คลี่แผนถอนทหาร จำนวนหมู่บ้านแดง และเป้าหมายรัฐไฟใต้ดับปี 57
ตามที่เคยรายงานเอาไว้ว่าปี 2556 จะเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างดับไฟใต้ครั้งใหญ่ ด้านหนึ่งคือการเอาจริงเอาจังเรื่องการ "เจรจาสันติภาพ" ขณะที่อีกด้านคือเรื่องการ "ถอนกำลังทหาร" ออกจากพื้นที่
ในเรื่องการ "เจรจาสันติภาพ" นั้น แม้จะมีการเข็นนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557 ออกมา และบุคคลในระดับรัฐบาลเริ่มพูดเรื่องการเจรจามากขึ้น แต่ในแง่ที่จะปรากฏผลในเชิงรูปธรรมยังไม่มีให้เห็นมากนัก
ทว่าในเรื่องการ "ถอนทหาร" แม้ฝ่ายกองทัพจะยื้อมานานหลายปี แต่ปีนี้กลับมีรูปธรรมมากกว่า
ส่งตำรวจชุด นปพ.เข้าพื้นที่ 10 อำเภอ
ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ การเตรียม "กำลังตำรวจ" เข้าไปปฏิบัติหน้าที่แทน "ทหาร" โดยจะเริ่มในเดือน พ.ค.นี้เป็นต้นไป โดย "กำลังทหาร" จากกองทัพภาค 1-2-3 ซึ่งเป็นกองกำลังจากนอกพื้นที่จะถูก "ทยอย" ถอนออกไป แล้วทดแทนด้วยตำรวจ 1,690 นาย (ในห้วงแรก) ที่เปิดรับจากอดีตทหารเกณฑ์ ขณะนี้ทำการฝึกอยู่ที่ศูนย์การทหารราบ เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็น "หน่วยปฏิบัติการพิเศษเคลื่อนที่เร็ว" (นปพ.) จำนวน 38 หมวด เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว (รับผิดชอบพื้นที่ระดับอำเภอ) ที่มีอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับพื้นที่ที่ "กำลังตำรวจ" จะเข้าไปทดแทนและเสริมการปฏิบัติของทหารในห้วงแรกนั้น กำหนดไว้ 10 อำเภอซึ่งมีสถิติการก่อเหตุรุนแรงค่อนข้างเบาบาง ได้แก่ อ.เบตง กับ อ.กาบัง จ.ยะลา, อ.ไม้แก่น กับ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี, อ.แว้ง กับ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
จ่อเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเพิ่ม 5 อำเภอ
พิจารณาจากพื้นที่ 10 อำเภอดังกล่าว เป็นอำเภอที่ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ไปแล้ว และประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) แทน หรือประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯต่อเนื่องมา รวม 5 อำเภอ คือ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี กับกลุ่ม 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
ทั้งนี้ ในส่วนของ อ.จะนะ กับ อ.นาทวี ได้โอนภารกิจด้านความมั่นคงจากหน่วยเฉพาะกิจสงขลา (ทหาร) ไปยัง กอ.รมน.จังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (พลเรือน) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด เท่ากับเป็นการเปลี่ยนมือจาก "ทหาร" สู่ "พลเรือน" นำร่องไปก่อนแล้วเมื่อวันที่ 8 ม.ค.2556
ฉะนั้นอีก 5 อำเภอที่เหลือ ซึ่งเป็นอำเภอในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งสิ้น จึงอยู่ในกลุ่มที่รัฐบาลเตรียมยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในลำดับต่อไป ซึ่งเป็นตัวเลขตรงตามที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงให้ข่าวมาตลอดคือราวๆ 5-6 อำเภอ
ทหารพราน 12 กรมปฏิบัติการแทนทหารหลัก
สำหรับกำลังทหารหลักที่เหลืออยู่จะเป็นกำลังจากกองทัพภาคที่ 4 ในฐานะเจ้าของพื้นที่ โดยเป็นกำลังของ "กองพลทหารราบที่ 15" หรือ "พล.ร.15" ซึ่งจัดตั้งและออกแบบไว้สำหรับรับผิดชอบปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็ได้มีความพยายามบรรจุกำลังพลให้ครบตามที่วางเป้าเอาไว้อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ปฏิบัติการทางทหารจะยังคงอยู่ต่อไป โดยใช้กำลัง "ทหารพราน" เป็นหลักแทน ซึ่งจนถึงขณะนี้ได้ทำการฝึกและส่งกำลังเข้าไปในพื้นที่แล้ว 12 กรมทหารพราน แต่ยังบรรจุกำลังพลไม่ครบ กล่าวคือ 7 กรมทหารพรานที่มีอยู่เดิม มีกำลังพลกรมละ 16 กองร้อย (เต็มอัตรา) ส่วนอีก 5 กรมทหารพรานที่ตั้งขึ้นใหม่ ยังมีกำลังพลกรมละ 12 กองร้อย ยังขาดกำลังพลอีก 20 กองร้อย หรือราวๆ 1,800 นาย โดยปัจจุบันมีทหารพรานปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่แล้วราว 16,000 นาย
324 หมู่บ้านแดง- ตั้งเป้าลดให้ได้ 118 หมู่บ้าน
ด้านการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ มีข้อมูลจากการประชุมลับที่ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อันเป็นฐานบัญชาการใหญ่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ในห้วงที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ได้นำเสนอรายงาน
ข้อมูลจากรายงานที่เสนอต่อรัฐมนตรีกลาโหมสรุปว่า ปัจจุบันมี "หมู่บ้านสีแดง" อันหมายถึงหมู่บ้านที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบอยู่ 324 หมู่บ้านใน 10 อำเภอ จากจำนวนหมู่บ้านรวมกว่า 1,900 หมู่บ้านใน 33 อำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ บวกกับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา (รวมเป็น 37 อำเภอ)
แผนงานที่ กอ.รมน.ภาค 4 สน.ตั้งเป้าเอาไว้คือ ในปีงบประมาณ 2556 จะลดจำนวน "หมู่บ้านสีแดง" จาก 324 หมู่บ้าน โดยแปรให้เป็น "หมู่บ้านสีเหลือง" หรือ "สีเขียว" ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านที่ปลอดจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือมีความเคลื่อนไหวเบาบาง จำนวน 118 หมู่บ้าน
ข้อมูลนี้ทำให้รัฐมนตรีสั่งเป็นนโยบายเอาไว้ว่า เวลาให้สัมภาษณ์ถึงปัญหาความไม่สงบ ไม่ให้ใช้คำว่า "สามจังหวัดชายแดนภาคใต้" อีกต่อไป เพราะทำให้ปัญหาดูใหญ่โตเกินจริง แต่ให้ใช้คำว่า "324 หมู่บ้าน" จาก "1,900 หมู่บ้าน" แทน
รัฐบาลมั่นใจไฟใต้ดับไม่เกินปี 57
ในการประชุมดังกล่าว มีรายงานว่ารัฐมนตรีกลาโหมบอกกับที่ประชุมว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้ยุคนี้ถือว่ามี "ทีมเวิร์ค" ดีที่สุดกว่าทุกยุค เพราะตำรวจกับทหารประสานงานกันได้ดี (พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 กับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นเดียวกัน) และเลขาธิการ ศอ.บต.ยังเป็นอดีตนายตำรวจอีกด้วย (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง)
รัฐมนตรีกลาโหมยังให้ความมั่นใจต่อที่ประชุมด้วยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอารเบียกำลังจะดีขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะถ้าคดีอุ้มฆ่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวรี นักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ซาอุฯ (ถูกอุ้มหายเมื่อปี 2533) มีคำพิพากษาจากศาล ซึ่งจะส่งผลต่อสถานการณ์ไฟใต้ด้วย
"ฉะนั้นในปีงบประมาณ 2556 หรือไม่เกิน 2557 สถานการณ์จะต้องดีขึ้นหรือจบไปเลย!"
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคงที่มี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ที่ค่ายสิรินธร จ.ปัตตานี ขณะเดินทางลงพื้นที่เมื่อ 22 ม.ค.2556