“เกษตร(ผ่าน)เฟสบุ๊ค” : พื้นที่เพาะปลูกและค่านิยมใหม่ที่ไม่ได้จำกัดอยู่บนไร่นา
ไม่กี่ปีที่ผ่านมาสังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง‘เฟสบุ๊ค’ เติบโตอย่างรวดเร็ว เกิดการรวมตัวทางสังคมหลากหลายรูปแบบผ่านโลกออนไลน์นี้ เราพาไปจับกระแสปฏิบัติการภาคเกษตรผ่านเฟสบุ๊ค
บริษัทศูนย์วิจัยนวัตกรรมอินเตอร์เน็ตไทย จำกัด( ก.ย.55) ระบุว่าคนไทยมี 16 ล้านบัญชีผู้ใช้เฟสบุ๊ค(Facebook) ถือเป็นผู้ใช้อันดับที่ 16 ของโลก และในบรรดาการรวมตัวทางสังคม(Community) ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า ความรู้ ความบันเทิง ชาวเกษตรก็ไม่ตกกระแสเริ่มขยับไปปฏิบัติการบนโลกออนไลน์นี้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งระดับองค์กรและปัจเจก ทั้งส่งเสริมความรู้และใช้เป็นช่องทางธุรกิจสินค้าเกษตรออนไลน์ เพื่อเจาะตลาดคนรุ่นใหม่และโลกยุคใหม่
เฟสบุ๊ค - แหล่งความรู้เกษตรออนไลน์ : ชวนคนเมืองยุคใหม่เพาะปลูก
เริ่มต้นด้วยการติดตามความเคลื่อนไหวจากกลุ่มแฟนเพจ(Fanpage) เฟสบุ๊คภาคเกษตรต่างๆที่มีส่วนพัฒนาและส่งเสริมความรู้ตลอดจนข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกร หรือ คนในสังคมออนไลน์ที่สนใจทำการเพาะปลูกในชีวิตจริง ตัวอย่างเช่น
เพจ ‘สวนผักคนเมือง’ (https://www.facebook.com/thaicityfarm) ของมูลนิธิกสิกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย (www.thaicityfarm.com) เป็นเพจยอดนิยมหนึ่งที่ส่งเสริมความรู้ภาคการเกษตร ภายใต้การสนับสนุนทุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมเสริมสุขภาพ (สสส.) ‘สวนผักคนเมือง’เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้คนเมืองทำการเกษตรด้วยการปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้คนเมืองมีอาหารปลอดภัยไว้บริโภคแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และพึ่งพาตนเองด้านอาหารได้มากขึ้น
เพจ‘สวนผักคนเมือง’ เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2553 ควบคู่กับการจัดกิจกรรมของโครงการฯในเครือข่าย โดยเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนเมืองที่ไม่เคยทำการเกษตร คนทำงานและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยที่ต้องการใช้ชีวิตแบบพอเพียง ปัจจุบันเพจดังกล่าวมีผู้กด ‘ถูกใจ’ กว่า 11,000 คน โดยใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ความรู้ ข่าวสารและกิจกรรมของโครงการฯ แนะนำวิธีการปลูกผักบนพื้นที่ในเมืองที่จำกัด โดยมีตัวอย่างการปลูกผักในเมืองที่ประสบความสำเร็จจากกลุ่มสมาชิก เช่น การปลูกผักชีในล้อรถยนต์เก่า การปลูกหัวไชเท้าในตะกร้าผ้า เพจ ‘สวนผักคนเมือง’ จึงถือเป็นสังคมออนไลน์ภาคเกษตรขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่มีผู้ใช้เฟสบุ๊คเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำเกษตร แนะนำความรู้ กลวิธีการปลูกผักต่อกันมากมาย
เพจ ‘เกษตรพอเพียงคลับ.คอม’ (https://www.facebook.com/pages/เกษตรพอเพียงคลับคอม/335256716556240?) อีกหนึ่งพื้นที่ในเฟสบุ๊คที่เป็นช่องทางในการเผยแพร่ช้อมูลของเว็บไซต์เกษตรพอเพียงคลับ.คอม (http://www.kasetporpeangclub.com) ซึ่งเป็นเว็บไซต์เกษตรครบวงจรที่ให้ความรู้ด้านการเกษตร เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร แจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ โดยมีเว็บบอร์ดเป็นตลาดกลางให้สมาชิกซื้อขายสินค้าเกษตรด้วย
พื้นที่ในเฟสบุ๊คส่วนใหญ่เป็นการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์หรือแนวคิดทางการเกษตรของบุคคลตัวอย่าง เช่น มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เจ้าของแนวคิดเกษตรธรรมชาติ, แนะนำวิธีห่มดิน, วิธีการเพาะเห็ดฟางจากต้นกล้วย, การเลี้ยงกบในขวดพลาสติก, การปลูกถั่วลิสงในสวนยาง, การทำน้ำหมักชีวภาพ, สูตรทำน้ำยาอเนกประสงค์, การทำน้ำส้มสายชูแท้จากสับปะรด ฯลฯ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ใช้เฟสบุ๊คอย่างมาก โดยปัจจุบันเพจเกษตรพอเพียงคลับ.คอม(ตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2555)มีผู้กด ‘ถูกใจ’ กว่า 3,400 คน
นอกจากนี้ยังมีแฟนเพจด้านการเกษตรที่มีผู้ใช้เฟสบุ๊คสนใจติดตามความเคลื่อนไหวและกด ‘ถูกใจ’ เป็นจำนวนมาก เช่น เพจ ‘มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ’ (https://www.facebook.com/agrinature.or.th) ที่นอกจากจะให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำเกษตร แล้วยังเป็นพื้นที่เผยแพร่ข่าวสารและชักชวนผู้คนในโลกออนไลน์เข้าร่วมกิจกรรมของมูลนิธิฯ ร่วมกับดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ อาจารย์ยักษ์ เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ นักวิชาการผู้มีบทบาทส่งเสริมกสิกรรมธรรมชาติและทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง
แถมท้ายด้วยบัญชีผู้ใช้ ‘หมอเกษตรและเทคโนโลยี เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน’ (https://www.facebook.com/lhamsing.konmuangchon) ซึ่งให้ความรู้ด้านเทคนิคการเกษตรและให้คำปรึกษาปัญหาในการเพาะปลูกที่เกษตรกรมือใหม่ต้องเผชิญ เช่น การให้คำแนะนำวิธีการทำหลุมพลางดักจับหนูในนาข้าว วิธีการหยุดการแพร่พันธุ์ของหอยเชอร์รี่ และให้คำปรึกษาอาการต้นพริกเป็นโรค เป็นต้น
สินค้าเกษตรบนแฟนเพจเฟสบุ๊ค : ช่องทางสร้างรายได้เกษตรกรออนไลน์
ปี 2555 ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจสินค้าเกษตรที่เริ่มขยับขยายช่องทางการขายมาสู่โลกสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ๊คมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เพจ ‘ร้านฟาร์มเกษตรบนเฟสบุ๊ค’(https://www.facebook.com/farmkaset) ของเว็บไซต์ฟาร์มเกษตร (http://www.FarmKaset.ORG/) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ภาคเกษตรครบวงจรที่รวบรวมข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาสาระด้านการเกษตร ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 ก่อนจะใช้เฟสบุ๊คเป็นอีกหนึ่งช่องทางในเผยแพร่เนื้อหาความรู้ด้านการเกษตรจากเว็บไซต์ ติดต่อลูกค้า แนะนำสินค้า ตลอดจนแจ้งยอดการจัดส่งของในปีที่ผ่านมา
นอกจากองค์กรขนาดใหญ่จะใช้เฟสบุ๊คเป็นอีกช่องทางการขายแล้ว ยังปรากฎแฟนเพจหรือบัญชีเฟสบุ๊คส่วนบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจการเกษตรขนาดย่อยจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์ผัก ไม้ดอกไม้ประดับ หรือ ปุ๋ยอินทรีย์ ควบคู่กับการให้ความรู้และกลวิธีในการเพาะปลูก เช่น เพจ ‘Thailand:420’ (https://www.facebook.com/pages/Thailand420/401956259863142) จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาตั้งแต่ 150 – 600 บาทต่อเมล็ด เช่น Bubblegum chocolate chunk, Heavy Duty Fruity เป็นต้น , บัญชีผู้ใช้ชื่อ ‘เกษตร เฟสบุค’(https://www.facebook.com/profile.php?id=100000562381655) ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้ด้านการเกษตรแก่ผู้ใช้เฟสบุ๊ครายอื่นๆแล้ว ยังจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักกว่า 100 รายการด้วย และ เพจ ‘เกษตรกรไทย หัวใจพอเพียง’ (https://www.facebook.com/pages/เกษตรกรไทย-หัวใจพอเพียง/308260402630523) จำหน่ายปุ๋ยและสารอาหารอินทรีย์ธรรมชาติ
ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราได้พูดคุยกับเจ้าของแฟนเพจธุรกิจการเกษตรรายย่อย 2 รายที่หันมาใช้เฟสบุ๊คเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าในปีที่ผ่านมา รายแรก คือ นางสาวรัชนก ศิริพัฒน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เจ้าของเพจเฟสบุ๊ค ‘2K Flower seeds จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกประดับ’ (https://www.facebook.com/2kflowerseeds)ซึ่งเล่าว่า สนใจขายเมล็ดพันธุ์ทางเฟสบุ๊คเพราะต้องการมีรายได้เสริมและเห็นว่าเฟสบุ๊คเป็นช่องทางที่สะดวกในการเข้าถึงลูกค้า โดยเริ่มจำหน่ายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 (มียอดผู้กด ‘ถูกใจ’ ปัจจุบันกว่า 300 ราย) โดยลูกค้าส่วนใหญ่มีหลากหลายกลุ่ม ทั้งคนทำงาน วัยรุ่นและเกษตรกร ซึ่งรู้จักเพจของร้านผ่านการค้นหาชื่อเมล็ดพันธุ์ดอกไม้ในกูเกิ้ล โดยมีเมล็ดพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับจำหน่ายกว่า 40 พันธุ์ ราคาขายตั้งแต่ซองละ 35 บาท (เช่น ดาวเรืองฝรั่งเศสบรรจุ 270-400 เมล็ด)ไปจนถึงราคาชั่งขาย 1 กิโลกรัม 10,000 บาท ตกกรัมละ 10 บาท เป็นต้น
น.ส.รัชนกเล่าว่ามียอดสั่งซื้อผ่านเพจ‘2K Flower seeds’เกือบทุกวัน หรือ 2-3วันครั้งหากเป็นช่วงฤดูหนาวซึ่งคนไม่นิยมปลูก (นิยมปลูกหน้าร้อนเพื่อให้ขึ้นทันหน้าหนาว) โดยเมล็ดพันธุ์ที่นำมาขายคุณลุงเป็นผู้เพาะ และมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 5,000 – 6,000 บาท อย่างไรก็ดีแม้จะเป็นวัยรุ่นก็ไม่คิดขายเสื้อผ้าหรือเครื่องสำอางในเฟสบุ๊คอย่างที่เพื่อนๆนิยมกันเพราะไม่ใช่รสนิยมและมีใจรักการเพาะปลูก
ด้านนายชีวิน เทียมผล พนักงานบริษัท จ.ชลบุรี เจ้าของเพจ ‘น้องโครินธ์เมล็ดพันธุ์’ (https://www.facebook.com/NongColinseeds) เล่าว่า เริ่มใช้เฟสบุ๊คเป็นช่องทางจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผักได้ราว 6 เดือน โดยแรกเริ่มจำหน่ายผ่านเว็บบอร์ดของเว็บไซต์เกษตรพอเพียงคลับ และไม่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ต่อมามีเพื่อนสนใจและแนะนำให้เปิดแฟนเพจในเฟสบุ๊คขึ้น โดยมีกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนทำงานต่างจังหวัดในภาคเหนือและอีสานซึ่งไม่ใช่เกษตรกร และมีลูกค้ากรุงเทพฯในสัดส่วนน้อย เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ส่วนใหญ่ที่ขายเป็นพืชเมืองหนาว ราคาจำหน่ายตั้งแต่ซองละ 20 บาท (เช่น เมล็ดพันธุ์ผักกาดสลัด 150 เมล็ด) ถึง 550 บาท (เช่น เมล็ดพันธุ์ดอกกุหลาบ 4 สี 100 เมล็ด) โดยนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศสหรัฐอเมริกา และแม้ว่าจะมีคนกด‘ถูกใจ’เพจ เพียง 200 กว่าราย แต่ก็มีรายได้จากการขายเมล็ดพันธุ์ประมาณ 4,500 บาทต่อเดือน โดยถือว่าเป็นรายได้เสริมนอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่
…………………
พัฒนาการภาคเกษตรวันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่บนพื้นที่ไร่นา โลกสารสนเทศยุคใหม่ต้องดำเนินต่อไป มีทั้งด้านบวกด้านลบให้มอง แต่หากรู้จักหยิบฉวยมาใช้ถูกที่ถูกทางจักมีประโยชน์ทั้งปัจเจกและสังคม ดังเช่น “เกษตร(ผ่าน)เฟสบุ๊ค” ซึ่งเข้ามามีบทบาทสร้างความรู้ สร้างรายได้ สร้างค่านิยมใหม่ให้เกษตรกรและสังคม
คำถามที่อยากฝากไว้คือ เราจะส่งเสริมให้เกษตรกรรากหญ้าเข้ามาใช้ประโยชน์บนพื้นที่โลกออนไลน์เหล่านี้ได้แค่ไหน อย่างไร?.