สศก.ห่วงครึ่งปี 56 สินค้าเกษตรล้นตลาด – ฉุดราคาตก
สศก. ห่วงครึ่งปี 56 ผลผลิตเกษตรล้นตลาดดึงราคาตก เผยดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลง 6.51 % ทุกกลุ่มเมื่อเทียบปี 55 เว้นสินค้าประมง
นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาและสินค้าเกษตรที่สำคัญ รวมถึงการดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ พบว่าในเดือนมกราคมราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากกำลังเข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษจีนผู้บริโภคจึงให้ความสนใจจับจ่ายใช้สอยมาก อย่างไรจากการวิเคราะห์ผลผลิตออกสู่ตลาดตั้งแต่ม.ค. - พ.ค. 56 พบว่าจะมีสินค้าเกษตรหลากหลายชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว กาแฟ หอมแดง กระเทียม หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ซึ่งจะเกิดปัญหาราคาตกต่ำเพราะผลผลิตมากเกินความต้องการของตลาด
สำหรับข้าว คาดว่าจะมีข้าวนาปรังที่ออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนเม.ย. – พ.ค. ประมาณ 4.6 ล้านตันข้าวเปลือกหรือร้อยละ 50.63 ของผลผลิตข้าวนาปรัง รวม 9.167 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเมื่อนำมาสมทบกับข้าวนาปีที่ออกสู่ตลาดไปแล้วประมาณ 27 ล้านตัน จะทำให้มีข้าวอยู่ในตลาดสูงมาก จึงต้องอาศัยโครงการรับจำนำข้าวเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับเกษตรกร โดยในเดือน ม.ค. นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิเฉลี่ยตันละ 15,695 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.01 และราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้นร้อยละ 15 เฉลี่ยตันละ 10,526 บาทเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 2.98
ปาล์มน้ำมัน คาดว่าปีนี้จะมีผลผลิตประมาณ 12.2 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.09 คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ2.04 ล้านตันเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.94 จากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในปี 2555 ปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตดี ส่งผลให้ขณะนี้มีน้ำมันปาล์มในสต๊อกถึง 3.7 แสนตัน ซึ่งหากมีผลผลิตใหม่ออกสู่ตลาดอีกอาจทำให้ราคาปาล์มน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่อง ดังนั้นการแก้ปัญหานี้ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้เข้ารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงสกัดเพิ่มเติมจาก 5 หมื่นตัน เป็น 1.5 แสนตัน เพื่อให้ราคาผลปาล์มดิบที่เกษตรกรได้รับไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 4 บาท ด้านกระทรวงพลังงานผลักดันให้ใช้ปาล์มน้ำมันเพิ่มเป็นส่วนผสมในไบโอดีเซลเป็น 5 % ขณะที่กระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างการนำมาใช้เป็นพลังงานเครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดสต๊อกน้ำมันปาล์มได้บางส่วน โดยราคาที่เกษตรกรได้รับช่วงเดือน ม.คง อยู่ที่กิโลกรัมละ 3.15 บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.25 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 55
ในส่วนของมันสำปะหลัง จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งปี และจะเก็บเกี่ยวมากที่สุดในเดือน ก.พ. คาดว่าปีนี้จะผลผลิตประมาณ 5.19 ล้านตัน หรือ ประมาณร้อยละ 18.85 ของผลผลิตรวมประมาณ 27.55 ล้านตัน ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการแทรกแซงรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยองค์การคลังสินค้า เปิดจุดรับจำนำที่โรงงานเอทานอล เพื่อรับจำนำหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรในเดือน ม.ค.- มี.ค. เป้าหมายรวม 400,000 ตันหัวมันสด ราคาที่กิโลกรัมละ 2.60 -2.75 บาท และให้โรงงานเอทานอลรับซื้อมันเส้นจากโครงการแทรกแซง ประมาณ 4.9 แสนตัน โดยให้กระทรวงพลังงานดำเนินการจัดหาโรงงานเอทานอลเข้าร่วมโครงการ
นายอภิชาต ยังกล่าวถึงดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนธ.ค. 2555 ว่า ดัชนีอยู่ที่ 149.37 ลดลงร้อยละ 6.51 เมื่อเทียบกับปี 2554 และลดลงเกือบทุกกลุ่มสินค้ายกเว้น กลุ่มประมง โดยสินค้าสำคัญที่ดัชนีราคาลดลง ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่
ขณะที่ดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรอยู่ที่ 226.85 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2554 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก และสับปะรดโรงงาน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพ.ย.2555 ดัชนีผลผลิต ลดลงร้อยละ 17.07 สินค้าสำคัญที่ผลลิตลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน สุกร และไก่เนื้อ สินค้าสำคัญที่ผลผลิตสูงขึ้น ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา และไข่ไก่
ทั้งนี้คาดว่าเดือนมกราคม 2556 ดัชนีผลผลิตจะสูงขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2555 และผลผลิตจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2555 ทั้งนี้สินค้าสำคัญที่ออกสู่ตลาดมากในช่วงนี้ ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา และหอมแดง
ที่มาภาพ ::: http://www.posttoday.com