ก.เกษตรฯ ตั้งเป้า 2 ปีเพิ่มผลผลิตปลาลุ่มน้ำยม
เกษตรฯ เดินหน้าโครงการเพิ่มผลผลิตปลาในลุ่มน้ำยมตอนล่าง วางเป้า 2 ปี สร้างกร่ำเป็นบ้านปลา 8 แห่ง ในพื้นที่ทุ่งสุโขทัย หวังฟื้นความอุดมสมบูรณ์ ควบคู่วางเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์น้ำดึงชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน
นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดโครงการเพิ่มผลผลิตปลาในลุ่มน้ำยมตอนล่าง ณ ตำบลวัดขวาง อ.โพทะเล จ.พิจิตร ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการเพิ่มผลผลิตปลาในลุ่มน้ำยมตอนล่าง ครอบคลุมพื้นที่ จ.พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย เพื่อเพิ่มแหล่งอาศัยและแหล่งบำรุงรักษาพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำในแม่น้ำยม รวมถึงเสริมสร้างพันธุ์สัตว์น้ำและผลผลิตสัตว์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างให้มีมากขึ้น โดยมีเป้าหมายสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยให้สัตว์น้ำและแหล่งบำรุงรักษาพ่อแม่พันธุ์ปลาหรือที่รู้จักกันในชื่อ "กร่ำ" ในบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างเพิ่มขึ้น จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ พิจิตร 4 แห่ง พิษณุโลก 2 แห่ง และสุโขทัย 2 แห่ง ภายในระยะเวลา 2 ปี รวมถึงสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์สัตว์น้ำลุ่มน้ำยม จำนวน 120 คน เพื่อให้ชุมชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรประมง ลดการทำการประมงของเครื่องมือประมงผิดกฎหมายและเครื่องมือประมงที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรก่อนเวลาอันควร ร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการทำประมงในช่วงฤดูปลามีไข่เพื่อเปิดเส้นทางการอพยพของพ่อแม่พันธุ์ปลาเวลาว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ และพอถึงช่วงน้ำลดลงจากทุ่งลูกปลาเหล่านั้นก็จะว่ายกลับสู่ลำน้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนสู่แม่น้ำยมอีกครั้งหนึ่ง
นายศิริวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า โครงการเพิ่มผลผลิตปลาในลุ่มน้ำยมตอนล่าง เป็นโครงการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อเนื่องจากโครงการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำให้มีความยั่งยืนและคงความหลากหลายบริเวณพื้นที่ทุ่งสุโขทัยและลุ่มน้ำยมตอนล่าง ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2552 เนื่องจากลุ่มน้ำยมตอนล่างมีเนื้อที่เกือบครึ่งหนึ่งของลุ่มน้ำยมทั้งหมด เป็นพื้นที่รองรับน้ำและเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังประจำทุกปี กินเนื้อที่ประมาณ 2-3 แสนไร่ และท่วมต่อเนื่องนานครั้งละ 1-3 เดือน ทุ่งน้ำท่วมผืนใหญ่หรือที่เรียกกันว่า 'ทุ่งสุโขทัย' จึงมีกำลังการผลิตทรัพยากรสัตว์น้ำจืดอย่างมหาศาล มีความอุดมสมบูรณ์ของพันธุ์ปลานานาชนิด ทั้งในส่วนของการวางไข่ แหล่งเลี้ยงตัวในวัยอ่อน ซึ่งนอกจากจะเป็นระบบนิเวศน์ที่เอื้อประโยชน์ต่อทรัพยากรสัตว์น้ำแล้ว ยังจัดเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารเลี้ยงผู้คน เป็นแหล่งรายได้ที่หมุนเวียนในชุมชนและพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งเป็นแหล่งต้นทุนของทรัพยากรสัตว์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
สำหรับโครงการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรม 4 ส่วนหลัก ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 สร้างแหล่งอนุรักษ์พ่อแม่พันธุ์ปลาในลุ่มน้ำยมตอนล่างโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน กิจกรรมที่ 2 เฝ้าระวังควบคุมการทำการประมงช่วงฤดูปลามีไข่และช่วงปลาอพยพออกจากทุ่งสุโขทัย กิจกรรมที่ 3 เพาะขยายพันธุ์สัตว์น้ำจากชุดอุปกรณ์เพาะฟักเคลื่อนที่เพื่อเพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในชุมชน และกิจกรรมที่ 4 ประเมินความชุกชุมของลูกปลาวัยอ่อนในพื้นที่ทุ่งสุโขทัย ทั้งนี้ ลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำประธานลำดับที่ 8 ของประเทศ ประกอบด้วยลุ่มน้ำย่อย 11 ลุ่มน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัด ความยาวประมาณ 735 กิโลเมตร มีทิศทางการไหลจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้ ปัจจุบันสถานภาพของทรัพยากรสัตว์น้ำในลุ่มน้ำยมมีการถดถอยลงอันนเนื่องจากปัจจัยต่างๆ อาทิ การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในประเทศทำให้มีความต้องการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น การพัฒนาเมืองที่ส่งผลกระทบให้กำลังผลิตลดลงเนื่องจากการเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อมและการขาดแหล่งอาศัยและแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนของสัตว์น้ำ การทำประมงในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมหรือใช้เครื่องมือผิดกฎหมายดังนั้น โครงการเพิ่มผลผลิตปลาในลุ่มน้ำยมตอนล่างจึงเป็นการดำเนินงานที่จะทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นและมีการใช้ประโยชน์อย่างอย่างยั่งยืนต่อไป