ห่วงเกษตรไทยไม่รอดในเออีซี ประชานิยมทำพิษ
ห่วงเปิดอาเซียนเกษตรกรไทยไม่รอด รายได้แค่ปีละแสน คุณภาพข้าวโดนแซงหน้า ประชานิยมแก้ไม่ตรงจุด แนะเกษตรรายย่อยรวมกลุ่มเน้นสินค้าคุณภาพ–ตลาดเฉพาะ-เติมงบวิจัยเกษตร
วันที่ 6 ก.พ. 56 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) บางเขน มีการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 51 เนื่องในงานวันเกษตรแห่งชาติ’2556 โดยมีการบรรยายพิเศษเรื่อง ‘วิถีประชา...เกษตรไทยกับคุณภาพชีวิตสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน’
โดยรศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแนวโน้มการพัฒนาและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยมีมากกว่าภาคเกษตรอย่างเห็นได้ชัด เห็นได้จากมูลค่าการส่งออกในปี 2554 ซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรม 6,882.64 ล้านบาท และสินค้าเกษตรเพียง 987.52 ล้านบาท ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อปีต่อครัวเรือนของเกษตรกรอยู่ที่ปีละ 110,700 บาท (ปี 2554) แบ่งเป็นรายได้ในภาคเกษตรร้อยละ 40 และรายได้นอกภาคเกษตรร้อยละ 60 จึงสะท้อนให้เห็นว่าภาคการเกษตรไทยกำลังถูกทอดทิ้ง
ขณะที่การแข่งขันในภาคเกษตรของตลาดโลกและอาเซียนในอนาคต ตลาดมีแนวโน้มต้องการสินค้าที่ปลอดภัยมีคุณภาพมากขึ้น เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ จากระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งแม้ไทยจะมีนโยบายที่ส่งเสริมแต่ในทางปฏิบัติรัฐกลับดำเนินการสวนทางโดยเน้นแต่นโยบายประชานิยมที่ไม่ส่งเสริมการพัฒนาสินค้าคุณภาพอย่างแท้จริง เช่น โครงการรับจำนำข้าว 1.5 หมื่นบาท รับจำนำแต่ข้าวเคมีแต่ไม่รับจำนำข้าวอินทรีย์คุณภาพปลอดสารพิษด้วย
นอกจากนี้การลงทุนของรัฐบาลในการศึกษาวิจัยด้านการเกษตรที่ต่ำยังส่งผลกระทบต่อการเพิ่มผลิตภาพและศักยภาพในการแข่งขันในอาเซียน โดยพบว่างบประมาณวิจัยการปลูกข้าวต่อปี 185 ล้านบาทนั้น เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ 69 ล้านไร่ คิดเป็นงบวิจัย 3 บาทต่อปีต่อไร่เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอย่าง เกาหลี ญี่ปุ่น สิงค์โปร และฮ่องกง โดยยังมีความกังวลว่าในอนาคตปัญหาโลกร้อนอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิของโลกจะเปลี่ยนไปอีก 4 องศาในระยะเวลาไม่กี่ปีนั้นจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงตามมา ปัญหาที่กระทบต่อภาคเกษตรไทย คือ เกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีกำลังและศักยภาพในการฟื้นฟูที่ทำกินเท่าธุรกิจเกษตรรายใหญ่จะอยู่รอดยาก
รศ.สมพร กล่าวต่อว่า ดังนั้นหนทางที่จะทำให้ภาคการเกษตรไทยเติบโตและอยู่รอดได้ในเออีซี คือ การส่งเสริมความรู้และงานวิจัยด้านเทคโนโลยี เช่น ไบโอเทคโนโลยี นาโนเทคโนโลยี เพื่อสร้างศักยภาพและขยายโอกาสทางการแข่งขัน นอกจากนี้จะต้องมีกระบวนการที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกันสร้างความเข้มแข็งในชุมชน โดยผลิตสินค้าคุณภาพที่มีเอกลักษณ์สนองความต้องการของตลาดเฉพาะกลุ่ม หรือ นิชมาร์เก็ต (Niche Market) เพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ของชาวยโสธรที่ส่งขายต่างประเทศได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 100 บาท นอกจากนี้ชุมชนเมืองจะต้องสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยด้วยการซื้อสินค้าเกษตร จากเกษตรกรรอบบริเวณชุมชน โดยเชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะเป็นหนทางที่ช่วยให้เกษตรกรรายย่อยของไทยอยู่รอดได้ในภาวะการแข่งขันทางตลาดที่รุนแรงของอาเซียนและโลก
ด้านดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) มีแนวโน้มว่าภาคเกษตรกรรมจะได้รับผลกระทบในทางลบมาก โดยเห็นว่าไทยเสียเปรียบจากความพยายามในการเปิดเสรีทางการค้าอาเซียน(ตั้งแต่ 1 ม.ค. 53) เนื่องจากไทยส่งออกไปขายยังประเทศอาเซียนอื่นได้ยากเพราะแม้จะปลอดภาษีแต่หลายประเทศตั้งกำแพงทางการค้าสูง ขณะที่กฎเกณฑ์หรือกำแพงทางการค้าของไทยกลับเปิดกว้างมากที่สุด ตัวอย่างเช่นที่ผ่านมามีการเปิดการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนให้ไทยส่งออกอะไหล่รถยนต์ ขณะที่นำเข้าน้ำนมโคจากออสเตรเลียนั้น ซึ่งหากดูผิวเผินไทยมีความได้เปรียบดุลการค้าเพราะขายสินค้าได้มูลค่ามากกว่า แต่ในความจริงกลับพบว่าผู้ประกอบการที่ส่งออกอะไหล่รถยนต์มีเพียงไม่กี่ราย แต่เกษตรกรโคนมส่วนใหญ่ทั่วประเทศต้องเดือดร้อนเพราะไม่สามารถขายน้ำนมสู้ออสเตรเลียได้
จากการศึกษาวิจัยจึงพบว่าปัจจุบันเหลือเกษตรกรไทยที่มีความภาคภูมิใจและมีลูกหลานสืบทอดอาชีพเกษตรอยู่เพียงร้อยละ 0.9 แสดงให้เห็นว่าในจำนวนเกษตรกร 100 คน มีไม่ถึง 1 คนที่มีทายาทสานต่ออาชีพ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาภาคเกษตรทั้งระบบ โดยพบว่าช่วงเวลาในการศึกษาของเกษตรกรไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.1 ปี ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในกลุ่มเกษตรกรอาเซียน นอกจากนี้เกษตรกรไทยยังมีหนี้สินมากที่สุด ต้นทุนการผลิตสูงและมีกำไรต่ำที่สุดด้วย ขณะที่ด้านคุณภาพของสินค้าสำคัญอย่างข้าว ไทยก็ยังเป็นรองเพื่อนบ้าน โดยข้าวหอมมะลิของพม่าโค่นแชมป์ข้าวไทยกลายเป็นข้าวหอมที่คุณภาพดีที่สุดในโลกแล้ว(เมื่อปี2554 ขณะที่กัมพูชาครองแชมป์เมื่อปี 2555) ในการประกวดสุดยอดข้าว
โดยเห็นว่าแนวทางแก้ไขหรือปรับตัวที่จะทำให้ภาคเกษตรไทยอยู่รอดได้ในภาวะที่กำลังก้าวสู่เออีซี คือ การทำมาหากินโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ใช้ระบบคุณธรรมนำระบบการค้าเสรี และในส่วนของมหาวิทยาลัยแต่ละพื้นที่จะต้องบริการความรู้สนับสนุนการวิจัยเพื่อทำให้เกษตรกรและประชาชนรู้เท่าทันถึงผลกระทบด้านบวกและลบของการเข้าสู่เออีซีด้วย