่างภาพกลุ่มนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญในการยกระดับวิชาชีพช่างภาพข่าวในประเทศไทยที่ไม่ได้มีบทบาทหรือดำรงตนเป็นลูกจ้างขององค์กรสื่อแต่เพียงด้านเดียว แต่มีฐานะเป็นวิชาชีพหนึ่งซึ่งมีความหมายและความสำคัญต่อสังคมในฐานะประจักษ์พยานเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ และในระดับสากลนั้น การรวมตัวกันของช่างภาพข่าวจะทำให้พวกเขามีสถานะในทางวิชาชีพ และมีพลังต่อรองกับองค์กร ทั้งยังนำมาซึ่งการกำหนดมาตรฐานด้านวิชาชีพ จริยธรรม ตลอดจนข้อตกลงอื่นๆ อันจะก่อให้เกิดกิจกรรมที่สามารถสร้างจินตนาการและข้อเสนอต่อสังคมไทย รวมถึงประชาคมโลกได้" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
นายฟูอัด แวสะแม ข่างภาพอิสระ กลุ่ม seed จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ภาพทุกภาพที่นำมาจัดแสดงเป็นภาพที่ดีและมีความหมาย ภาพบางภาพตอบอะไรได้หลายๆ อย่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางภาพก็ทำให้เราได้คิดเกี่ยวกับสถานที่และสถานการณ์ในอดีตได้ ที่น่าสนใจก็คือภาพในนิทรรศการไม่ได้มีเพียงภาพเหตุการณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีภาพวิถีชีวิตที่นำมาจัดแสดงได้อย่างสมดุลกับภาพความรุนแรง
ขณะที่ นายอาสมิง ปูลา หนึ่งในผู้เข้าชมงาน กล่าวว่า ทุกภาพมีความหมายที่สื่อออกมา ทั้งการดำเนินชีวิตของคนในพื้นที่ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น บางภาพสะท้อนอย่างชัดเจนว่าคนชายแดนใต้ไม่ได้ต้องการความรุนแรง แต่ต้องการความสงบสุขเพื่อให้ลูกหลานได้ดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์ของตน
และนั่นคือความสำเร็จของนิทรรศการภาพข่าวชายแดนใต้ที่สะท้อนความจริงจากทุกมิติ ณ ปลายด้ามขวานว่าไม่ได้มีแค่การเข่นฆ่าและความรุนแรง