เปิดเสรีเกษตรอาเซียน ไทยเสียเปรียบค่าแรงสูง-ผลผลิตต่ำ
หวั่นเปิดเสรีอาเซียน กาแฟ-ปาล์ม-มะพร้าว น่าห่วง ไทยเสียเปรียบค่าแรงสูง – ประสิทธิภาพผลิตต่ำ แนะลงทุนปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน-แปรรูปเพิ่มผลผลิต
วันที่ 5 ก.พ. 56 ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน มีการประชุมวิชาการ ครั้งที่ 51 เนื่องในวันงานเกษตรแห่งชาติ โดยมีการบรรยายพิเศษเรื่อง ‘ประเทศไทยกับบทบาทผู้นำด้านการเกษตรในประชาคมอาเซียนในมุมมองภาครัฐและเอกชน’
โดยนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวถึงสถานะและโอกาสของสินค้าเกษตรไทยในตลาดอาเซียน ว่า จากการวิเคราะห์ของสศก.พบว่า การค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยและอาเซียนมีสัดส่วนตลาดเพิ่มมากขึ้นจากปี 2546 ที่สัดส่วนร้อยละ 9 เพิ่มเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 ในปี 2554 สำหรับสินค้าไทยที่ขายได้ใน 9 ประเทศอาเซียน ขณะที่สัดส่วนการตลาดของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปลดลงเพราะผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ
โดยในปี 2555 ไทยมีกำไรสุทธิจากการค้าสินค้าเกษตรกับอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 1.92 แสนล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 โดยสินค้าส่งออกมูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ยางพารา น้ำตาลทราย ข้าวเจ้าขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้น 2 และครีมเทียม ส่วนสินค้านำเข้ามูลค่าสูงสุด 5 อันดับแรก คือ รังนก ผลิตภัณฑ์ใบยาสูบ เมล็ดกาแฟ และอาหารปรุงแต่งที่ใช้เลี้ยงทารกที่ผลิตจากนมและผลิตภัณฑ์
จากการวิเคราะห์ศักยภาพการแข่งขันของสินค้าเกษตรที่สำคัญของไทยในตลาดอาเซียน พบว่า กลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ คือ เมล็ดกาแฟ ซึ่งราคานำเข้าจากประเทศเวียดนามถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ น้ำมันปาล์มและมะพร้าว ขณะที่กลุ่มสินค้าที่มีโอกาสเช่น ปศุสัตว์ โคเนื้อ อ้อย น้ำตาล มันสำปะหลัง ผลไม้ อาหารแปรรูปและอาหารทะเล โดยสินค้าที่มีศักยภาพใกล้เคียงกับคู่แข่งคือ ข้าว ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กุ้งและไหมดิบ
ทั้งนี้คู่แข่งที่สำคัญของไทยในอาเซียนแบ่งตามชนิดสินค้าเกษตรได้ดังนี้ 1.ข้าว คู่แข่งคือ เวียดนามและอินเดีย 2. ผลไม้ คู่แข่ง คือ เวียดนาม มาเลเซีย และออสเตรเลีย 3. ยางธรรมชาติ คู่แข่งคือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม และ4.น้ำมันปาล์ม คู่แข่งคือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ดีในด้านศักยภาพการแข่งขันทั้งการผลิต แปรรูป การตลาดและตัวเกษตรกรโดยรวมไทยถือว่ามีความได้เปรียบอาเซียน แต่ยังมีข้อเสียเปรียบคือ ผลผลิตต่อไร่ต่ำ ค่าแรงสูง วัตถุดิบราคาสูงกว่า และการส่งออกยังต้องอาศัยคนกลาง เช่น สิงค์โปร์
นายอภิชาต ยังกล่าวถึงการดำเนินงานภาคการเกษตรของรัฐภายใต้แผนงานการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ปี 2558 ว่า การเข้าสู่เขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายสินค้าเสรีเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2553 โดยมีสินค้าเกษตร 23 รายการที่ปลอดภาษี ยกเว้นสินค้าอ่อนไหวบางรายการที่ลดการเก็บภาษีเหลือ 5 เปอร์เซ็นต์ เช่น มันฝรั่ง เนื้อมะพร้าวแห้งและเมล็ดกาแฟ อย่างไรก็ดีแม้อุปสรรคทางภาษีจะลดลง แต่ไทยก็มีมาตรการในการกำกับการนำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐาน ปลอดภัย และเป็นไปตามกฎหมายไทย ตลอดจนมีมาตรการพิสูจน์สัญชาติของสินค้าว่าเป็นสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศคู่ค้าอาเซียน เพื่อป้องกันการสวมรอยด้วย ทั้งนี้ในอนาคตจำเป็นต้องมีมาตรการที่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่เกษตรกรจะได้รับหากนำเข้าสินค้าบางชนิดมากเกินไปด้วย โดยที่ผ่านมาการดำเนินการลดอุปสรรคทางภาษีไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างฉับพลัน และไม่น่าเป็นกังวลอย่างที่หลายฝ่ายวิตกเพราะการเข้าสู่รูปแบบการค้าเสรีอาเซียนเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป
ทั้งนี้รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.)มีแนวทางเตรียมความพร้อมสู่เออีซี โดยการเน้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยการพัฒนาพันธุ์ สนับสนุนแหล่งน้ำ พัฒนาดิน การจัดระบบการปลูกพืช(โซนนิ่ง)ตามความเหมาะสมของพื้นที่ การสร้างเกษตรกรปราดเปรื่อง ตลอดจนการส่งเสริมการรวมกลุ่มของกลุ่มเกษตรกรในระบบสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็ง โดยมีความคาดหวังว่าสหกรณ์เกษตรไทยจะเป็นได้ทั้งผู้ผลิต ผู้แปรรูป พ่อค้าคนกลางและผู้ส่งออกเอง
ด้านนายมนตรี คงตระกูลเทียน รองประธานกรรมการกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ในส่วนของภาคเอกชนมองว่าการเข้าสู่เออีซีเป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดจาก 60 ล้านคนในประเทศเป็น 600 ล้านคนทั่วภูมิภาคอาเซียน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.8 ของประชากรโลก ดังนั้นการเข้าสู่เออีซีจึงถือเป็นโอกาสในการพัฒนาประสิทธิภาพภาคการเกษตร โดยที่ผู้ประกอบการสามารถไปลงทุนผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพและต้นทุนต่ำได้ในประเทศเพื่อนบ้าน และอาจนำวัตถุดิบเข้ามาแปรรูปในประเทศ
อย่างไรก็ดีไทยยังเสียเปรียบเพื่อนบ้านอาเซียนในด้านต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าจ้างอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ค่าจ้าง 300 บาทต่อคนต่อวันในไทย สามารถจ้างแรงงานพม่าได้วันละ 9 คน ด้วยค่าจ้างวันละ 35 บาท จ้างแรงงานกัมพูชาได้ 5 คน ด้วยค่าจ้างวันละ 60 บาท จ้างแรงงานเวียดนามได้ 4 คน ด้วยค่าจ้างวันละ 75 บาท และจ้างแรงงานลาวได้ 3 คนด้วยค่าจ้างวันละ 100 บาท อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องดูความสามารถและฝีมือของแรงงานแต่ละประเทศด้วย ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าแรงงานเวียดนามมีศักยภาพสูงจึงเชื่อว่าเวียดนามจะมีโอกาสมากในตลาดอาเซียน ขณะที่ไทยเองต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีการผลิตมาใช้ให้มากขึ้น
สำหรับการแข่งขันในสินค้าสำคัญอย่างข้าว ในความเห็นของภาคเอกชนมองว่าแม้ไทยจะไม่ได้เป็นผู้ส่งออกข้าวที่มาที่สุด แต่เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายข้าวคุณภาพก็ถือเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ดีไทยอาจชดเชยส่วนแบ่งการตลาดข้าวที่สูญเสียไปด้วยการเข้าไปลงทุนการปลูกข้าวในประเทศเพื่อนบ้าน ใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์ของท้องถิ่นในประเทศต่างๆ ดำเนินการแปรรูป และที่สำคัญคือการนำข้าวนั้นไปขายในตลาดโลกโดยทำหน้าที่เป็นพ่อค้าคนกลางแทนสิงค์โปร์
โดยมองว่าเกษตรกรไทยมีศักยภาพในการผลิตข้าวได้มาก โดยเฉพาะเกษตรกรในภาคกลางที่ระบบชลประทานไปถึงซึ่งหลายรายสามารถผลิตข้าวได้มากกว่า 1 ตันต่อไร่ แต่ปัญหาเรื่องผลผลิตต่อไร่ต่ำเกิดขึ้นกับเกษตรกรนอกเขตชลประทานโดยเฉพาะเกษตรในภาคอีสานที่ไม่มีน้ำพอเพียงต่อการเติบโตของข้าว ทั้งนี้อาจแก้ปัญหาโดยการส่งเสริมให้ชาวนาในพื้นที่ที่ระบบน้ำเข้าถึงมีผลผลิตต่อไร่มากกว่า 1 ตัน โดยเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวในเขตที่ได้ผลผลิตต่ำเพราะระบบชลประทานไม่ถึงมาปลูกพืชพลังงานเช่น ปาล์มน้ำมัน และมาเป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซลใช้ในประเทศให้หมด โดยเชื่อว่าจะช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านเกษตรได้คุ้มค่า
ที่มาภาพ ::: http://www.insidethaigov.com/index.php?r=content/view&id=182