ผ่าหลักเกณฑ์รัฐ เหตุร้ายส่วนตัวไม่ได้เงินเยียวยา...อีกหนึ่งปัญหาขัดแย้งที่ชายแดนใต้
โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายรัฐเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ว่าจะจ่ายเงินเยียวยาให้ก็ต่อเมื่อเป็นความสูญเสียที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบเท่านั้น
ปัญหาแรกที่ปรากฏขึ้นทันทีก็คือ จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าเหตุการณ์ไหนเป็นความสูญเสียจากสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะโดยสภาพความจริงในพื้นที่ หลายๆ กรณีที่มีการไล่ยิง ไล่ฆ่า หรือลอบวางระเบิดกัน ก็มีสาเหตุอื่นๆ ปะปนมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งส่วนตัว ชู้สาว การเมืองท้องถิ่น หรือแม้แต่การหักหลังกันในธุรกิจผิดกฎหมาย
ยิ่งในระยะหลังหน่วยงานด้านความมั่นคงแยกแยะคดีอาญาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างเข้มข้น สาเหตุสำคัญก็เพื่อกลั่นกรองว่าเหตุการณ์ความไม่สงบแท้ๆ เกิดขึ้นเท่าใดกันแน่ เพื่อนำตัวเลขเชิงสถิตินั้นมาแถลงยืนยันต่อสาธารณะว่าสถานการณ์ดีขึ้น (เพราะเหตุรุนแรงจากความไม่สงบลดลง แต่ไปโป่งขึ้นในคดีอาชญากรรมประเภทอื่น)
ดังเช่นข้อมูลจากศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ที่เพิ่งเปิดเผยออกมาเมื่อไม่นานมานี้ว่า ช่วงตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.2547 จนถึงวันที่ 31 มี.ค.2553 มีคดีอาญาเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา รวมทั้งสิ้น 72,731 คดี แยกเป็นคดีความมั่นคงเพียง 7,439 คดีเท่านั้น
เท่ากับว่ามีคดีอาญาที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบตามตัวเลขของรัฐแค่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์!
และนี่เองที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา เนื่องจากหลายต่อหลายคดี ญาติผู้สูญเสียไม่เห็นด้วยกับดุลพินิจของฝ่ายรัฐ บางคดีกลายเป็นความขัดแย้ง และมุมมองของรัฐที่มองชาวบ้านเมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ไม่ค่อยดีนัก เพราะแม้แต่อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร (ปัจจุบันครองยศพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก) เองก็ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า เวลามีเหตุการณ์เกิดขึ้น ชาวบ้านอยากให้เจ้าหน้าที่สรุปว่าเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ เพราะจะได้รับเงินเยียวยา
นี่คืออีกหนึ่งปัญหาที่กำลังบานปลายในจังหวัดชายแดนภาคใต้!
ความเป็นธรรมอยู่ที่ "กรอบเวลา"
เอก ณัฐทิพชาติ หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาจังหวัดปัตตานี มองปัญหาที่เกิดขึ้นว่า โดยปกติแล้วการจะจ่ายเงินเยียวยาหรือไม่ ต้องให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายในพื้นที่ คือ ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง รับรองว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจริงหรือเปล่า เพราะหากมีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัว และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้ง 3 ฝ่ายไม่อนุมัติ ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยา
“ผมยอมรับว่าเหตุส่วนตัวก็มีจำนวนหนึ่ง ฉะนั้นพยานหลักฐานต่างๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ปัญหาที่ตามมาคือกรอบเวลาของการพิจารณา ซึ่งจะต้องไม่ล่าช้าเกินไป”
เอก ยกตัวอย่างที่ทำให้มองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น...
“สมมติพิจารณาครั้งแรก ถ้าเกิดไม่มั่นใจว่ามาจากสถานการณ์หรือไม่ ก็อาจไม่รับรองก่อนก็ได้ หรือถ้าจะรับรอง ก็รับรอง 1 ใน 3 หรือ 2 ใน 3 คือเป็นการรับรองแบบไม่เป็นเอกฉันท์ ถ้าถามว่ามีหลักประกันที่จะให้ความเป็นธรรมกับผู้ประสบเหตุหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี และจะได้รับความเป็นธรรมแน่นอน”
“ตัวอย่างที่พบบ่อยๆ คือ ตอนแรกไม่มีหลักฐาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป มีผลตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ออกมา เช่น ดีเอ็นเอ ปลอกกระสุนปืน หรือหัวกระสุนจากศพคนตาย จนสามารถเชื่อมโยงไปได้ว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุ หรือยิงมาจากอาวุธปืนกระบอกใด แล้วไปตรงตามประวัติการก่อคดีความมั่นคง ถ้าเป็นอย่างนี้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายก็จะนำข้อมูลมาทบทวนว่าครั้งแรกที่เราไม่รับรองไป ตอนนี้มีพยานหลักฐานชัดแล้วเราจะรับรองหรือไม่ ถ้ารับรองก็อนุมัติจ่ายเงินเยียวยา”
จ่ายแล้วไม่เรียกคืน
แน่นอนว่าการพิจารณาไม่จ่ายเงินเยียวยาในตอนแรก แล้วต่อมากลับมติโดยเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายให้จ่ายในตอนหลัง ย่อมไม่ก่อปัญหาใดๆ เพราะสุดท้ายชาวบ้านได้ประโยชน์ แต่ที่น่าสนใจและน่าจะเป็นปัญหาก็คือ หากอนุมัติจ่ายไปก่อน แล้วภายหลังมีหลักฐานปรากฏว่าเป็นเหตุจากเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่สถานการณ์ความไม่สงบ จะทำอย่างไร รัฐจะเรียกเงินคืนหรือไม่...
ประเด็นนี้ เอก อธิบายว่า ทันทีที่พยานหลักฐานชัดเจนว่าเป็นเหตุร้ายที่ไม่ได้เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ การช่วยเหลือต้องสิ้นสุด
“แต่การช่วยเหลือเยียวยาที่รัฐได้ให้ไปแล้ว แม้ผลพิสูจน์จะออกมาว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับสถานการณ์ ตรงนั้นถือว่ายกประโยชน์ให้ชาวบ้านไป คือจ่ายแล้วจ่ายเลย ไม่มีเรียกคืน เพราะการเรียกคืนมันยุ่งยาก” หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาปัตตานี กล่าว
การันตีไม่มี"วิ่งเต้น"
คำถามที่น่าคิดต่อมาก็คือ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐที่ร่วมกันพิจารณาจะมีความผิดหรือไม่ เพราะทำให้เกิดความสูญเสียแก่ทางราชการ คือจ่ายเงินเยียวยาออกไปโดยผู้รับไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด ประเด็นนี้ เอก แจกแจงว่า หากในขณะที่จ่าย เจ้าหน้าที่ตัดสินใจโดยไม่ประมาทเลินเล่อ แต่ได้ใช้วิจารณญาณ มีข้อมูลการสืบสวนสอบสวนในเบื้องต้นมาประกอบพอสมควร แบบนี้ก็ต้องให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิด และเรื่องนี้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รองรับ
"ช่องโหว่สำหรับคนทำงานเยียวยา เท่าที่ผมทำงานมายืนยันได้เลยว่าไม่มี ทุกคนตระหนักดีว่าเงินที่นำมาช่วยเหลือผู้สูญเสีย เป็นภาษีอากรของคนทั้งประเทศ ฉะนั้นเรื่องคิดหาประโยชน์หรือขบวนการวิ่งเต้นเพื่อให้ได้เงินเยียวยาทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องส่วนตัว ขอย้ำว่าไม่มีแน่นอน และคงไม่มีใครกล้าทำอย่างนั้น เพราะการให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายพิจารณามันชัดเจน บทสรุปมันถ่วงดุลอยู่ในตัวอยู่แล้ว จะมาวิ่งเต้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ได้แน่นอน"
“เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่าย ประกอบด้วยฝ่ายปกครอง ตำรวจ และทหาร เมื่อมีคดีอาญาเกิดขึ้น ตำรวจก็ต้องทำสำนวน มีการรวบรวมพยานหลักฐาน และขออนุมัติการดำเนินการจากศาล ส่วนจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องหรืองดการสอบสวน มีกระบวนการตรวจสอบคู่ขนานไปอยู่แล้ว โดยเฉพาะการพิจารณาของพนักงานอัยการ แต่สำหรับกระบวนการเยียวยา เป็นการช่วยเหลือก่อนที่การสอบสวนตามกระบวนการยุติธรรมจะเสร็จสิ้นไป"
"ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นลักษณะเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท หรือความขัดแย้งส่วนตัว มันจะเห็นชัดด้วยลักษณะการก่อเหตุ แผนประทุษกรรมของคนร้ายมันจะไม่เหมือนกับเหตุการณ์ความไม่สงบของขบวนการ เช่น ตอนกลางคืน ออกจากร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ขับรถมา แล้วมีคนขับตามมายิงจนเสียชีวิต รูปการณ์มันจะมีที่มาที่ไปว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นในร้านก่อน เหตุลักษณะนี้ทางผู้เสียหายจะมาวิ่งเต้นเพื่อให้ได้เงินเยียวยา ให้เปลี่ยนจากเรื่องที่มีมูลเหตุน่าเชื่อว่าเป็นเหตุส่วนตัวให้เป็นเรื่องสถานการณ์ย่อมทำไม่ได้ หรือศพลอยน้ำมา ใครจะเอาศพนี้มาหากิน บอกว่าเป็นเรื่องสถานการณ์ ผมเชื่อว่าไม่มีใครกล้ามาใช้วิธีลักษณะนี้ และคงไม่มีใครกล้าไปรับรองด้วยแน่นอน”
เปิดเกณฑ์เยียวยาและประเด็นคาใจ
พูดถึงเรื่องเงินเยียวยา หลายฝ่ายอาจจะยังไม่ทราบว่าสิทธิในการได้รับการช่วยเหลือเยียวยาของพี่น้องประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จ่ายกันอย่างไร จำนวนเท่าใด
ทั้งนี้ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2548 ได้แยกประเภทผู้ได้รับผลกระทบออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ประชาชนทั่วไป จะได้รับเงินเยียวยา 250,000 บาทในกรณีเสียชีวิต กลุ่มที่ 2 ประชาชนที่ให้ความช่วยเหลือกับทางราชการ เช่น ผู้นำศาสนา ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หากเสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยา 350,000 บาท และกลุ่มที่ 3 เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะได้เงินช่วยเหลือเยียว 550,000 บาท (ไม่รวมเงินช่วยเหลือจากกองทุนวิชาชีพนั้นๆ เช่น ครู)
เงินเยียวยาที่ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 3 กลุ่มได้รับ ยังไม่ได้รวมเงินช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรียกว่า "เงินชดเชยรายได้" ที่ช่วยเหลือรายละไม่เกิน 20,000 บาท
ส่วนประเด็นที่ยังคลุมเครือและวิพากษ์วิจารณ์กันมากในพื้นที่ เช่น การเสียชีวิตของ นายสุไลมาน แนซา ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง ในลักษณะมีผ้าผูกคอติดกับเหล็กดัดหน้าต่าง ภายในห้องควบคุมในศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 30 พ.ค.2553 นั้น
หัวหน้าศูนย์ช่วยเหลือเยียวยาจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หลักเกณฑ์การเยียวยาต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบเท่านั้น แต่กรณีของนายสุไลมาน ผลการชันสูตรเบื้องต้นสรุปว่าเป็นการฆ่าตัวตาย จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ ส่วนความเคลือบแคลงสงสัยหรือไม่สบายใจว่าใครทำให้ตายหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันในกระบวนการยุติธรรม
"เมื่อผลการชันสูตรออกมาว่าสาเหตุมาจากฆ่าตัวตาย ก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์การเยียวยา และไม่สามารถช่วยอะไรได้ แต่ถ้าหลังจากนี้ผลพิสูจน์ออกมาอีกลักษณะหนึ่ง ก็ต้องมาดูว่าใครทำให้ตาย ต้องมาดูให้ยุติในเรื่องข้อเท็จจริง แล้วค่อยมาพิจารณาว่ามีหลักเกณฑ์พอช่วยเหลือได้ไหม เช่น ถ้ามีคนทำให้ตาย คนที่ทำเป็นเจ้าหน้าที่หรือเปล่า เพราะที่แน่ๆ ถ้าตายแล้วไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบ มันก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์การเยียวยาทันที ฉะนั้นเราคงต้องรอว่ากระบวนการยุติธรรมจะพิสูจน์ จะไต่สวน หรือทำความจริงให้ปรากฏอย่างไร แล้วค่อยดูว่ามีช่องทางการช่วยเหลืออย่างไรบ้าง"
เมื่อใช้เงินเป็นตัวตั้ง...ความจริงอาจถูกบิดเบือน
ด้านความเห็นของคนทำงานในภาคประชาสังคม นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะกรรมการมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ มองปัญหาเรื่องการพิสูจน์สาเหตุของเหตุการณ์รุนแรงที่นำไปสู่ความสูญเสีย และมีผลต่อการได้รับหรือไม่ได้รับเงินเยียวยา ว่า ลักษณะการเกิดเหตุรุนแรงในปัจจุบัน กระบวนการพิสูจน์ค่อนข้างทำได้ยาก บางกรณีแทบพิสูจน์ไม่ได้เลยว่าเป็นเหตุส่วนตัวหรือสร้างสถานการณ์กันแน่
"ตอนนี้คนทั่วไปมองว่าถ้าตายจากเหตุส่วนตัวจะไม่ได้อะไร แต่ถ้าตายเพราะสถานการณ์จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาแน่ๆ ฉะนั้นแรงกดดันจึงไปตกที่อำเภอ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายรับรองว่าเสียชีวิตเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบ ซึ่งผมคิดว่าแรงกดดันมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะผู้ตายคือใคร"
ประเด็นที่ว่า "ผู้ตายเป็นใคร" นับว่าน่าสนใจ ซึ่ง นพ.สุภัทร ขยายความว่า มีกรณีหนึ่งในพื้นที่ อ.จะนะ ค่อนข้างชัดเจน คือผู้ใหญ่บ้านถูกยิงจากเรื่องส่วนตัว แต่เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ใหญ่บ้านรายนี้เคยช่วยเหลือภาครัฐมาอย่างยาวนาน ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ปรับให้เป็นว่าเกิดเหตุจากสถานการณ์ความไม่สงบ และได้รับการช่วยเหลือเยียวยาไป
"ผมคิดว่ามันควรจะเป็นในมิติที่ควรจะเป็น และให้การช่วยเหลือเป็นคนๆ ไป แต่การแก้ไขปัญหาตรงนี้ ผมยังไม่เห็นทางออก เพราะมันมีช่องโหว่ของมันอยู่ แต่คิดว่าหากจะเพิ่มอีกฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบด้วยจะดีหรือเปล่า แต่แน่นอนว่าเมื่อไรที่เอาเงินมาเป็นกลไก เมื่อนั้นความจริงจะถูกบิดเบือนทันที” หมอสุภัทร แสดงความเห็น
ฝ่ายที่ 4...ตัวแทนชาวบ้าน
ข้อเสนอเรื่องการเพิ่ม "ฝ่ายที่ 4" เข้ามาช่วยตรวจสอบ เป็นประเด็นที่ นพ.สุภัทร เสนอ และอธิบายต่อว่า อาจจะต้องมีการผ่อนปรนหลักเกณฑ์บางประการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เช่น ถ้าฝ่ายชาวบ้านเสียชีวิต แล้วได้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมายืนยัน ก็อาจต้องเพิ่มน้ำหนักในการพิจารณาว่าการเสียชีวิตมาจากสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ที่ต้องเพิ่มฝ่ายที่ 4 เข้ามา เพราะการพิสูจน์ทำได้ยาก และใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจค่อนข้างมาก
"ปัจจุบันเราใช้กลไกรับรอง 3 ฝ่ายเป็นตัวตัดสิน รัฐได้หาทางออกในเรื่องนี้ โดยจ่ายเงินเยียวยาไปเบื้องต้นก่อน 25% ถ้าพิสูจน์แล้วไม่ใช่สถานการณ์ความไม่สงบ เขาก็ไม่เรียกคืน ผมคิดว่าระบบนี้ก็พอใช้ได้ ค่อนข้างลงตัว เพราะถ้าจะให้รัฐต้องจ่ายทุกกรณีที่เสียชีวิต ผมก็ว่ามันไม่ใช่ เพราะมันไม่รู้ว่าส่วนตัวหรือสถานการณ์ มันก็อยู่ที่ผลการพิสูจน์ และต้องเร็วด้วย”
แนะเยียวยาครอบครัวผู้ก่อความไม่สงบ
อีกกรณีหนึ่งที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ แสดงความเป็นห่วง ก็คือกรณีที่ผู้เสียชีวิตถูกระบุว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งบุตร ภรรยา และครอบครัวของคนกลุ่มนี้ ไม่ได้รับเงินเยียวยา
"เรื่องแบบนี้คนนอกอย่างผมไม่รู้หรอกว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นผู้ก่อความไม่สงบหรือไม่ เราไม่รู้ แต่ฝ่ายความมั่นคงอาจจะระบุว่าใช่ ผมคิดว่าคนที่อยู่ข้างหลังเขาควรได้รับการเยียวยา แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับ ในความเห็นของผม ทุกกรณีที่มาจากสถานการณ์ ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน ควรจะได้รับเงินเยียวยา แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเยียวยาโดยเด็ดขาด" นพ.สุภัทร กล่าวในที่สุด
ดูเหมือนประเด็นการเยียวยาจะยังคงเป็นปัญหาต่อไป ตราบใดที่สถานการณ์ความไม่สงบยังคงปกคลุมจังหวัดชายแดนภาคใต้!
------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กราฟแสดงวงเงินที่รัฐจ่ายสำหรับเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มต่างๆ
2 เอก ณัฐทิพชาติ
3 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ