วงเสวนา 5 ปีศูนย์ข่าวอิศราแฉโพยทุจริตโครงการรัฐ “ขุดบ่อได้พันธุ์ผัก สร้างเล้าเป็ดได้พันธุ์ปลา”
ในงานเสวนา 5 ปีศูนย์ข่าวอิศรา ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แม้หัวข้อที่ชวนให้ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ ทั้งนักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนกัน คือทิศทางข่าวทางเลือกในพื้นที่ความขัดแย้ง แต่ประเด็นที่ร้อนแรงยิ่งกว่ากลับกลายเป็นปัญหาใหม่ๆ ที่ปลายด้ามขวาน โดยพุ่งเป้าไปที่ปมทุจริตการใช้งบประมาณ และการใช้อำนาจโดยมิชอบ
ห่วงปัญหาสังคม-บ่มเพาะความแค้น
ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งเกาะติดปัญหาในชายแดนใต้มาหลายปี ทั้งในหมวกของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และนักวิชาการ มองว่า ชะตากรรมของพื้นที่เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกัน โดยเฉพาะการที่สถานการณ์ความรุนแรงยืดเยื้อมานานถึง 7 ปี ทำให้เกิดปัญหาสังคมอย่างกว้างขวางและรุนแรง
“ปัญหาชายแดนใต้เราต้องมองให้ลึก มองไปถึงเงื่อนไขหรือปมแห่งปัญหา อย่างที่มีผู้นำศาสนาคนหนึ่งบอกในปี 2547 ว่า ปัญหาใต้นั้นถ้าเข้าใจดีๆ มันแก้ง่าย แต่ถ้าไม่เข้าใจแก้อย่างไรก็ไม่จบ”
ผศ.ปิยะ กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้ไปที่ไหนมักมีการพูดกันในเรื่องชาติพันธุ์-ชาตินิยมมลายู ชาติพันธุ์-ชาตินิยมไทย สรุปก็คือรักชาติกันทั้งสองฝ่าย ที่จริงเรามีบทเรียนที่จะจัดการกับเรื่องนี้ได้ง่ายมาก แต่กลับปล่อยให้มีการบิดเบือนถ้อยคำทางศาสนามาผลักดันผู้คนให้ใช้ความรุนแรง ที่สำคัญที่สุดคือการล้างแค้น ตอนนี้มีการพูดคุยกันในพื้นที่ว่า “วันละ 2 ศพ” แปลว่าอะไร เราจะปล่อยให้เป็นเช่นนี้ตลอดไปหรือ มันเป็นคำถามกับทุกคน
โครงการพัฒนาเหลว-คอร์รัปชั่นผุด
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาทั้งหลายของรัฐบาลที่ลงมาในพื้นที่ต้องบอกว่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เพราะมีการทุจริตคอร์รัปชั่น นี่เป็นการพูดตรงๆ ที่สุดแล้ว โดยมีตัวชี้วัดเป็นบรรทัดฐานจากข้อมูลในระดับหมู่บ้าน และเป็นหลักทางวิชาการว่า "ความรุ่นแรงเกิดขึ้นที่ไหน ผลประโยชน์ย่อมเกิดขึ้นที่นั่น" ฉะนั้นการแก้ปัญหาที่ใช้ผลประโยชน์นำ จะเดินไปสู่ความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
“การแก้ปัญหาในมิติของความมั่นคงนั้น บทบาทของทหารที่ผ่านมา ผมคิดว่าทหารฉายเดี่ยว พื้นที่นี้การแก้ปัญหาต้องมีหลายมิติมาก และต้องทำไปพร้อมๆ กัน แต่รัฐทำง่าย คือเอาคนไปเลี้ยง เอาไปอบรม พาไปเทียว เพื่อหวังจะเปลี่ยนความคิด งานแบบนี้ทหารทำไม่ได้แน่นอน สิ่งที่จะเปลี่ยนใจเขาได้ต้องเป็นมิติอื่น คือความเป็นเครือญาติ ความเคารพนับถือ ความสัมพันธ์ในบริบทของชุมชน เป็นต้น”
เลิกเสียที...ส่งทหารจากทุกภาคลงไปผลัดเวร
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ และมีความพยายามสูงมากของฝ่ายทหารที่ทุ่มเททุกอย่าง ซึ่งอาจเป็นความตั้งใจดีที่จะแก้ปัญหา แต่ทหารทำคนเดียวไม่ได้ อีกอันหนึ่งซึ่งไม่ทราบว่าผิดหรือถูก คือการผลัดเวรกันไปเฝ้าชายแดน (หมายถึงการส่งทหารจากกองทัพภาคต่างๆ ลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่ สลับสับเปลี่ยนกำลังทุกๆ 1 ปี) อย่าลืมว่ามิติของความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐติดอาวุธกับประชาชนภายใต้ความกลัวความรุนแรง ผมว่ามันใช้การผลัดเวรไม่ได้ ฉะนั้นถ้ากองทัพภาคที่ 4 ดูแลไม่ได้ ก็ให้มันรู้ไปว่าประเทศไทยไม่ไหวแล้ว ต้องเอาทหารทั้งประเทศมาที่นี่”
“การแก้ปัญหาภาคใต้มีทางเดียวที่ต้องทำคือเอาชนะจิตใจ ซึ่งทุกฝ่ายก็รู้ แต่ก็สับเปลี่ยนทหารทุกปีงบประมาณ นี่คือความซับซ้อนที่ผมต้องการชี้ให้เห็น และกองทัพต้องพิจารณา ตอนนี้คนพุทธน่าเห็นใจ พี่น้องมุสลิมส่วนหนึ่งก็ไม่รู้จะวางตัวอย่างไร ผู้ร้ายก็ฆ่าเอาๆ ทหารก็ไปทำอีกแบบหนึ่ง มันไม่เข้าร่องเข้ารอย ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป” ผศ.ปิยะ กล่าว
ทุจริตระบาด “ขุดบ่อได้พันธุ์ผัก สร้างเล้าเป็ดได้พันธุ์ปลา”
นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้และไม่ต้องการให้ละเลย คือเรื่องทุจริต คอร์รัปชั่น เพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ปีแรกพูดกันเฉพาะในห้องประชุม ปีที่สองเริ่มพูดในร้านน้ำชา ตอนนี้เริ่มกล้าพูดในเวทีสัมมนาใหญ่ๆ แล้ว
“การแก้ปัญหาภาคใต้ที่ยังไม่สงบ มีคำถามว่าเราแก้ปัญหาเพื่อสร้างงบประมาณหรือแก้ปัญหาเพื่อสันติสุขกันแน่ นี่คือปัญหาใหญ่ของวันนี้ เราลงไปในพื้นที่จะเห็นเลยว่าหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะกระทรวง ทบวง กรม สามารถนำวิกฤติมาหาโอกาส โครงการพนพ. (โครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) โครงการพนม. (โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับหมู่บ้าน) อาจเป็นโครงการพะนอในอนาคต (เป็นการเล่นคำ หมายถึงพะเน้าพะนอ แปลว่าเอาใจ)”
“พนม. พนพ. พะนอ มาจากโครงการของ ศอ.บต. โครงการพะนอคือโครงการเอาอกเอาใจ ต่อไปที่ว่าการอำเภอ สถานีอนามัย โรงพัก จะมีคนของรัฐ 2 คนคอยดูแลชาวบ้าน ประคองต้อนรับเวลาไปติดต่อ ถามว่าแล้วเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่แล้วทุกตำบล อำเภอ ทุกวันนี้ทำอะไร หากจะจ้างเพิ่มอีก 2 คนเพื่อคอยดูแลชาวบ้าน ก็คงต้องไปลดเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอยู่เดิม เพื่อไปจ้างคนเพิ่มอีก 2 คน”
“ทุกโครงการของรัฐ ถ้าเราไปแกะรอยสืบค้นดีๆ จะพบปัญหาทุจริตทั้งนั้น บางโครงการบอกให้ชาวบ้านขุดบ่อ ขุดเสร็จแล้วก็ได้พันธุ์ผักไป บางโครงการให้สร้างเล้าเป็ด สร้างเสร็จแล้วได้พันธุ์ปลาไป ส่วนเรือเหาะของกองทัพบกที่ยังบินไม่ได้ ก็ยังไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือแค่เอาไว้โชว์ในงานวันเด็กปีหน้า” นายไชยยงค์ ตั้งคำถาม
แฉ"หัวคิว"งบเยียวยา-รัฐจ่ายหมื่นถึงมือชาวบ้าน 4 พัน
ด้านตัวแทนจาก ศวชต. หรือ ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า ทำงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมาตลอด และได้พยายามติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อพิจารณาหาทางแก้ไข อย่างเช่น งบเยียวยา เคยฝากบอกผู้ที่เกี่ยวข้องไปว่าเวลาให้งบประมาณลงมา มอบให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเลยได้หรือไม่ ทำไมต้องจ่ายผ่านหน่วยโน้นหน่วยนี้ เพราะความจริงได้มา 1 หมื่นบาท แต่ถึงตัวผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ แค่ 4 พันบาท
“เราไม่รู้จะไปบอกใคร ไม่มีช่องทางสื่อสาร บางครั้งก็ลำบาก เราอยู่ในพื้นที่พูดมากไม่ได้ เรารู้ดี ที่จริงปัญหาภาคใต้เหมือนคนป่วยที่อ่อนแอ ถ้าจะแก้ต้องอาศัยกำลังใจและความจริงใจ ไม่จำเป็นต้องเอารถถังลงมา เพราะมองแล้วเสียงบประมาณมาก เอารถถังมาขับผ่านตลาด ไม่รู้ว่าจะไปรบกับใคร เพราะโจรไม่ได้เอารถถังมาสู่กับคุณ” ผู้แทนจาก ศวชต. กล่าว
ทั้งหมดนี้คือบทสะท้อนปัญหา ประเด็นอยู่ที่ว่ารัฐจะกล้าเปิดใจรับฟังหรือไม่ และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ รับฟังแล้วจะแก้อย่างไร เพื่อให้งบประมาณถูกใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและถึงมือพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง!
----------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศในวงเสวนา 5 ปีศูนย์ข่าวอิศรา ที่โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี วันที่ 4 ก.ย.2553
2 ผศ.ปิยะ กิจถาวร
3 นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล
ขอบคุณ : ภาพประกอบโดย "น้องดาว" สถาบันอิศรา