ควันหลง ม.อ.วิชาการ “นักวิชาการ”สวดรัฐไม่สนปัญหาสังคมชายแดนใต้-หวั่นเทงบก้อนโตเปิดช่องโกง!
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังมองไม่เห็นจุดจบของปัญหา แต่สถานศึกษาชั้นนำในพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ก็ยังคงเดินหน้าจัดงาน “ม.อ.วิชาการ” ด้วยหวังให้เป็นรากฐานแห่ง “สติ” และ “ปัญญา” เพื่อดับไฟที่ด้ามขวานอย่างยั่งยืน
งาน ม.อ.วิชาการ ประจำปี 2553 ใช้ชื่องานว่า “บ่มเพาะคนดี ชี้นำสังคม สั่งสมปัญญา พัฒนางานวิจัย” โดยมี นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อไม่นานมานี้
วัตถุประสงค์หลักของการจัดงาน ก็เปิดโอกาสให้ชุมชนได้รับรู้รับทราบถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยและงานวิจัยต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับผู้คนในท้องถิ่น อาทิ นวัตกรรมยางพารา, การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อาหารครบวงจรและความยั่งยืนของอุตสาหกรรมอาหารในภาคใต้, ทรัพยากรธรรมชาติแห่งคาบสมุทรไทยและการจัดการ การวิจัย พัฒนา, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวัสดุ นวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในชายแดนใต้, การพัฒนาเทคโนโลยีปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม รวมไปถึงการบูรณาการองค์ความรู้เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในระยะยาว เป็นต้น
ภายในงานมีการจัดกิจกรรม “วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ” และการประชาสัมพันธ์หลักสูตรสำหรับอาจารย์แนะแนวและนักเรียน รวมทั้งนิทรรศการจากส่วนราชการต่างๆ และการออกร้านจำหน่ายสินค้า บรรยากาศตลอดทั้งงานเต็มไปด้วยความคึกคัก
นายภาณุ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในภาคใต้ที่ได้ดำเนินภารกิจทางการศึกษามาเป็นเวลากว่า 40 ปี นับเป็นสถาบันที่ให้การศึกษา ให้บริการทางวิชาการ และสร้างสรรค์วิทยาการใหม่ๆ ให้แก่ท้องถิ่นและประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้ดำเนินภารกิจด้านการทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์และเกียรติภูมิของชนชาวไทย โดยเฉพาะชาวท้องถิ่นภาคใต้ด้วย
การจัดงาน ม.อ. วิชาการในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนได้ประจักษ์ถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะละบทบาทในการแก้ปัญหาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ยังส่งผลให้มหาวิทยาลัยมีความใกล้ชิดกับประชาชน และมีสัมพันธภาพอันดีกับชุมชนท้องถิ่นมากขึ้นด้วย
งาน ม.อ.วิชาการ ครั้งนี้ สิ่งที่จะขาดเสียไม่ได้ ก็คือการเสวนาระดมความเห็นจาก “ผู้รู้” สาขาต่างๆ เพื่อแสวงหาหนทางดับไฟใต้อย่างยั่งยืน
ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวกับ “ทีมข่าวอิศรา” ว่า ประเด็นที่ทุกคนเป็นห่วงเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในขณะนี้ และมีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านพูดในงาน ม.อ.วิชาการ ด้วยก็คือความยืดเยื้อของปัญหาที่เกิดขึ้นยาวนานเกือบ 7 ปีแล้ว แต่ยังมองไม่เห็นความหวังที่จะทำให้เกิดความสงบได้ ขณะเดียวกัน “ปัญหาสังคม” ที่เป็นผลจากความรุนแรงยืดเยื้อ กำลังกัดกร่อนชุมชนท้องถิ่นจนเสี่ยงต่อความล่มสลาย
ที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงมักมองเฉพาะมิติทางการทหารว่า หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ฝ่ายรัฐจะยิ่งได้เปรียบ เพราะฝ่ายก่อความไม่สงบจะอ่อนแรงลงไปเอง ซึ่ง ผศ.ปิยะ เห็นว่าเป็นการมองที่ผิดพลาดอย่างมาก
“ยิ่งสถานการณ์รุนแรงเกิดขึ้นนานวัน จะยิ่งสร้างปัญหาสังคม โดยเฉพาะค่านิยมการใช้ความรุนแรงซึ่งแพร่ลงไปถึงเด็กและเยาวชน นอกจากนั้นเมื่ออำนาจรัฐอ่อนแอ ก็จะทำให้ขบวนการค้าสิ่งผิดกฎหมาย โดยเฉพาะยาเสพติดเฟื่องฟู ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่ายาเสพติดระบาดหนักมากในทุกพื้นที่”
ในฐานะที่ทำงานกับชุมชนมาตลอด ผศ.ปิยะ ให้ข้อมูลว่า ปัญหายาเสพติดในชุมชนกำลังเข้าขั้นวิกฤติ เด็กและเยาวชนใช้ยาเสพติดเยอะมาก โดยเฉพาะน้ำใบกระท่อม แม้เด็กที่ได้รับโอกาสเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็ยังมีจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด
“ที่ผ่านมาต้องบอกว่ารัฐไม่ใส่ใจกับปัญหาสังคมในพื้นที่เลย ยกตัวอย่างปัญหายาเสพติด รัฐก็ใช้วิธีการเดิมๆ คือจับกุม ดำเนินคดี แต่เมื่อปล่อยออกมาเด็กเหล่านั้นก็ย้อนกลับเข้าสู่วงจรยาเสพติดเหมือนเดิม ไม่ได้มีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน”
ส่วนโครงการญาลันนันบารู หรือ “ทางสายใหม่” ที่กองทัพร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จัดขึ้นเพื่อนำเด็กในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดไปเข้าอบรมนั้น ผศ.ปิยะ มองว่า จุดอ่อนของโครงการลักษณะนี้ คือกระบวนการป้องกันไม่ให้เด็กหวนกลับไปเกี่ยวพันกับยาเสพติดซ้ำ
“โครงการญาลันนันบารูเป็นโครงการที่ดี แต่ผมยังเป็นห่วงว่าเด็กจะกลับไปติดยาซ้ำ เพราะเมื่อผ่านการอบรมแล้วก็กลับไปอยู่ในสังคมเดิม เงื่อนไขเดิม เราต้องช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันตรงนี้ และแก้ไขปัญหาในระดับชุมชนเพื่อเป็นเกราะป้องกันยาเสพติดไม่ให้เข้าไประบาดในชุมชนพร้อมกันด้วย”
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี้ ยังแสดงความกังวลว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อ และรัฐบาลทุ่มงบประมาณลงไปมากกว่า 1 แสนล้านบาทเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่าจะประสบความสำเร็จ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มตั้งข้อสังเกตเรื่องความโปร่งใสของการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะในส่วนของทหาร หากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป
“ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงรอยต่อของการพิจารณาสรรหาแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ ผมคิดว่าสิ่งที่ทางกองทัพต้องให้ความสนใจนอกเหนือจากการตั้งแม่ทัพ คือความโปร่งใสเรื่องการใช้งบประมาณ อย่าปล่อยให้มีการรั่วไหลหรือทุจริต”
“นอกจากนั้นนโยบายการส่งกำลังพลจากกองทัพภาคต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันลงมาทำงานในพื้นที่หน่วยละ 1-2 ปีในลักษณะ ‘เข้าเวร’ ก็สมควรพิจารณายกเลิก เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา เนื่องจากกำลังพลเหล่านั้นไม่ได้เข้าใจสภาพพื้นที่ ซ้ำยังขาดความเป็นเอกภาพในการปฏิบัติ เหมือนกับส่งลงมาสร้างผลงานแล้วก็กลับไป โดยที่ปัญหายังคงอยู่เหมือนเดิม” ผศ.ปิยะ กล่าว
เป็นความเห็นจากนักวิชาการและควันหลงจากงาน ม.อ.วิชาการ ที่ฝ่ายความมั่นคงสมควรรับไปพิจารณา!
----------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บรรยากาศงาน ม.อ.วิชาการ
2 ผศ.ปิยะ กิจถาวร
หมายเหตุ : ผศ.ปิยะ พูดคุยกับ “ทีมข่าวอิศรา” ระหว่างเดินทางมาเป็นวิทยากรบรรยายที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา