ได้เวลารื้อใหญ่กระบวนการยุติธรรมชายแดนใต้!
ไม่ว่าปัจจุบันกระแสเรียกร้องของทุกภาคส่วนเกี่ยวกับแนวทางในการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเคลื่อนไปเช่นไร แต่ปัญหาหนึ่งที่พูดถึงกันอย่างต่อเนื่องและยังไม่อาจแก้ไขได้สำเร็จ ก็คือปัญหา "ความไม่เป็นธรรม" โดยเฉพาะความไม่เป็นธรรมที่เกิดจาก "กระบวนการยุติธรรม" ของรัฐ
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และกรมราชทัณฑ์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพผู้บังคับใช้กฎหมายในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและดำเนินคดีความมั่นคง" ที่โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา จ.ตรัง เพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ตรง และผู้รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนำกรณีศึกษาสำคัญ หรือ "เมเจอร์ เคส" เกี่ยวกับความมั่นคงมาศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมของบทบัญญัติกฎหมาย มาตรการ หรือกลไกในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และดำเนินคดีความมั่นคงให้มีผลบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกหน่วยมาร่วมด้วยอย่างพร้อมเพรียง ได้แก่ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้พิพากษาจากส่วนกลาง อธิบดีอัยการภาค 9 รองอธิบดีอัยการภาค 9 อัยการจังหวัดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ผู้บัญชาการเรือนจำ ทนายความจากชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักวิชาการ
ประเด็นที่ให้ผู้ร่วมประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกัน คือ 1.อะไรคืออุปสรรคของการบังคับใช้กฎหมายในการจัดการความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.ทำอย่างไรจึงจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม 3.หน่วยงานและองค์กรต้องทำอย่างไรเพื่อให้การทำงานเป็นที่ยอมรับว่ามีความเป็นธรรม
เสนอจัดประชุม 6 หน่วยงานแก้ปัญหาคดีอืด
ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการพบปัญหาสำคัญที่สุดปัญหาหนึ่ง คือความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม มีการเสนอให้จัดประชุมร่วมกันของผู้รับผิดชอบสูงสุด 6 หน่วยงาน ได้แก่ ประธานศาลฎีกา อัยการสูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารบก นายกสภาทนายความ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้การพิจารณาคดีเกิดความรวดเร็ว
สาเหตุที่ต้องจัดประชุมผู้รับผิดชอบสูงสุดทั้ง 6 หน่วยงาน ก็เพราะแต่ละองค์กรก็มีปัญหาของตนเอง เช่น ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ทั้งพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ผู้พิพากษา, ปัญหาการติดตามพยานไปเบิกความ โดยเฉพาะพยานที่เป็นตำรวจ ทหารจะเลื่อนคดีบ่อย, ปัญหาทนายความไม่พอเพียง, ปัญหาเรือนจำแออัด ต้องย้ายที่คุมขัง เป็นสาเหตุให้การพิจารณาคดีล่าช้า ส่งผลให้ผู้ต้องหาและจำเลยถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างพิจารณาคดีนานหลายปี, การเข้าถึงความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของประชาชนยังไม่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง, มีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง
พบมุมมองคดี "ตำรวจ-อัยการ-ศาล" ต่างกันลิบ
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ ยังพบปัญหา 2 เรื่องที่ถูกมองข้ามมาตลอด กล่าวคือ
1.หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมขาดการประสานงานเพื่อวางระบบและเป้าประสงค์ร่วมกัน ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การดำเนินคดี และการพิจารณาคดีมีความล่าช้า ทำให้ประชาชนหวาดระแวงเรื่องความถูกต้องเป็นธรรม
2.ปัญหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กร องค์ความรู้ และมาตรฐานของผู้ปฏิบัติงานในแต่ละหน่วยหรือในหน่วยเดียวกัน เช่น การใช้ดุลพินิจหรือเหตุผลในการชั่งน้ำหนักพยานของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาล รวมถึงการให้เหตุผลที่มีความแตกต่างกันในประเด็นข้อเท็จจริงอย่างมาก แต่ละหน่วยยังมุ่งมั่นในองค์ความรู้ตามวัฒนธรรมองค์กรของหน่วย แม้ในหลักการและกฎหมายต้องให้ความสำคัญและยึดถือคำพิพากษาของศาลเป็นแนวทาง แต่มีหลายคำพิพากษาที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลในคำพิพากษา ซึ่งผู้ปฏิบัติเห็นว่าไม่ได้สะท้อนความเป็นจริงในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดังนั้น จึงควรมีช่องทางเพื่อทำการวิเคราะห์เหตุผลของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และร่วมกันจัดทำเป็นหมายเหตุท้ายคำพิพากษา ซึ่งน่าจะเกิดประโยชน์ โดยเป็นกรณีที่ต้องเร่งดำเนินการเกี่ยวกับการประสานงานในกระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรฐานมุ่งให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนอย่างแท้จริง
เร่งสาง 500 คดีความมั่นคงจบในปีครึ่ง
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา ที่ประชุมเชิงปฏิบัติการมีการเสนอในหลายมิติ ได้แก่
1.แก้ปัญหาความล่าช้าของคดีความมั่นคงที่อยู่ในชั้นพิจารณาคดีของศาลประมาณ 500 คดี จะต้องอำนวยความยุติธรรมให้คดีได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะแก้ไขโดยการประสานงานและจัดประชุมร่วมกันของผู้นำสูงสุด 6 องค์กรดังกล่าว เพราะขณะนี้การพิจารณาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ใช้เวลานานและล่าช้ากว่าคดีลักษณะเดียวกันของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ ทำอย่างไรจะให้อยู่ในมาตรฐานและใช้เวลาในการพิจารณาคดีใกล้เคียงกันได้ คือ 1 ปีครึ่ง
2.หาแนวทางสันติวิธีที่หลีกเลี่ยงการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก เพราะการหาความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมต้องใช้เวลา สูญเสียอิสรภาพ และติดขัดกฎหมาย ระเบียบมากมาย ทำให้แก้ไขได้ยาก ดังนั้นแนวทางสันติวิธี เช่น ยุติธรรมชุมชน หรือยุติธรรมทางเลือก ควรนำมาใช้เป็นกระบวนการยุติธรรมคู่ขนานกับกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก
ตั้งกรมสอบสวนคดีความมั่นคง
3.แก้ปัญหาเรื่องพัฒนาบุคลากรที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาทั้งอุดมการณ์ องค์ความรู้ รวมทั้งจัดโครงสร้างในการดำเนินคดีใหม่ให้สะท้อนความเป็นจริงของสถานการณ์ ประกอบด้วย
- เสนอตั้งหน่วยสอบสวนคดีความมั่นคงขึ้นเป็นการเฉพาะ โดยให้ตำรวจทำคดีอาญาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ประมาณ 90% ส่วนคดีความมั่นคงที่มีประมาณ 10% ควรมีหน่วยสอบสวนเฉพาะ เป็นลักษณะ "กรมสอบสวนคดีความมั่นคง" ให้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการปฏิบัติและการรวบรวมพยานหลักฐานหรือการดำเนินการทั้งหลายเป็นพิเศษ
เนื่องจากคดีความมั่นคงมีลักษณะกระทำการเป็นรูปขบวนการด้วยอุดมการณ์ ความเชื่อ มีความเชื่อมโยงกับเครือข่ายสนับสนุนในลักษณะองค์กรลับ มีการปลูกฝังเรื่องชาตินิยม และมีความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง พนักงานสอบสวนตามปกติไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดยหน่วยงานสอบสวนพิเศษจะไม่ซ้ำซ้อนกับศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ กอ.รมน. เพราะภารกิจของหน่วยงานทั้งสองเป็นการป้องกันเหตุความไม่สงบ และทำหน้าที่ปฏิบัติการพิเศษเป็นส่วนใหญ่
- จัดตั้งศูนย์ข้อมูลหลักฐานด้านความมั่นคงและหน่วยงานพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นรูปธรรม เพราะเอกภาพในการตรวจที่เกิดเหตุ และการตรวจพิสูจน์หลักฐานกำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้
- ตั้งสถาบันฝึกอบรมสำหรับผู้ปฏิบัติงานให้เป็นมืออาชีพ ตระหนักในยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา"
ปัจจุบัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้นำสรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการทั้งหมดนี้ เสนอต่อ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหาแล้ว...
สุดท้ายจึงอยู่ที่รัฐบาลว่าจะเห็นความสำคัญแค่ไหนและอย่างไร!