ศิลปะดับไฟใต้...กับประกายความคิดของศิลปินแห่งชาติ
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
นับตั้งแต่เกิดปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้คนมากมายให้ “นิยาม” ดินแดนปลายสุดด้ามขวานไปต่างๆ กันตามแต่มุมมองแห่งสาขาวิชาชีพและความสนใจแห่งตน แต่น้อยครั้งนักที่ชายแดนใต้จะถูกมองผ่านสายตาของศิลปินผู้ถ่ายทอดงานศิลปะ...และน้อยยิ่งกว่าน้อยที่จะเป็นทัศนะของ “ศิลปินแห่งชาติ”
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) จัดโครงการศิลปินแห่งชาติสัญจร ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ “วิถีวัฒนธรรมชายแดนใต้” ด้วยการเชิญศิลปินแห่งชาติลงพื้นที่สัมผัสเรื่องราวเล่าขาน และตำนานศิลป์แห่งดินแดนมลายู พร้อมๆ กับสนับสนุนกิจกรรมด้านศิลปะของเด็กๆ และเยาวชนที่เป็นดั่งศิลปินตัวน้อย
ประกายความคิดที่สะท้อนผ่านศิลปินแห่งชาติชื่อก้องกับมุมมองที่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง...
กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2540 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) หนึ่งในศิลปินที่ร่วมคณะสำรวจวิธีวัฒนธรรมชายแดนใต้ เผยความรู้สึกให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้เคยลงมาในพื้นที่บ่อยครั้ง แต่ระยะหลังประมาณปีกว่าที่ไม่ได้ลงมา ได้แต่ติดตามข่าวสารทางสื่อ เมื่อลงมาจริงๆ ทำให้รู้สึกว่าข่าวที่นำเสนอรุนแรงเกินสถานการณ์จริง
“เรามากัน 8 คนจากหลายภาค มาเพื่อถ่ายทอด เติมไฟ ให้กำลังใจ และปลูกฝังความคิด ปรัชญาทางด้านศิลปะแก่เด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่ เพื่อให้เขาเติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ทางศิลปะต่อไป เราอยากปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้กำลังใจกับการพัฒนางานของพวกเขา” กมลอธิบายถึงเหตุผลของการล่องใต้เที่ยวล่าสุด
“ผมคิดว่าศิลปะมีความเป็นสากล สามารถสื่อกันได้ ผมเห็นเด็กๆ ที่มาจากหลายภาคกับเด็กในพื้นที่ทำงานศิลปะร่วมกัน เขาสื่อความหมายต่างๆ ด้วยความสนุกสนาน โดยไม่เห็นภาพการแบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็นเด็กพุทธ เด็กมุสลิม ทุกคนล้วนเป็นเพื่อนกัน รักกัน นี่คือสิ่งดีๆ ที่มีงานศิลปะเป็นตัวเชื่อม”
กมล บอกว่า ศิลปะที่ชายแดนใต้สะท้อนถึงความมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเพณี สังคม และศาสนา สิ่งเหล่านี้มองเห็นง่าย และพลังอาจจะมากกว่าอีกหลายๆ ภาค เพราะไม่ค่อยถูกวัฒนธรรมอื่นหลอมรวม
“คนทำงานศิลปะที่นี่สามารถสะท้อนบางอย่างที่เป็นสากลได้ โดยมีความเป็นท้องถิ่นเป็นพื้นฐาน มีความแข็งแกร่งทางความคิดและการแสดงออก ทุกคนมีความตั้งใจมาก ผมเป็นกรรมการตัดสินงานศิลปะของผู้เข้าประกวดทั่วประเทศมาแล้ว ผมคิดว่าที่นี่มีความแข็งแกร่ง ผมเคยคัดเลือกเด็กที่นี่ไปทำกิจกรรมในพื้นที่อื่นๆ และพาไปต่อยอดที่อเมริกาเกือบ 10 คน มีทั้งเด็กพุทธและมุสลิม ไปอยู่ร่วมกัน ทำให้เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง พอกลับมาก็ดีใจที่ได้เจอคนเหล่านี้ยังทำประโยชน์ให้กับวงการศิลปะอยู่ บางคนเป็นครูอาจารย์ ที่สำคัญพวกเขาไม่ทิ้งถิ่น ตรงนี้คือสิ่งที่ผมดีใจ พวกเขาเป็นคนรุ่นแรกๆ ที่ผมดูแล และตอนนี้ก็มีรุ่นถัดมาที่กำลังพัฒนาตัวเอง”
ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2544 สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) อีกหนึ่งศิลปินที่ร่วมคณะเยือนชายแดนใต้ บอกว่า เจตนาลึกๆ ของเขาต้องการลงพื้นที่เพื่อความเพลิดเพลิน และศึกษาเปรียบเทียบศิลปะระหว่างภูเขากับทะเล
“พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เหมือนกับภาคกลาง ภาคเหนือ ที่นี่เป็นชุมชนที่แบ่งออกให้เห็นชัดเจนว่าชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีความเข้มแข็งทางสังคม ทางคุณธรรม ศีลธรรม ศาสนา มีความเป็นเอกลักษณ์ ความเป็นตัวเองสูง” ถวัลย์พรรณนาถึงวิถีแห่งปลายด้ามขวาน และว่า
“ผมคิดว่าการอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์ในท้องถิ่นนี้ยังดำรงแสงแห่งปัญญาของตัวเองไว้ คือมีการนำเสนอในสิ่งที่ตนเองรอบรู้ เช่น การทำประมง การทำสวนยางพารา การรู้คุณค่าของสังคมโดยที่ตระหนักว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคม เริ่มตั้งแต่การทำผ้าบาติก ไปจนถึงการเดินทางออกไปประท้วงบางสิ่งบางอย่างที่ตนเองไม่เห็นด้วย”
“ผมไม่ค่อยเห็นภาคจังหวัดอื่นแข็งแกร่งด้วยรากฐานจากวัฒนธรรมเดิม แต่ที่นี่ทุกอย่างมีพื้นเพมาจากศิลปะดั้งเดิม ผมรู้สึกว่าสิ่งที่เขาประดิษฐ์ขึ้นมานั้น เขาดูดซับความเป็นท้องถิ่นแล้วหลั่งรินลงไปงานของเขา เช่น กริช ในขณะที่ภาคอื่นๆ ผมเห็นว่าเขายังจับทางไม่ค่อยถูก ส่วนใหญ่จะตกเป็นเหยื่อของสังคมทุนนิยมไปหมด มองแต่สิ่งที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ การอำนวยความสะดวกทางกาย แต่ที่นี่ยังไม่ค่อยโดนพิษภัยสักเท่าไหร่ เพราะที่นี่มีการเกาะกลุ่ม มีความสามัคคีกันสูง ซึ่งตรงนี้ผมเห็นว่าเป็นความได้เปรียบกว่าที่อื่น” ศิลปินชื่อก้อง กล่าว
ด้านความรู้สึกของเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมอย่าง ด.ช.อัมรินทร์ ยามู วัย 14 ปี ซึ่งได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากภาพวาดควายไปโรงเรียน สะพายกระเป๋าผ้าที่เขียนว่า “Greenpeace” บอกว่า ต้องการสื่อให้ทุกคนร่วมกันช่วยสังคม ช่วยโลก ลดภาวะโลกร้อน สาเหตุที่เลือกรูปควายก็เพื่อต้องการสื่อความเป็นท้องถิ่นชนบท
“นอกจากภาพวาดของผมที่ได้รับรางวัลแล้ว สิ่งที่ผมดีใจที่สุดคือการได้เจอกับคุณลุงคุณอาที่เป็นศิลปินแห่งชาติ ผมไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าจะได้มีโอกาสแบบนี้ คุณลุงคุณอาเขาลงมาหาเราเอง รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจแทนคนในพื้นที่ครับ ผมอยากให้คนในพื้นที่บ้านผมหันมาสนใจศิลปะกันมากขึ้น เพราะงานศิลป์เป็นงานที่ ช่วยให้คนใจสงบลงได้”
ขณะที่ครูสอนศิลปะผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ในพื้นที่ และเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกของศิลปินแห่งชาติ กล่าวว่า ผมรู้สึกภูมิใจและดีใจที่คนระดับศิลปินแห่งชาติเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ ทำให้คนที่นี่ได้เรียนรู้เรื่องงานศิลปะที่แท้จริงในมุมมองที่แตกต่างออกไป สำหรับเด็กๆ ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม เป็นเด็กจากถิ่นทุรกันดาร ไม่ค่อยมีโอกาสด้านการศึกษา แต่เด็กเหล่านี้ได้รับรางวัลจากการส่งผลงานเข้าประกวด นี่คือความภาคภูมิใจของพื้นที่
“เราได้สร้างเด็กพวกนี้ขึ้นมา และใช้ศิลปะป้องกันไม่ให้เขาเข้าไปยุ่งกับอบายมุขและความรุนแรง” เขากล่าว
ครูสอนศิลปะรายนี้ ยังได้สะท้อนแง่คิดเกี่ยวกับศิลปะและสถานการณ์ในพื้นที่ว่า เคยร่วมโครงการสัญจรไปสอนศิลปะให้กับเด็กๆ ในสามจังหวัด ทำให้เห็นอะไรๆ หลายอย่าง เด็กๆ ที่นี่สะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดอันหลากหลายผ่านทางงานศิลปะ เป็นความรู้สึกส่วนลึกของเด็กที่เรามองไม่เห็น บางคนสนใจความเป็นท้องถิ่น บางคนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง แต่หลายคนก็สะท้อนเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ โดยมีภาพทหาร ภาพการสู้รบ ฆ่าฟันกัน การใช้สีดิบ สีดำ สีแดง สะท้อนถึงความรุนแรงและความเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่ในจิตใจ
“มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่งเรียบร้อยมาก แต่เธอกลับวาดรูประเบิด เน้นสีแดง ผมไม่คิดว่าเด็กผู้หญิงที่เรียบร้อยจะวาดรูปแบบนี้ออกมาได้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องช่วยเหลือเยียวยาจิตใจคนในพื้นที่ เพราะขนาดเด็กยังคิดอย่างนี้ แล้วผู้ใหญ่จะขนาดไหน ที่สำคัญอนาคตข้างหน้าจะต้องหนักกว่านี้แน่ เพราะงานศิลปะหลายๆ ชิ้นเหมือนกับว่าเด็กได้ระบายความคับแค้นในจิตใจบางอย่างต่อคนที่ทำกับครอบครัวกับชุมชนของเขา เหมือนกับว่าเขาไม่ชอบในสิ่งที่เข้ามา เขาไม่อยากเห็นคนมีสีทั้งหลายเข้ามาในชุมชนท้องถิ่นของเขา”
แต่ทั้งหมดนี้ ในฐานะครูผู้สอนงานศิลปะบอกว่า จะไม่ไปขัดขวางจินตนาการของเด็ก
“เราให้เด็กได้แสดงจินตนาการมาก่อน ไม่ไปขัดขวาง แล้วค่อยๆ ให้เขาเริ่มวาดภาพที่เป็นโจทย์หลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น ภาพที่แสดงถึงสันติภาพ เขาก็จะวาดเป็นรูปคนมุสลิมจับมือสลามกัน หรือคนมุสลิมจับมือสลามกับคนต่างศาสนิก รูปผู้หญิงแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม สะท้อนถึงศาสนาที่เขายึดถืออยู่ เป็นเรื่องของวิถีชีวิตตามหลักศาสนา ความสงบ สีสันของชุมชน เขาจะเล่าผ่านภาพ เป็นภาพสะท้อนในสิ่งที่เขาโหยหา”
“ผมคิดว่างานศิลปะจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ เพราะงานศิลปะช่วยในเรื่องของจิตใจ บรรเทาความรุ่มร้อนรุนแรง ทำให้คนมีสติมากขึ้น ทำให้คนคิดก่อนทำ บางทีผมอยากให้ภาครัฐหรือองค์กรที่กำลังแก้ปัญหาพื้นที่ ได้เรียนรู้ปัญหาผ่านงานศิลปะของเด็กๆ และอยากให้ภาครัฐสนับสนุนเด็กที่ด้อยโอกาสซึ่งมีอยู่มากมาย ไม่ใช่ช่วยเฉพาะเด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียน” เขาบอกทิ้งท้าย...
ด้วยอัตลักษณ์อันโดดเด่นของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากดึงขึ้นมาเป็น “จุดแข็ง” โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อในการรังสรรค์สันติภาพ ก็น่าจะเป็นแนวทางดับไฟอันร้อนรุ่มที่ปลายด้ามขวานที่น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
-----------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 งานศิลปะของน้องอัมรินทร์ ยามู ซึ่งคว้ารางวัลยอดเยี่ยม
2 กมล ทัศนาญชลี
3 ถวัลย์ ดัชนี
4 ด.ช.อัมรินทร์ ยามู