อินเดีย : ศาสนาช่วยดูดซับความขัดแย้ง
ก่อนไปอินเดีย มักจะได้ยินประโยคประมาณนี้...“สกปรกจะตาย จะไหวเหรอ?” “ระวังเดินเหยียบอึนะ เขาอึกันริมถนนเลย!!” “อย่าลืมเอายาแก้ท้องเสียไปด้วยล่ะ” ฯลฯ แต่ประโยคที่น่าประทับใจ และสะท้อนนัยยะทั้งบวกและลบมากที่สุดก็คือ เกิดมาชีวิตหนึ่ง ต้องหาโอกาสไปเยือนอินเดียให้ได้สักครั้ง แต่ไปแล้วไม่ต้องไปซ้ำ เพราะครั้งเดียวก็เกินพอ!
ฝรั่งนักเดินทางตัวพ่อคนหนึ่ง เล่าให้ฟังแบบกระตุ้นกิเลสว่า อินเดียมีร่องรอยอารยธรรมยิ่งใหญ่มากมาย มีสิ่งมหัศจรรย์ของโลกอย่าง “ทัชมาฮาล” แต่สภาพความเป็นอยู่อันสับสนอลหม่านของจำนวนประชากรระดับพันล้าน ความไร้ระเบียบ และสุดสกปรกของอินเดีย ทำให้ต้องทำใจไว้ล่วงหน้า พร้อมๆ กับประโยคปลอบใจตัวเองที่ว่า...This is India หรือ “นี่แหละอินเดีย”
อย่ายึดมั่นถือมั่น
ผมมีโอกาสเดินทางไปอินเดียโดยที่ไม่ได้ตั้งใจมาก่อนเลย เพราะเป็นการไปพร้อมกับคณะนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 2 หรือที่เรียกกันเก๋ๆ ว่า “4 ส.2” ของสถาบันพระปกเกล้า
“4 ส.2” เป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นสำหรับผู้บริหารองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน ตลอดจนผู้แทนจากภาคประชาสังคม ให้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวว่าด้วย “สังคมสันติสุข” ร่วมกัน ถือเป็นหลักสูตรเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญอันน่าจะช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งในสังคมบ้านเราที่เพิ่มพูนมากขึ้นทุกวันได้เป็นอย่างดี
วัตถุประสงค์ของการไปอินเดียเที่ยวนี้จึงไม่ได้ไปเที่ยว แต่เป็นการไปศึกษาดูงาน โดยเฉพาะประสบการณ์การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของอินเดีย ซึ่งมีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ก่อนเดินทาง ได้ฟังบรรยายของ ดร.อณัส อมาตยกุล อาจารย์คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญอินเดียและโลกมุสลิม อาจารย์ทิ้งประโยคทองเอาไว้ประโยคหนึ่งว่า “อินเดียฝึกให้เราไม่ยึดมั่นถือมั่น”
และตลอด 10 วันที่ได้สัมผัสอินเดีย...ทำให้เข้าใจคำว่า “ปลง” มากขึ้นเยอะเลย
Good Break Good Horn and Good Luck!
เมืองแรกที่ได้ “สัมผัสอินเดีย” คือเมืองกัลกัตตา ซึ่งคนอินเดียแท้ๆ จะออกเสียงว่า “โกลกัตตา” เป็นเมืองหลวงเก่าสมัยที่อังกฤษยังปกครองอินเดียอยู่ร่วมๆ ร้อยปี ปัจจุบัน “โกลกัตตา” เป็นเมืองหลวงของรัฐเบงกอลตะวันตก ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในจำนวน 28 รัฐกับอีก 7 ดินแดนสหภาพของอินเดีย ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ คล้ายๆ อีสานบ้านเฮา
หลายคนบอกว่า ถ้าอยากเรียนรู้สภาพความเป็นอินเดียแท้ๆ ต้องไปที่โกลกัตตา โอลด์ เดลลี (ย่านเมืองเก่าของนิวเดลลี เมืองหลวงของประเทศ) และมุมไบ หรือบอมเบย์ เมืองท่าและศูนย์กลางทางการค้าด้านทิศตะวันตก
โกลกัตตาเป็นเมืองที่มี 2 ภาพตัดกันอย่างสิ้นเชิง คือภาพชีวิตชนบท ยังมีการทำนาโดยใช้ควายให้เห็น กับภาพชีวิตเมืองที่กำลังตอกเสาเข็มสร้างตึกสูง อพาร์ทเมนท์หรู โรงแรม และอาคารสำนักงาน ชนิดที่เรียกว่าหันไปทางไหนก็มีแต่การก่อสร้าง จนน่าเชื่อว่าผืนนาเขียวขจีและเจ้าควายที่กำลังเดินดุ่มกลางโคลนตมแถวชานเมืองนั้น จะถูกรุกไล่ด้วยความเจริญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
พื้นที่ในเขตเมืองโกลกัตตาเชื่อมโยงกันด้วยถนนหนทางคับแคบและเต็มไปด้วยรถรานานาชนิด ที่สำคัญคือแทบไม่มีใครหลีกหลบให้กันถ้าไม่ถึงคราวจำเป็นจริงๆ คนเดินข้ามถนนต้องคอยหลบรถให้ดี เพราะรถที่นี่ไม่มีเบรคให้ใคร แม้ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่ยืนหน้ามึนอยู่กลางถนนก็ตาม
ยวดยานในอินเดียเท่าที่สังเกต กระจกมองข้างหรือที่เรียกว่า “หูช้าง” จะอันเล็กนิดเดียว แม้จะเป็นรถใหญ่ระดับสิบล้อหรือรถเมล์ก็ตาม หลายคันไม่มีกระจกหูช้างด้วยซ้ำ เข้าใจว่าน่าจะเพื่อความสะดวกในการเบียดแทรกท่ามกลางการจราจรที่แออัดทั้งกลางวันกลางคืน
หนำซ้ำยังมี “รถลาก” ที่ใช้ “คนลาก” และสามล้อถีบ รวมถึง "รถราง" ที่เหลืออยู่เมืองเดียวในอินเดีย วิ่งกันว่อนให้วุ่นวายสับสนหนักขึ้นไปอีก
ความอลหม่านดำเนินไปพร้อมๆ กับเสียงแตรจากรถนานาชนิดที่ดังแบบไม่มีเว้นช่องไฟ คนที่เพิ่งไปอินเดียวันแรกๆ จะรู้สึก “แทบบ้า” เพราะรำคาญเสียงแตรที่ดังไม่หยุดนั้น
ว่ากันว่าการขับรถในอินเดีย มีสิ่งที่พึงระลึกอยู่ 3 ประการคือ Good Break Good Horn and Good Luck หมายถึง เบรคต้องดี แตรต้องดัง และเหนือสิ่งอื่นใดคือ...ขอให้โชคดี!
วิถีของ “คนใน”
อีกอย่างที่สังเกตเห็นและสะท้อนใจก็คือ คนไร้บ้าน คนเร่ร่อน และขอทานมีอยู่เต็มเมือง ส่วนใหญ่จะอาศัยหลับนอนอยู่ตามริมถนนสายต่างๆ เมื่อเห็นคนแปลกหน้าหรือนักท่องเที่ยวผ่านมา คนเหล่านี้จะทำท่าแบมือและชักมือไปที่ปากซ้ำแล้วซ้ำเล่า คล้ายๆ กับขออาหารประทังชีวิต ด้วยสีหน้าและแววตาละห้อย บางรายถึงขั้นร้องไห้ เป็นที่อเนจอนาถสำหรับผู้พบเห็น
แต่เชื่อหรือไม่ว่าหากคุณลองยกกล้องขึ้นเตรียมจะถ่ายรูป คนเหล่านี้จะเปลี่ยนอิริยาบถเป็น “โพสต์ท่า” และเปลี่ยนสีหน้าเป็น “ยิ้มแย้ม” ทันที
ผู้รู้บอกว่าคนอินเดียชอบถ่ายรูปเป็นชีวิตจิตใจ...
คงจะจริงอย่างที่หลายคนเคยบอกเอาไว้ว่า อินเดียก็เป็นแบบนี้ ไม่มีใครเปลี่ยนอินเดียได้ และกลายเป็นมนต์เสน่ห์อย่างหนึ่งของดินแดนภารตะ
ประเด็นที่น่าขบคิดก็คือ หลายสิ่งหลายอย่างที่มองว่าอินเดียมีปัญหา เป็นการมองจาก “แว่น” ของคนนอก และมาตรฐานของโลกตะวันตก เพราะคนอินเดียเองไม่ได้คิดว่าตัวเองมีปัญหา
เช่น การใช้แตรอย่างบ้าระห่ำนั้น หากสังเกตดูตามท้ายรถบรรทุกหรือรถสาธารณะต่างๆ จะมีข้อความภาษาอังกฤษเขียนเอาไว้ตัวโตแทบทุกคันว่า “Blow Horn” หรือ “Please Horn” คือบอกให้ช่วยบีบแตรหน่อย เพื่อความปลอดภัยในการจราจรไร้ระเบียบแบบอินเดีย
การเข้าใจและเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นเช่นนี้ โดยที่ "คนนอก" อาจไม่เข้าใจ ทำให้นึกถึงการคลี่คลายปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของบ้านเรา เพราะหลายๆ ครั้งรัฐมองปัญหาจาก “แว่น” ของตนเอง แล้วส่งโครงการพัฒนามากมายลงไปจากความเข้าใจของตนว่านั่นคือการแก้ไขปัญหา ทั้งๆ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาอะไรเลย แต่ปัญหาคือการรุกล้ำเข้ามาของรัฐและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่พวกเขาไม่ต้องการต่างหาก
เหตุนี้กระมัง สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเราจึงยังวุ่นวายยืดเยื้อดังที่เห็นและเป็นอยู่...
ศาสนาดูดซับความขัดแย้ง
อินเดียเป็นส่วนหนึ่งของ "อนุทวีป" มีพื้นที่ 3.28 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก มีประชากรมากถึง 1.13 พันล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ประชากรส่วนใหญ่ราว 81% นับถือศาสนาฮินดู ที่เหลือ 12% นับถือศาสนาอิสลาม และอีก 7% นับถือศาสนาอื่นๆ เช่น ซิกข์ พุทธ ฯลฯ
นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาความขัดแย้งนานาชาติ มหาวิทยาลัย Jadavpur เมืองโกลกัตตา นิยามความเป็นอินเดียเอาไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่าความขัดแย้งในอินเดียมีอยู่มากก็จริง ทั้งมิติที่เกี่ยวพันกับศาสนาและชาติพันธุ์ แต่ความเชื่อถือและศรัทธาในศาสนาซึ่งยังมีอยู่สูงมากในคนกลุ่มใหญ่ของอินเดีย คือ “ตัวช่วย” ให้เกิดความอดทนอดกลั้นของผู้คน และรวมกันเป็นหนึ่งพอสมควร
หากมองในมิติโครงสร้างอำนาจ อินเดียประกอบด้วยคน 3 กลุ่มใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูงในสังคม ได้แก่ 1.แลนด์ลอร์ด หรือนายทุนที่ครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาล 2.ภาคอุตสาหกรรม และ 3.ไวท์คอลลาร์ หรือคนชั้นกลาง
ตลอดมากลุ่มคนชั้นกลางและสื่อมีบทบาทถ่วงดุล 2 กลุ่มแรก ทำให้สังคมอินเดียยังอยู่ร่วมกันได้ และไม่มีกลุ่มไหนครอบงำประชาชนกลุ่มอื่นๆ ได้ทั้งหมด
เช่นเดียวกับในมิติทางการเมือง แม้อินเดียจะมีรัฐบาลผสมมากถึง 11 พรรค แต่หากมองในแง่ดีก็แสดงว่ามีการถ่วงดุลกันได้พอสมควร สิ่งสำคัญคือบทบาทอันเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน มีการเปิดเวทีวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบการคอร์รัปชัน และรณรงค์เรื่องธรรมาภิบาลกันอย่างคึกคัก
นอกจากนั้น อินเดียยังสามารถแบ่งบทบาทหน้าที่กันได้อย่างชัดเจนระหว่างทหาร รัฐบาล และภาคประชาสังคม ทำให้โอกาสของประชาธิปไตยแบบอินเดียยังคงไปรอด
ทั้งหมดนี้คือปัจจัยที่ทำให้อินเดียดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความขัดแย้งภายในขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่มีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคน แถมยังถูกกำกับด้วย “ระบบวรรณะ” ตามความเชื่อทางศาสนา
จุดแข็งและความท้าทาย
อีกเมืองหนึ่งที่ได้ไป “สัมผัสอินเดีย” คือกรุงนิวเดลลี เมืองหลวงของประเทศ
กล่าวกันว่า “นิวเดลลี” คือมหานครที่มีผังเมืองดีที่สุดในโลก แต่ช่วงที่เดินทางไปกลับต้องเผชิญกับการจราจรที่ติดหนึบ เพราะนิวเดลลีกำลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั่วทั้งเมือง ทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า
ภาพที่ตัดกันระหว่างความโอ่อ่า ทันสมัย และไฮเทคโนโลยี ก็คือริ้วขบวนที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณหลากสี กำลังแบกเครื่องสักการะแบบไม่ให้สัมผัสผืนดินจากจังหวัดบ้านเกิด ผ่านนิวเดลลี มุ่งหน้าไปยังแม่น้ำคงคา ระยะทางกว่า 400 กิโลเมตร
เป้าหมายคือเพื่อไปทำพิธี ณ แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ และตักน้ำจากแม่น้ำคงคา เดินเท้ากลับไปทำพิธียังบ้านเกิดอีกครั้ง!
ริ้วขบวนที่ว่านี้ไม่ได้มีแค่กลุ่มสองกลุ่ม แต่มีกระจายอยู่ทั่วไปตามถนนหนทาง และมีจุดพักเป็นระยะ มีขาหยั่งสำหรับตั้งเครื่องสักการะไม่ให้สัมผัสพื้น และตามจุดพักจะมีชาวบ้านร้านตลาดนำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงดูปูเสื่อคณะเดินทางซึ่งมีทั้งเด็กหนุ่ม ชายฉกรรจ์ รวมไปจนถึงคนชรา อันเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนแห่งศรัทธาของหมู่ชน
นี่กระมังที่เรียกว่ามนต์เสน่ห์ของอินเดีย...
ข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนิวเดลลี ระบุว่า อินเดียเปิดประเทศรับการลงทุนจากนานาชาติหลังยุคสงครามเย็น และต้องเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2534 (ค.ศ.1991) จากนั้นก็พลิกฟื้นขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วด้วย "จุดแข็ง" คือแรงงานจำนวนมหาศาล และประชากรส่วนใหญ่พูดภาษาอังกฤษได้
ปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจ การทหาร และการเมือง การที่อินเดียมีคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากถึง 400 ล้านคน กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ทุกประเทศอยากทำการค้าด้วยและอยากเข้าไปลงทุน ส่งผลให้อินเดียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เป็นศูนย์กลางการผลิตซอฟท์แวร์ มีหัวรบนิวเคลียร์มากถึง 90 หัวรบ และยังตั้งเป้าเป็นชาติมหาอำนาจในเวทีโลกด้วยการเข้าเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
ย้อนมองเมืองไทย
การเพ่งมองอินเดียจากสังคมโลกโดยมุ่งเน้นไปที่กำลังซื้อมหาศาลระดับ 400 ล้านคนนั้น เป็นมุมมองจาก “แว่น” ของทุนนิยมล้วนๆ
เพราะคำถามที่ตามติดมาก็คือ แล้วประชากรอีกหลายร้อยล้านคนที่ยังลำบากยากแค้น เหตุใดจึงไม่พูดถึงบ้าง และประชากรกลุ่มนี้จะกลายเป็น “ตัวฉุด” ของอินเดียหรือไม่ หากยังมุ่งพัฒนาโดยฐานคิดของ "ทุนนิยม" ต่อไป โดยเฉพาะเมื่อความเชื่อตามหลักศาสนาเริ่มคลายตัวลง
คงไม่ถูกต้องนักหากเราจะพูดกันแต่ศักยภาพ แต่ไม่พูดถึงอะไรๆ ที่ซุกอยู่ใต้พรม ประหนึ่งคิดถึงแต่โครงการแสนล้าน โดยไม่พิจารณาถึงวิถีชีวิตของคนเล็กๆ ที่ต้องกระเด้งกระดอนไม่ต่างจากลูกชิ้นตกพื้นไร้ราคา
ภาพขอทานจำนวนมากตามแหล่งท่องเที่ยว ภาพเจ้าของร้านขายของที่ระลึกสาดน้ำไล่คนวรรณะต่ำกว่ายังมีให้เห็นอยู่ทั่วไป หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอินเดีย ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ท่องบทสวดมนต์ของชาวพุทธแบบล้อเลียนปนเหยียดหยามเล็กๆ เมื่อเห็นนักท่องเที่ยวชาวไทยคล้องพระเครื่องเต็มคอ ก็ยังมีปรากฏอยู่เช่นกัน รวมถึงภาพอุทกภัยขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของประเทศ ช่วงเดียวกับที่คณะของสถาบันพระปกเกล้าเดินทางเยือนอินเดียด้วย
เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาและสามารถขยายปมขัดแย้งได้ทั้งภายในและภายนอกทั้งสิ้น เพียงแต่อินเดียก้าวข้ามเรื่องปลีกย่อยต่างๆ ไป โดยมีศาสนาและความเชื่อที่อิงกับศาสนาเป็น “ตัวช่วย” ดูดซับความขัดแย้ง พร้อมๆ กับใช้ "ต้นทุน" ทั้งหมดที่มีแหวกฟ้าคว้าสิ่งที่ใหญ่กว่า ซึ่งนาทีนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าผิดหรือถูก โดยเฉพาะหากไม่เลือกมองผ่านแว่นทุนนิยม
การได้ไปเห็น ได้ไปเรียนรู้สภาพความเป็นไปของบ้านอื่นเมืองอื่น ทำให้หวนคิดถึงบ้านเกิดเมืองนอนของเรา เพราะบ้านเรามี “ทุน” ไม่ได้ด้อยกว่าเลย ไม่ว่าจะสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ปลอดจากภัยธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ และที่สำคัญที่สุดคือน้ำจิตน้ำใจแบบไทยๆ
แต่ทำไมประเทศอื่นเขาพยายามก้าวเดินหน้า ขณะที่พี่ไทยกำลังก้าวถอยหลังก็ไม่รู้?!?
-------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 คนขี่สามล้อถีบกำลังยืนรอผู้โดยสาร ท่ามกลางสภาพการจราจรอันจอแจ โดยมีสิ่งปลูกสร้างทางอารยธรรมอันยิ่งใหญ่เป็นฉากหลัง
2 "รถลาก" ที่ใช้ "คนลาก" ยังมีให้เห็นใน "โกลกัตตา"
3 รถประจำทางเหนือคำบรรยาย
4 นักบวชของศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาหลักในอินเดีย สะท้อนความหลากหลายทางความเชื่อและศรัทธา
5 ขบวนหาบเครื่องสักการะ เดินมาราธอนกว่า 400 กิโลเมตร
อ่านประกอบ :
- ตามไปดูประสบการณ์อินเดียแก้ก่อการร้าย แนะไทยใช้ "เจรจา" ดับไฟที่ปลายขวาน