สถานการณ์สิ่งแวดล้อม'56 ห่วงทุนรุกป่า-ขยะพิษ-อุตฯเบียดเกษตร
เผยสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย'56 ห่วงทุึนรุกป่า-ขยะัอันตราย-ผังเมืองล่าช้าเปิดทางอุตฯเบียดพื้นที่สีเขียว-เกษตร แนะเร่ง กม.ภาษีที่ดิน-แก้ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม
วันที่ 6 ก.พ. 56 เครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย จัดสัมมนา ‘สถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย ปี 2556 แย่ลง คงที่ หรือดีขึ้น’ ณ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยดร.วิจารย์ สิมาฉายา รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า แหล่งน้ำที่มีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมีแนวโน้มลดลง ขณะที่แหล่งน้ำที่อยู่ในระดับพอใช้และเสื่อมโทรมกลับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ท่าจีนตอนล่าง ท่าจีนตอนกลาง ลำตะคองตอนล่าง และเพชรบุรีตอนล่าง เนื่องจากการปนเปื้อนของแหล่งน้ำทั้งจากแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม หรือน้ำเสียจากชุมชน ขณะที่คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง โดยเฉพาะอ่าวตัว ก. เสื่อมโทรมสูง เพราะต้องรับน้ำจืดจากแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม หลายสาย
ส่วนปัญหาขยะมูลฝอยในชุมชน ซึ่งเป็นที่กังวลอยู่นั้น ปัจจุบันพบขยะมูลฝอยทั่วประเทศ 16 ล้านตัน เทียบกับปีที่ผ่านมาลดลงราว 8 หมื่นตัน โดยกำจัดตามหลักวิชาการอย่างถูกต้องเพียง 5.8 ล้านตันเท่านั้น ที่เหลืออีกกว่า 10 ล้านตัน ถูกเผาทิ้ง ทำให้เกิดสารตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะน้ำใต้ดินที่ใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งคาดว่าจะสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีตามปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าปริมาณขยะที่กำจัดได้มีสัดส่วนไม่ถึง 50% ของปริมาณขยะทั้งหมด
รองปลัดทส. กล่าวต่อว่า สำหรับของเสียอันตรายจากภาคอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก โดยมีปริมาณสูงถึง 4 ล้านตัน แม้จะมีกฎหมายกำกับดูแลโดยตรง แต่ยังพบการลักลอบทิ้งบ่อยครั้ง แต่ทส.มิได้นิ่งดูได้ เพราะกำลังจะเสนอมาตรการเร่งรัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายต่อคณะรัฐมนตรี เช่นเดียวกับของเสียอันตรายจากชุมชนที่ยังไร้ระบบการบริหารจัดการที่ดี ไม่มีการแยกขยะ มักทิ้งรวมในกลุ่มขยะทั่วไป มีปริมาณสูงถึง 7 ล้านตัน ส่วนใหญ่จะเป็นซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แบตเตอรี่ หลอดไฟ จึงเสนอให้ส่งเสริมการจัดระบบเรียกคืนของผู้ประกอบการ ระบบคัดแยกในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ให้เกิดการทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปี 56 สถานการณ์สิ่งแวดล้อมจะไม่ต่างจากปีที่ผ่านมา
ด้านดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ไทยยังประสบปัญหาการบุกรุกป่าทำกินจากกลุ่มทุนมาก เพราะไม่มีแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีประสิทธิภาพ เช่น กรณีบริษัทเอกชนใหญ่รายหนึ่งส่งเสริมการปลูกข้าวโพดบนดอย เพื่อผลิตเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งสวนกระแสการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ ทั้งที่ความจริงแล้วควรออกกฎให้ผู้ที่ปลูกพืชจะต้องปลูกบนที่ดินมีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหากลุ่มทุนรุกพื้นที่ป่าควรร่วมมือทุกฝ่าย โดยวางแผนใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันผ่านมาตรการบังคับ ประกอบด้วย การปรับปรุงผังเมือง ประกาศเขตคุ้มครอง และปรับปรุงกฎหมายที่ดินทั้งหมด ได้แก่ กฎหมายพัฒนาพื้นที่ กฎหมายการเช่าที่ดิน และข้อบังคับเกี่ยวกับไม้หวงห้าม นอกจากนี้ต้องเน้นการทำภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ธนาคารที่ดิน โครงการพันธบัตรป่าไม้ เพื่อจะเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ ลดการบุกรุกป่าเพื่อการทำเกษตรกรรม เหนือสิ่งอื่นใดต้องกระตุ้นให้บริษัทเอกชนมีธรรมาภิบาลในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น โดยใช้มาตรการสังคมเป็นตัวขับเคลื่อน
นางภารนี สวัสดิรักษ์ นักผังเมืองอิสระ กล่าวถึงนโยบายการคุ้มครองแหล่งอาหารทางทะเลว่า เป็นแนวทางที่ดี แต่ยังพบการเปิดพื้นที่ลงทุนภาคอุตสาหกรรมทางทะเลอยู่ ดังนั้นเมื่อไทยเข้าสู่อาเซียน ปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารจะเกิดขึ้น จึงควรเร่งเจรจาในระดับพื้นที่ มิใช่จำกัดอยู่เพียงการเจรจาเชิงประเด็นเท่านั้น ว่าจะมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมที่สุด อีกทั้งปัญหาการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองที่ล่าช้า ส่งผลต่อภาคอุตสาหกรรมรุกที่เกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยดั้งเดิม โดยเฉพาะพื้นที่ตะวันออก วิธีแก้ไขจึงควรกำหนดขอบเขตการพัฒนาและบังคับใช้มาตรการการคลังเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินจริงจัง
ขณะที่นายวัฒนา แก้วศิริ นายกสมาคมอนุรักษ์และพัฒนาป่าภูเขียว กล่าวว่า ภาคอีสานของไทยเกิดภาวะฝุ่นละอองจากการเผาไร่อ้อยมาก สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านนานหลายเดือนกว่าที่ฝุ่นละอองจะจางหายไป ซึ่งทส.ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาส่งเสริมให้เกษตรกรหยุดเผา แล้วหันมาใช้การตัดแทน นอกจากนี้ยังตำหนินโยบายพร่องน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เพื่อรับมือกับภัยน้ำท่วมปีที่ผ่านมา เป็นสาเหตุให้ภาคอีสานในปัจจุบันแล้งหนัก จึงถือว่ารัฐบาลบริหารจัดการน้ำผิดพลาด กระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชน
อย่างไรก็ดี ได้มีข้อเสนอให้เร่งปรับปรุงพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535โดยเฉพาะหมวดว่าด้วยการศึกษาอีไอเอ ซึ่งควรระบุไม่ให้บริษัทเอกชนทำสัญญาจ้างนักวิชาการศึกษาอีไอเอด้วยตนเอง แต่ควรเป็นหน้าที่ของภาครัฐ และสนับสนุนพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ.
ที่มาภาพ:http://region4.prd.go.th/images/article/news1389/n20101201094301_23739.jpg