ตามไปดูประสบการณ์อินเดียแก้ก่อการร้าย แนะไทยใช้ "เจรจา" ดับไฟที่ปลายขวาน
สถาบันพระปกเกล้าเพิ่งนำนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 2 หรือ 4 ส.2 ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาวิชาชีพต่างๆ ทั้งข้าราชการ ทหาร ตำรวจ อัยการ ศาล นักวิชาการ ผู้นำศาสนา ผู้แทนจากภาคเอกชน ภาคประชาชน และสื่อมวลชน จำนวนกว่า 50 ชีวิต เดินทางไปสาธารณรัฐอินเดีย ระหว่างวันที่ 3-10 ส.ค.ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาสภาพสังคมและประสบการณ์การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั้งในมิติทางศาสนา ชาติพันธุ์ และแบ่งแยกดินแดน
สาเหตุที่เลือกศึกษาอินเดีย เพราะ "อินเดีย" เป็นประเทศที่มีความหลากหลายในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะทัศนคติความเชื่อของประชาชน รวมทั้งมีโครงสร้างทางสังคมค่อนข้างซับซ้อน มีระบบวรรณะ แต่กลับไม่ได้เป็นตัวฉุดความยิ่งใหญ่ของประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยล่าสุดอินเดียกำลังก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารของโลก
นักวิเคราะห์หลายรายระบุตรงกันว่า บทบาทของมหาอำนาจใหม่แห่งเอเชียอย่างจีนและอินเดีย กำลังจะเปลี่ยนดุลอำนาจของโลกในระยะเวลาอันใกล้นี้...
รู้จักอินเดีย
ประเทศอินเดีย หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า "สาธารณรัฐอินเดีย" ได้รับเอกราชเมื่อปี ค.ศ.1947 อินเดียเป็นส่วนหนึ่งของ "อนุทวีป" มีพื้นที่ 3.28 ล้านตารางกิโลเมตร ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก มีประชากรมากถึง 1.13 พันล้านคน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก ประชากรนับถือศาสนาฮินดู 81% ที่เหลือนับถืออิสลาม 12% และศาสนาอื่นๆ เช่น ซิกข์ พุทธ ฯลฯ รวมอีก 7%
แม้ประชากรที่นับถือศาสนาอิสลามจะมีเพียง 12% แต่เป็น 12% จาก 1.13 พันล้านคน ทำให้คาดหมายกันว่าอีกไม่เกิน 30 ปี อินเดียจะเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก
อินเดียแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 28 รัฐ กับอีก 7 เขตปกครอง หรือที่เรียกว่า "ดินแดนสหภาพ"
หลังจากอินเดียได้รับเอกราชช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อินเดียดำเนินนโยบายไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และเป็นแกนนำจัดตั้งกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด หรือ "นาม" (NAM) ในอดีตนั้นอินเดียใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต จึงมีสภาพคล้ายๆ กับปิดประเทศ ต่อเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลาย อินเดียจึงปรับตัวและเปิดประเทศมากขึ้น ประกอบกับสหรัฐมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์กับจีน ทำให้อินเดียกำหนดนโยบายด้านการต่างประเทศให้ใกล้ชิดชาติตะวันตกมากกว่าเดิม เพื่อถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐและจีนในภูมิภาคเอเชีย
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อินเดียต้องเร่งเปิดประเทศ คือวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี ค.ศ.1991 ปัจจุบันอินเดียเป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ยึดหลักการไม่ใช้ความรุนแรง แต่ใช้ฐานของทุกศาสนาและความหลากหลายทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมเป็นพลังในการพัฒนา
ในแง่เศรษฐกิจ อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดทางเศรษฐกิจที่น่าจับตามากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เนื่องจากมีคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมากถึง 400 ล้านคน ที่ผ่านมาอินเดียมีพื้นฐานจากสังคมเกษตรกรรม แต่หลังจากเปิดประเทศ ทำให้มีคนอินเดียถึง 30 ล้านคนที่ไปศึกษาและทำงานในต่างประเทศหวนกลับมาสร้างบ้านแปงเมือง ส่งผลให้หลังปี ค.ศ.2004 อินเดียมีเศรษฐกิจเติบโตสูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก คือโตต่อเนื่องราวปีละ 8-9% แม้ช่วงที่โลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ปัจจุบันอินเดียเป็นศูนย์กลางการผลิตซอฟท์แวร์ มีนิคมอุตสาหกรรมทางด้านคอมพิวเตอร์ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก มีคนวัยทำงานถึง 40% คนเหล่านี้สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี จึงสามารถทำงานได้กับทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เข้ามาลงทุนในอินเดีย หรือทำงานกับบริษัทชั้นนำในประเทศต่างๆ ทั่วโลก
นอกจากนั้น อินเดียยังเป็นมหาอำนาจทางทหาร มีกำลังพลถึง 1,325,000 คน ถือเป็นกองทัพที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก มีหัวรบนิวเคลียร์หลายสิบหัวรบ สามารถผลิตเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ได้เอง
การเมืองในอินเดียมีรัฐบาลกลางกับรัฐบาลมลรัฐ ปัจจุบันรัฐบาลกลางเป็นรัฐบาลผสม 11 พรรรค นำโดยพรรคคองเกรส เป็นรัฐบาลต่อเนื่องเป็นวาระที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2552 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี นโยบายเน้นพัฒนารากหญ้า ขณะที่นโยบายด้านการต่างประเทศถือว่าน่าจับตา นอกจาก Look East Policy ที่กำหนดวิสัยทัศน์จับมือกับประชาชาติในเอเชียเพื่อถ่วงดุลกับสหรัฐและมหาอำนาจตะวันตกไปพร้อมๆ กับหวังผลแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนด้านเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศแล้ว อินเดียยังตั้งเป้าเป็นชาติมหาอำนาจในเวทีโลก ต้องการเข้าเป็นสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย
เผชิญภัยคุกคามก่อการร้าย
แม้อินเดียจะเป็นชาติมหาอำนาจเกือบทุกด้าน แต่ก็ต้องเผชิญกับปัญหาด้านความมั่นคงไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ โดยอินเดียประสบปัญหาการก่อการร้ายข้ามพรมแดนตามแนวชายแดนด้านปากีสถาน การก่อการร้ายของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจัมมูร์แคชเมียร์ทางตอนเหนือของประเทศ และการก่อความไม่สงบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ เช่น รัฐเบงกอลตะวันตก รวมถึงพรมแดนด้านที่ติดกับบังคลาเทศ พม่า และจีน
สรุปภัยคุกคามด้านก่อการร้ายภายในประเทศของอินเดียในปัจจุบันได้แก่
1.การก่อการร้ายของกลุ่มนิยมลัทธิเหมา (Maoists / Naxalite) ซึ่งปัจุบันมีอิทธิพลอยู่ในรัฐพิหาร ฌาขัณฑ์ เบงกอลตะวันตก โอริสสา ฉัตติสครห์ และอานธรประเทศ หรือเรียกว่าเขต Red Belt ซึ่งในปีที่ผ่านมาได้ก่อการความรุนแรงรูปแบบต่างๆ อย่างอุกอาจมากขึ้น รัฐบาลอินเดียถือว่าภัยคุกคามจากกลุ่มนิยมลัทธิเหมาเป็นปัญหาระดับชาติที่ร้ายแรงที่สุดในขณะนี้
2.การก่อการร้ายจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในรัฐจัมมูร์แคชเมียร์
3.การก่อการร้ายและก่อความไม่สงบในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยรัฐที่มีปัญหาคือรัฐอัสสัม มณีปุระ และนากาแลนด์
4.การก่อการร้ายข้ามพรมแดนจากปากีสถาน ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ก่อการใช้รัฐจัมมูร์แคชเมียร์เป็นฐานปฏิบัติการ แต่ในปัจจุบันมีแนวโน้มว่าจะขยายขอบเขตการปฏิบัติการออกนอกพืนที่ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
ใช้ "การทหาร" คู่ "การพัฒนา"
รัฐบาลมีมาตรการแก้ไขปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ โดยจัดตั้งหน่วยรักษาความมั่นคงแห่งชาติประจำภูมิภาค 4 แห่ง คือที่เมืองมุมไบ โกลกัตตา เจนไน และไฮเดอราบัด นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งหน่วยสอบสวนกลางแห่งชาติ และจัดตั้ง Quick Response Team และ Special Intenvention Unit ประจำรัฐ เพื่อให้เป็นหน่วยตอบโต้การก่อการร้ายอย่างทันท่วงที ตลอดจนการจัดตั้งกลไกประสานงานด้านการข่าวระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลแห่งรัฐ
สำหรับมาตรการต่อกลุ่มนิยมลัทธิเหมานั้น รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาจากสาเหตุที่เป็นรากเหง้า คือการพัฒนาพื้นที่ในเขตอิทธิพลของกลุ่มนิยมลัทธิเหมา และแก้ไขระบบการประสานงานของหน่วยงานด้านความมั่นคงระหว่างรัฐบาลกลางกับรัฐบาลของรัฐ
เน้น "เจรจา" คลี่ปมพิพาทปากีสถาน
ส่วนความขัดแย้งกับปากีสถานนั้น มีปัญหารากฐานมาตั้งแต่การแบ่งแยกประเทศหลังการประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ โดยทั้งอินเดียและปากีสถานต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนรัฐจัมมูร์และแคชเมียร์ กระทั่งนำไปสุ่การทำสงครามครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้ง และความขัดแย้งยังทิ้งเชื้ออยู่จนถึงปัจจุบัน
ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเมื่อปี 2547 ผู้นำทั้งสองประเทศตกลงให้มีกระบวนการเจรจาที่เรียกว่า Composite Dialogue เพื่อรื้อฟื้นความสัมพันธ์และเป็นเวทีแก้ไขปัญหาข้ดข้อแย้งต่างๆ แต่การเจรจาก็หยุดชะงักเป็นระยะๆ โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่เมืองมุมไบเมื่อเดือน พ.ย.2551 ซึ่งอินเดียเชื่อว่าหน่วยข่าวกรองปากีสถานมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้อินเดียแสดงท่าทีแข็งกร้าว ไม่ยอมรื้อฟื้นการเจรจาหากปากีสถานยังไม่จับกุมตัวผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรงที่มุมไบมาดำเนินคดี และไม่กวาดล้างค่ายผู้ก่อการร้ายในปากีสถานอย่างจริงจัง
กระนั้นก็ตาม เมื่อเดือน ก.พ.2553 รัฐบาลอินเดียก็มีข้อเสนอไปยังรัฐบาลปากีสถานให้เปิดการเจรจาในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดกระบวนการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคี ซึ่งปากีสถานตอบรับข้อเสนอของอินเดีย และปลัดกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายได้พบปะหารือกันแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 25 ก.พ.และ 24 มิ.ย.2553 แม้จะยังไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมนัก แต่ก็เป็นสัญญาณและพัฒนาการที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายไม่ปิดกั้นช่องทางการเจรจาระหว่างกัน
นโยบายรัฐต้องสมดุล-ไม่ลำเอียง
อินเดียมี "สถาบันศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง" (Institute of Peace and Conflict Studies ; IPCS) ซึ่งเปรียบเสมือน "คลังสมอง" ของประเทศ มีบทบาทเสนอยุทธศาสตร์และแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่อรัฐบาล ซึ่งคณะนักศึกษา 4 ส.2 ของสถาบันพระปกเกล้า ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารและนักวิชาการของ IPCS รวมทั้งวิเคราะห์ทิศทางการแก้ไขปัญหาก่อการร้าย ตลอดจนประเด็นท้าทายนโยบายด้านการต่างประเทศของอินเดีย เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา
นาย Dipanakar Banerjee ผู้อำนวยการ IPCS กล่าวว่า พลวัตของนโยบายความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดียมีหลากหลายมิติ แต่ประเด็นที่ท้าทายมากที่สุดคือปัญหาปากีสถาน ซึ่งมีลัทธิการก่อการร้าย
นอกจากนั้น ประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอินเดีย โดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันอย่างปากีสถาน จีน พม่า และบังคลาเทศ ล้วนมีผลต่ออินเดียในการกำหนดนโยบายการเมืองและการพัฒนา แต่หลักการสำคัญคือการหาจุดสมดุลของนโยบายรัฐ และกำหนดนโยบายภายในไม่ให้ลำเอียงเข้าข้างชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป
อย่างไรก็ดี ปัญหาระหว่างประเทศซับซ้อนยิ่งขึ้นเมื่อมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกายื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการแสดงบทบาทจัดการปัญหาการก่อการร้าย
แยกดินแดน : ข้อเรียกร้องจอมปลอม
KC Singh อดีตทูตอิหร่านของอินเดีย กล่าวว่า ประเด็นความขัดแย้งที่เป็นปัญหาด้านความมั่นคงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในดินแดนทางตอนเหนือของประเทศ (ชายแดนปากีสถานและรัฐจัมมูร์แคชเมียร์) มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อแบ่งแยกดินแดน อันสืบเนื่องจากความต่างทางศาสนาและความรู้สึกเชิงอัตลักษณ์ ที่ผ่านมาอินเดียกับปากีสถานได้รับเอกราชจากอังกฤษพร้อมๆ กัน แต่อินเดียมีประชากรส่วนใหญ่เป็นฮินดู ขณะที่ปากีสถานมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม จุดนี้คือปัญหา
อินเดียกับปากีสถานรบกันหลายครั้งเพื่อแย่งดินแดนจัมมูร์แคชเมียร์ ปัญหาซับซ้อนขึ้นในยุคสงครามเย็น เมื่อสหรัฐอเมริกาเล่นบทสนับสนุนปากีสถาน ขณะที่สหภาพโซเวียตก็สนับสนุนอินเดียเพื่อคานอำนาจกันและกัน แม้ปัจจุบันสหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้ว แต่ปัญหาในจัมมูร์แคชเมียร์ยังคงอยู่
"ปากีสถานต้องหยุดแพร่พันธุ์มุสลิมหัวรุนแรง เพราะต่อให้ดินแดนแคชเมียร์ตกเป็นของปากีสถาน ปัญหาก็ไม่จบ เนื่องจากปากีสถานเป็นศูนย์กลางญิฮาดลิซึม ฉะนั้นถึงที่สุดแล้วการเรียกร้องแบ่งแยกดินแดนจึงเป็นเพียงข้อเรียกร้องจอมปลอมเท่านั้น" KC Singh กล่าว
ขุดรากปัญหาปากีสถาน-แคชเมียร์
D Suba Chandran นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายความมั่นคงภายในของปากีสถาน และทำงานในพื้นที่จัมมูร์แคชเมียร์มาตลอด กล่าวว่า อินเดียกับปากีสถานมีความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนานใน 2 ปมสำคัญ คือ
1.ปากีสถานมองว่ามีปัญหาเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน โดยเฉพาะดินแดนแคชเมียร์ แนวทางการแก้ปัญหาเน้นใช้กำลังทหาร ปัจจุบันปัญหายังไม่สิ้นสุด
2.ในยุคหนึ่งมีการเปลี่ยนยุทธวิธีโดยใช้สงครามตัวแทน คือใช้ผู้ก่อการร้าย ช่วงที่มีปัญหาความรุนแรงหนักที่สุดคือทศวรรษที่ 90 (1990-1999) แต่ปัจจุบันทั้ง 2 ประเทศเริ่มตระหนักว่าการใช้กำลังแก้ปัญหาไม่มีทางได้ข้อยุติ นายกรัฐมนตรีมานโมฮัน ซิงห์ (นายกฯคนปัจจุบัน) จึงกำหนดนโยบายใหม่ว่าชายแดนไม่ใช่ปัญหาขัดแย้ง และส่งเสริมให้เปิดชายแดน เพื่อเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า
D Suba Chandran กล่าวด้วยว่า ดินแดนแคชเมียร์มีอาณาเขตกว้างขวาง แบ่งออกเป็น 3 ภาค พื้นที่บางส่วนมีประชากรนับถือศาสนาพุทธ ฉะนั้นปัญหาในแคชเมียร์จึงเป็นปัญหาทางศาสนาส่วนหนึ่งด้วย ขณะที่ในมุมการเมืองก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะในดินแดนแห่งนี้มีพรรคการเมือง 3 พรรคเป็นตัวแทนของคนแต่ละกลุ่มในพื้นที่ แต่แตกต่างกันด้านแนวคิดและนโยบาย จึงพยายามผลักดันเฉพาะนโยบายที่เป็นผลประโยชน์ต่อกลุ่มตน ซ้ำยังมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล และผลประโยชน์ของชาติตะวันตกสูงมาก ส่งผลให้ปัญหาไม่ยุติ
ผูกมิตร"บังคลาเทศ-พม่า"ถอดสลักก่อการร้าย
Baladas G Hoshal นักวิชาการของ IPCS อีกคนหนึ่ง กล่าวถึงปัญหาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านคือ บังคลาเทศและพม่า โดยบอกว่า นโยบายการพัฒนาของรัฐบาลกลางไม่ชัดเจน ทำให้คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ มีการอพยพลลี้ภัยเข้าออกประเทศ และมีปัญหาขาดโอกาสด้านการพัฒนา ส่งผลให้เกิดการก่อการร้ายและก่อความไม่สงบ
"กลุ่มผู้ก่อการในพื้นที่นี้ เมื่อก่อเหตุแล้วก็มักจะหนีข้ามแดนไปบังคลาเทศ ทำให้อินเดียจำเป็นต้องมีนโยบายพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านด้านนี้มากกว่าเดิม และมีนโยบายเชิงรุกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งพม่าและบังคลาเทศ จนเป็นที่มาของนโยบาย Look East Policy หรือให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศทางตะวันออกของอินเดีย ทั้งบังคลาเทศ พม่า และกลุ่มอาเซียน" นักวิชาการรายนี้ กล่าว
แนะ "การทหาร" คู่ "เจรจา" ยุติไฟใต้ของไทย
ในช่วงท้าย มีคำถามเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยผ่านมุมมองและประสบการณ์ของอินเดีย นาย Dipanakar Banerjee ซึ่งเคยร่วมประชุมสัมมนาระดมความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทั้งประเด็นการเมืองและภาคใต้ที่ประเทศไทยหลายครั้ง กล่าวว่า ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 2 ประเด็น คือชาติพันธุ์ กับปัญหาสังคม
"การใช้กำลังทหารยังจำเป็น เพราะต้องควบคุมและลดพื้นที่ปฏิบัติการของผู้ก่อความไม่สงบ แต่การใช้กำลังทหารต้องควบคู่ไปกับความพยายามหาข้อยุติทางการเมืองด้วยการเจรจาและแสวงหาสันติภาพไปพร้อมกันด้วย" ผู้อำนวยการ IPCS กล่าว
----------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 คานธี สัญลักษณ์การต่อสู้แก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีและอหิงสาของอินเดีย
2 ความวุ่นวายของ "พิงค์ ซิตี้" ในเมืองไชยปุระ แหล่งอารยธรรมอันเก่าแก่และโด่งดังของอินเดีย
3 ทัชมาฮาล อนุสรณ์แห่งความรัก หนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ที่เมืองอัครา ประเทศอินเดีย