อีกครั้งที่ปัตตานีของดอกไม้ดนตรี...มาลีฮวนน่า
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
มีคนเคยบอกเอาไว้ว่า “เสียงเพลงช่วยปลุกปลอบฟื้นคืนชีวิตของผู้คน” และอาจจะด้วยเหตุผลนี้กระมังที่ “มาลีฮวนน่า” เจ้าของฉายา “บุปผาแห่งเสียงเพลง” จึงตัดสินใจหวนกลับมาปลุกปลอบจิตใจชาวปัตตานีอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานร่วม 10 ปี
การกลับมาครั้งนี้เป็นเพราะโครงการ “สื่อ เสียง ศิลปกรรมเพื่อประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง” ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) เพื่อหาทุนร่วมสร้างบ้านศิลปินกับนักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์
การแสดงของมาลีฮวนน่า เปิดฉากขึ้นที่หอประชุมสำนักงานอธิการบดี (สนอ.) ของ ม.อ.ปัตตานี เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง...
เสียงปรบมือต้อนรับดังก้องหอประชุม เมื่อ คฑาวุธ ทองไทย หรือ “อาจารย์ไข่” นักร้องนำและสมาชิกยุคก่อตั้งเพียงคนเดียวของมาลีฮวนน่าที่ยังเหลืออยู่ ก้าวออกมาทักทายเหล่า “แฟนพันธุ์แท้” ที่มารอชมการแสดงตั้งแต่ 6 โมงเย็น ผู้ชมผู้ฟังส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยทำงานที่มากับครอบครัว โดยคนเหล่านี้เป็นแฟนเพลงของมาลีฮวนน่ามาตั้งแต่ยุคแรกๆ ด้วยหวังหวนคืนบรรยากาศเก่าๆ กับเสียงเพลงดีๆ และปลดปล่อยตัวเองจากความตึงเครียดของสถานการณ์ ทั้งเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจสามวันดีสี่วันไข้
กว่า 30 บทเพลงในเวลาเกือบ 3 ชั่วโมงที่มาลีฮวนน่าขับขานท่ามกลางผู้ฟังล้นห้องประชุม ไม่มีใครลุกออกจากที่นั่งเลยแม้แต่คนเดียวกระทั่งจบการแสดง...
คฑาวุธในวันนี้ แม้วัยจะสูงขึ้นตามกาลเวลา แต่พลังเสียงและท่วงท่าลีลาอันคุ้นชินของแฟนเพลงยังคงเป็นเช่นเดิม พลังเสียงของเขาและพลังดนตรีของวงสามารถสะกดคนฟังได้อย่างน่าทึ่ง
บทเพลงของมาลีฮวนน่ามาจากพลังที่ต้องการสื่อสารความในใจ สะท้อนความเป็นจริงของสังคม นำเสนอด้วยถ้อยคำซื่อๆ ตรงๆ แต่แฝงนัยยะชวนค้นหาความหมาย เช่น เพลงครูกรรณิการ์ ที่กล่าวถึงการรอคอยของเด็กนักเรียนให้ครูกลับมาทำหน้าที่ แต่ด้วยหลากหลายเหตุผลที่ทำให้ไม่มีครูกลับมาสอน ซึ่งเพลงนี้มาลีฮวนน่าแต่งขึ้นโดยเปรียบกับ “ครูจูหลิง” ที่ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต ไม่ได้กลับมาทำหน้าที่ที่เธอรักอีกต่อไป
อีกเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหากินใจไม่แพ้กัน และเป็นบทเพลงที่คฑาวุธบอกเล่าเรื่องราวแทนใจคนปัตตานีโดยเฉพาะ...
“ปัตตานี... โอ้ยามนี้ ฉันเปลี่ยวเดียวดาย
พ่อเอย แม่เอย อยู่ไหน ลาลับไกล จำจากกัน
ที่ตรงไหนไม่ฆ่ากัน บ้านนี้ เมืองนี้ แผ่นดินนี้เป็นของใคร
แล้วฉันจะไปอยู่ไหน...ที่ตรงไหนคือบ้านของฉัน”
หลังเวทีกับ...คฑาวุธ ทองไทย
หลังการแสดงรูดม่าน “ทีมข่าวอิศรา” ได้มีโอกาสจับเข่าคุยกับคฑาวุธ
“ผมยังเห็นทุกอย่างที่นี่เคลื่อนไหวเหมือนเดิม แม้จะมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น แต่ผมยังเห็นความสงบที่อาจมีแววกังวลเจืออยู่บ้างแต่ไม่มากเท่าที่สื่อพูดกัน” เขาเริ่มต้นด้วยการเอ่ยถึงความรู้สึกกับการเดินทางกลับมาเยือนปัตตานีอีกครั้งในรอบเกือบ 10 ปี
“ผมมาปัตตานีครั้งนี้ด้วยเหตุผลคือ ผมเป็นคนสอนศิลปะ และคณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ของที่นี่ (ม.อ.ปัตตานี) ก็เป็นรุ่นน้องของผมที่มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อมีโครงการสื่อ เสียง ศิลปกรรมฯ จึงตัดสินใจมา เป็นการให้กำลังใจกันระหว่างพี่น้อง การมาเล่นดนตรีในภาวะเช่นนี้ถือว่า เสียงดนตรีจากมุมเล็กๆ จะช่วยปลุกปลอบชีวิตพี่น้องในพื้นที่ได้ เสียงปรบมือ เสียงร้องตามทำให้รู้ว่ามีแฟนพันธุ์แท้ของมาลีฮวนน่าที่ปัตตานีไม่น้อยทีเดียว”
คฑาวุธ เล่าว่า เขาตั้งคำถามมาสิบกว่าปีตลอดการทำงานเพลง ยุคสมัยที่ผ่านมาไม่ได้เปลี่ยนอะไรไปเลย ยังมีคนกลวง อนุสาวรีย์กลวง มองเห็นการเกิดแก่เจ็บตายของชีวิต การเดินทางที่หลงผิดในอบายมุข แต่สุดท้ายแล้วชีวิตควรอยู่อย่างพอเพียง และค้นหาความหมายของชีวิตอย่างจริงจัง
หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า คฑาวุธเป็นลูกหลานชายแดนใต้เหมือนกัน เพราะเขาเกิดที่ ต.ลำไพล อ.เทพา จ.สงขลา จึงได้เห็นได้สัมผัสความสงบสุขและปรองดองของผู้คนต่างศาสนาและวัฒนธรรมในพื้นที่นี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ รวมทั้งมองพัฒนาการของปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่อดีตอย่างทะลุปรุโปร่ง
“ผมเป็นคนไทยพุทธที่ยากจน แต่มีเพื่อนมุสลิมมากมาย เห็นข้าราชการในพื้นที่ปฏิบัติอย่างไม่ชอบธรรมกับชาวบ้านและคนที่ด้อยกว่า ทำไมกระทรวงศึกษาธิการไม่สนับสนุนโรงเรียนปอเนาะมาตั้งแต่ในอดีต มัวแต่หวาดระแวงเขา รัฐต้องจัดสวัสดิการและให้ความรู้อย่างทั่วถึงแก่พี่น้องมุสลิม ส่งเสริมให้มีปัจจัยสี่และสร้างเศรษฐกิจที่ดีอย่างจริงใจ”
"การยุบ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และฆ่าตัดตอน (นโยบายประกาศสงครามกับยาเสพติดในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) ทำไปเพราะอะไรรัฐก็รู้อยู่แก่ใจ การเปิดใจยอมรับวัฒนธรรมท้องถิ่นมีบ้างหรือไม่ ป้ายบอกทางบอกเขตมีภาษาอังกฤษ ภาษาไทย แต่ทำไม่ไม่มีภาษายาวีบ้าง ขณะที่หลายๆ กรณีที่เป็นปัญหาคาใจ อย่างกรือเซะและตากใบ ทำไมถึงไม่มีคนรับผิดชอบ”
กับข้อเสนอทางการเมืองเพื่อดับไฟใต้ เช่น นครปัตตานี หรือเขตปกครองพิเศษ คฑาวุธก็ติดตามอย่างใกล้ชิด และแสดงความเห็นเอาไว้อย่างแหลมคม
“ทำไมกรุงเทพมหานครหรือเมืองพัทยายังทำได้ ที่นี่ก็ต้องทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือรัฐต้องมีความจริงใจ แก้ปัญหาโดยใช้คนที่รู้จริง ไม่ใช่ส่งข้าราชการชั่วลงมาโกงกินในพื้นที่ ผมไม่อยากให้คนในพื้นที่เป็นแค่หมากหรือเบี้ย”
แม้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยิ่งใหญ่และซับซ้อนเกินกว่าที่วงดนตรีวงหนึ่งจะแก้ไขได้ แต่ คฑาวุธ ก็ยังเชื่อว่า มาลีฮวนน่ามีพลังเล็กๆ ที่สามารถช่วยเหลือสังคมได้ไม่น้อยเหมือนกัน
“ผมหวังให้เสียงเพลงช่วยปลุกปลอบจิตใจผู้คน เพราะดนตรีคือสุนทรียะ ความศรัทธาไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบเสมอไป ผมเชื่อว่าอุดมคติและความศรัทธามีจริง และสามารถทำหลายสิ่งให้เป็นจริงได้ ความสุขจากเสียงดนตรีเป็นสัญญาณที่ลึกซึ้ง เมื่อเสียงดนตรีเกิดขึ้น สิ่งเลวร้ายก็จะเลือนหาย”
เป็นประโยคคมๆ ทิ้งท้ายของคฑาวุธ พร้อมคำมั่นว่าจะกลับมาเยือนปัตตานีอีกในวันข้างหน้า
รู้จัก...ดอกไม้ดนตรี
"มาลีฮวนน่า" แปลว่า ดอกไม้ดนตรี พวกเขาเป็นวงดนตรีแนวเพื่อชีวิต รวมวงกันตั้งแต่ปี 2534 และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศในอีก 4 ปีต่อมาด้วยบทเพลง หัวใจพรือโฉ้, ลมเพ ลมพัด และเรือรักกระดาษ
“มาลีฮวนน่า” เกิดจากการรวมตัวกันของนักศึกษาศิลปะ นำโดย คฑาวุธ ทองไทย ขณะกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี ธงชัย รักษ์รงค์ ซึ่งเล่นดนตรีอยู่ตามผับทางภาคใต้ และ สมพงษ์ ศิวิโรจน์ อดีตนักศึกษาโรงเรียนไทยวิจิตรศิลป เป็นผู้ร่วมก่อตั้งวง
กระทั่งปี 2537 วงมาลีฮวนน่าได้ออกอัลบั้มชุดแรก ใช้ชื่อว่า “บุปผาชน” เนื้อเพลงส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวชีวิตผู้คนและสังคมรอบตัว มีความโดดเด่นด้วยดนตรีสำเนียงใต้ กับเนื้อร้องที่เป็นภาษาถิ่น โดยมี เชิดชัย ศิริโภคา เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการเงินสำหรับทำเทป และออกวางขายแบบใต้ดินด้วยการฝากขายตามแผงเทปต่าง ๆ แต่ด้วยคุณภาพของงานเพลง ทำให้ยอดขายพุ่งไปถึง 20,000 ตลับ จนกลายเป็นประวัติศาสตร์ของวงดนตรีแนวใต้ดินของเมืองไทย
ปี 2538 มาโนช พุฒตาล เจ้าของค่ายไมล์สโตน เรคคอร์ด ได้ชักชวนให้มาลีฮวนน่ามาร่วมงาน และเริ่มออกทัวร์คอนเสิร์ตทั่วประเทศในปี 2539 โดยทำอัลบั้มชุดที่ 2 คือ “คนเช็ดเงา” และประสบความสำเร็จอย่างมโหฬารด้วยยอดขายถึง 1,000,000 ตลับ กลายเป็นวงแนวหน้าของดนตรีแนวเพื่อชีวิต
ปี 2543 มาลีฮวนน่าตัดสินใจเปิดค่ายเพลงเอง ชื่อ บริษัท ดรีม เรคคอร์ด จำกัด แต่ปัจจุบันมีสมาชิกยุคก่อตั้งเหลืออยู่เพียงคนเดียวคือคฑาวุธ เขาเป็นอาจารย์สอนศิลปะอยู่ที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตทับแก้ว จ.นครปฐม
"มาลีฮวนน่า" มีผลงานมาแล้วทั้งสิ้น 8 อัลบั้มคือ บุปผาชน (พ.ศ. 2537) คนเช็ดเงา (พ.ศ. 2539) กลับกลาย (พ.ศ. 2542) เพื่อนเพ (พ.ศ. 2543) เปรือย (พ.ศ. 2545) ลมใต้ปีก (พ.ศ.2546) บังใบ้ (พ.ศ. 2549) และปลายแสด (พ.ศ. 2549)
---------------------------------------------------------------------------------------
บรรยาภาพ :
1 คอนเสิร์ตของมาลีฮวนน่า ที่หอประชุมสำนักงานอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี
2 คฑาวุธ ทองไทย
3 ปกอัลบั้มชุดเปิดตัวของ "ดอกไม้ดนตรี"