‘304อินดัสเตรียลปาร์ค’ งัดผลตรวจกรม รง.คานเอ็นจีโอ ‘ไม่พบปรอทอันตรายต่อชุมชน’
‘304อินดัสเตรียลปาร์ค’ โชว์ผลตรวจกรมโรงงานฯ ไม่พบปรอทอันตรายต่อชุมชน คานผลวิจัย ‘มูลนิธิบูรณะนิเวศ’ ชี้ปรอทในปลา-เส้นผมชาวบ้านเกินมาตรฐาน 12 เท่าอันตรายต่อสมอง รอกรมมลพิษชี้ขาด
วันที่ 30 มค.56 นายพูลศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด เปิดเผยว่า “ผลการทดสอบตัวอย่างน้ำ กากตะกอน ดินและถ่านหิน ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้สุ่มเก็บตัวอย่างจากพื้นที่ในสวนอุตสาหกรรมและบริเวณโดยรอบไปตรวจสอบล่าสุดเมื่อวันที่ 10ม.ค.ที่ผ่านมา ย้ำให้เห็นข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้อมูลที่บริษัทเคยชี้แจงกับดีเอสไอและตัวแทนชุมชนว่า ไม่พบสารปรอทเกินมาตรฐานในพื้นที่ของ 304 และบริเวณชุมชนโดยรอบ
นายพูลศักดิ์ กล่าวต่อว่าผลการตรวจสอบจากกรมโรงงาน พบว่าคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินบริเวณคลองชะลองแวง คลองวังรู และลำรางข้างสวนอุตสาหกรรม พบค่าสารปรอทดีกว่าค่ามาตรฐานถึง 3 เท่า และคุณภาพดินรวมถึงถ่านหินบริเวณดังกล่าว พบค่าสารปรอทดีกว่ามาตรฐานกว่า 400 เท่า คุณภาพน้ำที่บำบัดแล้วในบ่อพักน้ำสุดท้ายของสวนอุตสาหกรรมฯ พบว่าค่าปรอทดีกว่าค่ามาตรฐาน 6 เท่า กากตะกอนดินจากการผลิตพบค่าสารปรอทดีกว่าค่ามาตรฐาน 25 เท่า ทั้งนี้ผลการทดสอบทั้งหมดโดยกรมโรงงานสอดคล้องกับผลการทดสอบโดยเอสจีเอส(บริษัทรับตรวจสอบคุณภาพน้ำ)ซึ่งได้สุ่มตรวจอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด 13 ม.ค. ที่ผ่านมาสุ่มตรวจหาสารปรอทในผักตบชวาในคลองชะลองแวงเพิ่มเติม ไม่พบปริมาณสารปรอทในพืชน้ำดังกล่าวเช่นกัน
รองกรรมการผู้จัดการบริษัท 304 กล่าวอีกว่าจากข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผลวิเคราะห์จากการสุ่มตรวจในพื้นที่สวนอุตสาหกรรม 304 ดีกว่าค่ามาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรมทั้งหมด จึงยืนยันได้ชัดเจนว่าโรงงานในพื้นที่สวนอุตสาหกรรม 304 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารปรอทปนเปื้อนต่อชุมชนแน่นอน โดยคาดว่าจะทราบผลการตรวจสอบจากกรมควบคุมมลพิษอีกหน่วยงานในเร็วๆนี้
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การศึกษาว่าสารปรอทเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ดังกล่าวจริงหรือไม่ อยากให้ผู้วิจัยเร่งศึกษากลุ่มตัวอย่างให้มากกว่าการศึกษาเส้นผมชาวบ้าน 20 คน และปลาช่อน 20 ตัวอย่าง โดยอยากให้เพิ่มจำนวนตัวอย่างของการศึกษาซ้ำในพื้นที่เดิมและขยายไปศึกษายังพื้นที่อื่นๆที่ไม่มีโรงงาน เพราะจากการรวบรวมข้อมูลศึกษาเรื่องสารปรอทในอดีตของประเทศไทยและต่างประเทศ มีหลายประเด็นที่น่าจะนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ทั้งนี้จากการทบทวนรายงานของหน่วยงานระบาดวิทยาและพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข ของสหรัฐอเมริกา พบว่าการตรวจวัดค่าปรอทในเส้นผมมีค่าความถูกต้องต่ำกว่าการตรวจวัดด้วยวิธีการอื่น เช่น เลือดหรือปัสสาวะ
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาสวนอุตสาหกรรม 304 รวมถึงโรงงานลูกค้าในพื้นที่ให้ความสำคัญต่อการรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ปี 2555 ที่ผ่านมาได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงอุตสาหกรรมเป็น 1 ใน 5 โครงการนำร่องโครงการสวนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเชิงพื้นที่ ซึ่งพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของพื้นที่ให้เจริญเติบโตพร้อมกับการดูแลสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ก่อผลกระทบต่อชุมชน” นายพูลศักดิ์ กล่าว .
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนว่าพบสารปรอทปนเปื้อนในชุมชนติดนิคมฯ 304 ต.ท่ามะตูม อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งคาดว่ามาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงงานเยื่อกระดาษที่มีบ่อพักน้ำทิ้งติดกับอ่างเก็บน้ำดิบและคลองชลองแวงที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์โดยจากการวิเคราะห์ของสถาบันเพื่อการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพและนักวิจัยมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่ามีปรอทปนเปื้อนในปลาในคลองและเส้นผมชาวบ้านเกินค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว
โดยผลการวิเคราะห์ปลาช่อนที่จับได้จากคลองชลองแวง 20 ตัว ทุกตัวมีปรอทตั้งแต่ 0.067-0.22ส่วนในล้านส่วน (ppm) เกินมาตรฐานอาหารของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 0.02ppm ถึง 3-11 เท่า ขณะที่ ตัวอย่างเส้นผมของอาสาสมัครชาวบ้าน 20 คนที่บริโภคปลาและอาศัยอยู่ในรัศมี 2 กิโลเมตรรอบพื้นที่พบว่ามีสารปรอทสะสมตั้งแต่ 1.628–12.758 ppm เกินค่าปริมาณอ้างอิง 1.00 ppm ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นปริมาณที่อาจก่ออันตรายต่อสมอง โดยเป็นปรอทชนิดมีความเป็นพิษสูง สะสมในร่างกายและสิ่งแวดล้อมนานและถ่ายทอดได้จากแม่สู่ลูกได้ .