วงเสวนากฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่...ดับไฟใต้ต้องขจัดเงื่อนไขสงคราม!
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา จัดเสวนาเรื่อง "พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้...สู่เส้นทางสันติสุข" เมื่อวันศุกร์ที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่อาคารรัฐสภา โดยมี นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแลศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานและร่วมรับฟัง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.... หรือที่รู้จักกันในนาม "กฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่" ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ขณะนี้อยู่ระหว่างรอประกาศลงราชกิจจานุเบกษา
มั่นใจกฎหมายใหม่จุดเริ่มต้นสันติสุข
นายถาวร กล่าวเปิดการเสวนาตอนหนึ่งว่า ปัญหาความไม่สงบภายในประเทศอันเกิดจากความแตกต่างทางความคิด ชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมนั้น เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งแนวทางแก้ไขส่วนใหญ่สำเร็จด้วยการเจรจา รัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายปรับโครงสร้าง ศอ.บต. เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ..... ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทำให้การผลักดันกฎหมายฉบับนี้บรรลุผลตามเจตนารมณ์
ขณะที่ นายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ให้ความเห็นชอบตามที่วุฒิสภาแก้ไข เชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาความไม่สงบได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีการสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างส่วนกลางกับในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริง
จี้รัฐดันไฟใต้เป็นวาระแห่งชาติ-จัดรูปแบบการปกครองใหม่
การเสวนามีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลายเกี่ยวกับบทบาทของกฎหมายใหม่ และ ศอ.บต.ตามโครงสร้างใหม่ ที่จะส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย นายประดิษฐ์ ยมานันท์ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สาระสำคัญในร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้นักการเมือง ข้าราชการ และประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายการบริหารและการพัฒนาพื้นที่ เพราะปัญหาชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าขาดการบูรณาการนโยบาย และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
เบื้องต้นตามกฎหมายใหม่ รัฐบาลต้องทำให้การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวาระแห่งชาติ โดยยึดโยงกับคณะรัฐมนตรี และให้รัฐสภาได้แสดงความเห็น เพราะปัญหาในพื้นที่ต้องการความรับผิดชอบร่วมกันของคนไทยทั้งประเทศผ่านผู้แทนประชาชน ซึ่งก็คือ ส.ส.
“กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่อาหารจานด่วนที่เมื่อมีผลบังคับใช้ก็จะแก้ปัญหาได้ทันที เพราะต้องยอมรับว่าปัญหาความไม่สงบที่ชายแดนใต้ค่อนข้างซับซ้อน ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและอาศัยเวลา ผมเชื่อว่าหากมีการจัดระบบปกครองอย่างถูกรูปแบบแล้ว ปัญหาความไม่สงบจะถูกจำกัดและสลายตัวไปในที่สุด แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ต้องอาศัยเวลาพอสมควรเหมือนกัน" นายประดิษฐ์ กล่าว
นายประยูร พรมหพันธ์ อุปนายกสมาคมนักปกครองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เชื่อว่าพระราชบัญญัติบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้ฉบับใหม่ จะเป็นความหวังใหม่ที่ทำให้พื้นที่ชายแดนใต้มีความสงบเรียบร้อย และแก้ปัญหาสงครามกองโจร รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ดีให้กับประชาชนได้ ส่วนโครงสร้างของรัฐในการแก้ปัญหาที่กำลังจะถูกกำหนดใหม่ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ส่วนตัวมองว่ายังขาดการประเมินผลและติดตาม ดังนั้นต้องเพิ่มเติมในเรื่องเหล่านี้
ที่สำคัญประเด็นที่กฎหมายกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ศอ.บต. ซึ่งหมายถึงเป็นประธานของโครงสร้างการแก้ไขปัญหา หากไม่กำหนดรายละเอียดให้ชัดเจน อาจเกิดปัญหาได้เหมือนกัน โดยเฉพาะในแง่ของการกำหนดขอบข่ายการบริหารงานไม่ให้ทับซ้อนกับหน่วยงานข้างเคียง
"ถาวร"ย้ำใช้แนวทางกระจายอำนาจ
ขณะที่ นายถาวร ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้ คณะรัฐมนตรีก็ต้องมาพิจารณาเพื่อออกระเบียบและกำหนดโครงสร้างองค์กรใหม่ คาดว่าภายในอายุของรัฐบาลชุดนี้ จะมีโครงสร้างการบริหารที่ชัดเจนออกมา และเริ่มใช้ได้อย่างแน่นอน
"ผมเห็นว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาภายใต้กฎหมายใหม่จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในพื้นที่ได้อย่างแน่นอน ส่วนข้อเรียกร้องเรื่องการปกครองตนเองของบางกลุ่มนั้น รัฐไทยคงไม่ยอม แต่จะใช้การแก้ปัญหาด้วยการกระจายอำนาจจากส่วนกลางลงไปให้มากที่สุด" นายถาวร กล่าว
แนะอบรม ขรก.เข้าใจภาษา-ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจซึ่งได้จากการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีดังนี้
1.ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้จำเป็นต้องมีการบริหารราชการแตกต่างเป็นพิเศษ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะเด่นเฉพาะ จึงต้องจัดรูปแบบการบริหารและกรปกครองให้รองรับกับความแตกต่างทางอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ พร้อมทั้งแก้ปัญหาทับซ้อนจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่มิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องสร้างจินตนาการใหม่ สร้างกรอบความคิดให้เข้าถึงคนในพื้นที่ มีนโยบายและการจัดการองค์กรอย่างมีเอกภาพ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็ง
2. จุดเด่นของกฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่ระดับการจัดทำนโยบายการพัฒนาและความมั่นคงจากทุกภาคส่วน สร้างหลักประกันโดยกำหนดยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างบูรณาการ
3.การนำปรัชญา "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" มาปรับใช้เป็นสิ่งสำคัญ โดยพลเรือนในฐานะ ศอ.บต. จะต้องสามารถเข้าถึงพื้นที่และประชาชน โดยต้องเข้าใจสภาพความแตกต่างของคนในพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจประวัติศาสตร์ สถานการณ์ และวัฒนธรรม ตลอดจนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องภาษาที่อาจจะทำให้การสื่อสารเข้าใจไม่ตรงกัน ผู้ทำหน้าที่ด้านการบริหารในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องเรียนรู้ภาษาท้องถิ่น อย่างน้อยต้องสามารถรับฟังได้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน อันจะเป็นการลดอุปสรรคในการปฏิบัติงานได้ระดับหนึ่ง
สางปมธุรกิจมืด-อิทธิพล-อยุติธรรม
4.ควรมีการทบทวน สรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ประเด็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ คือ
- ปัญหาอาชญากรรม โดยมีการตั้งบ่อนการพนัน ค้ายาเสพติด ค้าของหนีภาษี และมีกลุ่มอิทธิพลต่างๆ เคลื่อนไหวอย่างเป็นขบวนการ
- ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ โดยเฉพาะจากการที่รัฐปราบปรามประชาชนโดยมิได้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมตามกฎหมาย
- มีการก่อการร้ายที่มีความเชื่อมโยงกับองค์การก่อการร้ายต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้รัฐจึงต้องจัดลำดับความสำคัญของภารกิจ ลดความโกรธแค้นของประชาชน โดยขจัดเงื่อนไขของสงครามเสียก่อน จึงจะนำไปสู่การพัฒนาได้อย่างสัมฤทธิ์ผล การจัดโครงสร้างของ ศอ.บต. ยังขาดปัจจัยในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม จึงควรมีหน่วยงานที่เชื่อมโยงดูแลกลไกการข่าวให้รับทราบข้อมูลสถานการณ์ที่แท้จริง
สำหรับเรื่องของสงครามการเมืองและข่าวสาร รัฐบาลเป็นฝ่ายตั้งรับการก่อการร้าย เพราะว่ารัฐไม่ได้มีการบริหารจัดการข่าวสารเพื่อให้สามารถต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามได้ การจัดโครงสร้างจึงต้องสอดคล้องกับปัญหาทั้ง 3 ประการข้างต้นด้วย
5.ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้อำนาจ ศอ.บต.ค่อนข้างมาก เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการโดยไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายความมั่นคง ดังนั้นความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณควรมีช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เพราะ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานถาวรตามกฎหมาย จึงควรมีการแบ่งงานกันรับผิดชอบให้มีความชัดเจน มีเอกภาพ สะดวกต่อการประเมินผล และติดตามความสำเร็จ
รัฐต้องจริงใจ-สร้างภาคีเครือข่ายเคลื่อนไหวทางสังคม
6.สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ตามร่างพระราชบัญญัติมีบทบาทสำคัญในการเสนอความเห็นในการกำหนดนโยบาย ดังนั้นควรกำหนดมาตรการว่าทำอย่างไรให้ผู้ที่เป็นตัวแทนภาคประชาชนเป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่เป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์
7.ศอ.บต.ควรเพิ่มหน้าที่เรื่องการพัฒนาให้ความรู้ ฝึกอบรมให้กับข้าราชการที่จะต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และควรเพิ่มการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงด้วย นอกจากนั้น ควรเพิ่มงานด้านต่างประเทศเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและองค์กรมุสลิม
8.ควรกระตุ้นให้สังคมไทยสร้างจินตนาการใหม่ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยให้ยอมรับความหลากหลายในความแตกต่างของความเชื่อ ศาสนา และวัฒนธรรม ไม่เฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ทุกภาคส่วนของประเทศควรเข้าใจร่วมกัน จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนทางด้านสังคมให้มากขึ้น เช่น การตั้งภาคีเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งเห็นว่า ศอ.บต. ไม่ควรทำหน้าที่ในลักษณะรับเรื่องราวร้องทุกข์ แต่ต้องเป็นผู้กำหนดนโยบายและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงและการพัฒนา โดยมีการแบ่งภารกิจอย่างชัดเจน ซึ่งประเด็นดังกล่าว การประสานงานเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จของภารกิจ
9.การใช้การเมืองนำการทหารในการแก้ไขปัญหาเป็นแนวทางที่เหมาะสมแล้ว เพราะนักการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชนและการสะท้อนปัญหาต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขได้อย่างตรงประเด็น แต่มีข้อพึงระวังคือต้องไม่ให้มีการใช้นักการเมืองเข้าแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ ดังนั้นก่อนการร่างแผนงาน ควรมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และนโยบายต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ศาสนา วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น
10.ปัจจัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ คือความตั้งใจและความจริงใจของฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ เพราะตราบใดที่ประชาชนในพื้นที่ยังรูสึกว่าไม่ได้รับการอำนวยความยุติธรรม ความคิดในการแบ่งแยกดินแดนก็มีความเข้มข้น ต่อเมื่อได้รับการเยียวยา ความคิดดังกล่าวก็จะเบาบางลง ปัญหานี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดความต่อเนื่องของนโยบาย จึงจำเป็นต้องใช้ภาคประชาสังคมเข้ามามีบทบาท และตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ให้ได้
11.การพิจารณาอนุมัติเงินเดือน สิทธิพิเศษของข้าราชการในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรพิจารณากำหนดตามความเหมาะสมตามสภาพของพื้นที่
-----------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศการเสวนาที่รัฐสภา
2 นายถาวร เสนเนียม (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)