เอ็นจีโอจี้แก้กม.ป่าไม้-ประมง-ที่ดินล้าหลัง ป้องกันชุมชนรับอาเซียน
ชงตั้งศาลยุติธรรมอาเซียน นักวิชาการห่วงแรงงานนอกระบบถูกละเมิดสิทธิหนักขึ้น เอ็นจีโอชี้นายทุนกว้านซื้อที่ชายแดน-ริมโขงคึกคัก เสนอแก้ กม.ป่าไม้-ที่ดิน-ประมงล้าหลัง กันผลกระทบชุมชน
วันที่ 31 ม.ค. 56 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนา ‘ประชาคมอาเซียนกับสิทธิมนุษยชน’ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ แจ้งวัฒนะ โดยดร.เสรี นนทสูติ ที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า 1 ม.ค. 59 ประชาคมอาเซียนจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แต่หลายประเทศยังขาดความพร้อม โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายที่สอดคล้องกัน นอกจากนี้ยังไม่มีมาตรการไต่สวนที่เป็นกลางกรณีประชาชนในประชาคมทำผิดกฎหมายเหมือนกับสหภาพยุโรปที่ตั้งศาลยุติธรรมกลางขึ้น ซึ่งนักนิติศาสตร์ต่างมีแนวคิดจัดตั้งศาลยุติธรรมเพื่อส่งเสริมคุ้มครองและเยียวยา แง่สิทธิมนุษยชนแล้ว และตนหวังว่าจะมีกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นในอนาคต
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สถานการณ์แรงงานไทยปัจจุบันมักไม่ได้รับการดูแลที่ดีจากรัฐ ส่งผลให้แรงงานเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งแรงงานเด็ก แรงงานหญิง แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งเรื่องที่ถูกละเมิดมากที่สุด ได้แก่ ค่าจ้างหรือค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม การทำงานไม่มีวันหยุดวันลา ไม่ได้รับสวัสดิการสังคม และการบังคับใช้แรงงานที่รุนแรงซึ่งมักพบในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
และน่าเป็นห่วงแรงงานนอกระบบ ซึ่งปัจจุบันได้รับสิทธิการคุ้มครองตามพ.ร.บ.ประกันสังคม ม.40 อย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมบรรทัดฐานเดียวกับแรงงานในระบบ อีกทั้งแรงงานนอกระบบกว่า 23 ล้านคนยังไม่สมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมดังกล่าว อย่างไรก็ตามจะมีแรงงานถูกเอาเปรียบไม่ได้รับปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทตามนโยบายรัฐ ซึ่งจากเดิมที่มีราว 3 ล้านคนที่ไม่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำอัตราเดิมอยู่แล้ว
นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันในท้องถิ่นเผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านประชาคมอาเซียนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการจัดบอร์ดนิทรรศการและติดธงประจำชาติตามสถานศึกษาหรือวัด รวมถึงความล่าช้าในการแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้อง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้แสดงถึงความไม่ตื่นตัว เลยคาดเดาไม่ได้ว่าอีก 3 ปีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แต่อย่างน้อยในชุมชนเริ่มมีผลกระทบแล้ว นั่นคือราคาที่ดินสูงขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำโขงหรือตามแนวชายแดนซึ่งมักถูกครอบครองจากกลุ่มทุน โดยรัฐไร้กติกาในการบริหารจัดการที่ดินที่ดี ส่วนตัวจึงไม่อยากให้บรรยากาศประชาคมอาเซียนกระทบวิถีชุมชน เพราะชาวบ้านต่างกลัวการสูญเสียที่ดินมาก
นอกจากนี้ยังมองว่า แม้ไทยจะมีรัฐธรรมนูญ (รธน.)ปี 50 แต่เรายังไม่สามารถพัฒนากฎหมายใดให้สอดคล้องกับรธน.ได้ โดยเฉพาะด้านสิทธิชุมชนที่มีร้องเรียนมากขึ้น มีหลายโครงการทั้งระดับชาติและท้องถิ่นที่ชาวบ้านไม่รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการวางแผนและขาดการประชาคมหมู่บ้าน เช่น โครงการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ประเทศลาว โดยนักลงทุนไทยนำโดยบริษัท ช. การช่าง และธนาคารไทย 4 ธนาคาร ยังไม่ผ่านกระบวนการต่างๆ กลับมีการเซ็นสัญญารับซื้อไฟแล้ว และมีอีกหลายโครงการที่ชุมชนไม่มีส่วนร่วมกระทั่งรับรู้ข้อมูล แต่ถูกนายทุนกว้านซื้อที่ดินรอไว้แล้ว ทังนี้หากเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วยังไม่มีการปรับปรุงกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่ดิน, ป่าไม้, ประมง ที่ยังล้าหลังกว่า 50 ปี ให้ตอบรับกับรธน.ปี 50 ชุมชนคงได้รับผลกระทบสูง
“เรียกร้องผู้เข้ามาลงทุนในไทยต้องเคารพกติกาและกฎหมายต่าง ๆ เคร่งครัด และหากจะแก้ไขกฎระเบียบต้องมาจากชุมชนสู่ระดับประเทศ และใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังมากขึ้น มีกระบวนการจัดการที่ตรงกันตรวจสอบได้ การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจึงจะเกิดประโยชน์กับคนไทย” นายหาญณรงค์ กล่าว
น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิประสานวัฒนธรรม กล่าวว่า คนไทยยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องประชาคมอาเซียนน้อยมาก โดยเฉพาะภาษา ชาติอื่นเข้าใจและสื่อสารภาษาไทยได้ แต่คนไทยไม่สามารถสื่อสารภาษาชาติใดในอาเซียนได้เลย สถานศึกษาควรส่งเสริมให้มีการศึกษาภาษาต่าง ๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ และวิงวอนให้คนไทยลดอคติต่อชาติที่มีประวัติศาสตร์ไม่ดีต่อกัน โดยยอมรับความแตกต่างระหว่างกัน เพื่อความก้าวหน้าของภูมิภาคต่อไป.