แบบฝึกหัดชีวิตของ "เด็กนอกห้อง (เรียน)" จุดประกาย "ชุมชนต้นแบบสมานฉันท์” กู้วิกฤติไฟใต้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
“เด็กในโรงเรียน เรียนเก่ง ว่านอนสอนง่าย แต่จบแล้วไม่อยู่ช่วยพัฒนาพื้นที่ หนีไปอยู่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ คงต้องฝากความหวังไว้กับ ‘เด็กนอกห้อง (เรียน)’ เพราะเด็กพวกนี้เรียนจบแล้วจะอยู่ในพื้นที่ตลอด” เป็นคำกล่าวของ ดร.รุ่ง แก้วแดง ประธานมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง กับแนวคิด "แหวกแนว" ว่าด้วยการสร้างสันติสุขโดย "เด็กนอกห้อง (เรียน)"
ย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ชีวิตที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่ "ชีวิตที่อันตรายทุกฝีก้าว" ดังเช่นทุกวันนี้ โดย ดร.รุ่ง แก้วแดง หรือ "ปู่รุ่ง" ที่เด็กใต้เรียกกันอย่างสนิทปาก เล่าให้ฟังว่า ปัญหาแบ่งเขาแบ่งเราด้วยคำจำกัดความว่า “เด็กไทยพุทธ” กับ “เด็กไทยมุสลิม” นั้นไม่เคยมีอยู่ในพจนานุกรมคนชายแดนใต้มาก่อน เหตุเพราะเรียนหนังสือด้วยกันในโรงเรียนรัฐบาลประจำจังหวัด ต่อมาเมื่อมีโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนสอนศาสนาขึ้น ก็ถึงจุดเปลี่ยน กลายเป็นการแยก "เด็กไทยพุทธ" กับ "เด็กไทยมุสลิม" ออกจากกัน เป็นปัญหาที่ขยายวงมาจนถึงปัจจุบันนี้
“เมื่อต่างคนต่างอยู่ ต่างเรียน ต่างมีสังคมที่เริ่มแตกแยกออกจากกัน การบอกว่าจะมาสมานฉันท์กัน คอยช่วยเหลือกัน จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย” ดร.รุ่ง กล่าว
เมื่อประกอบกับธรรมชาติของเด็กชายแดนใต้ที่เด็กผู้ชายมักจะหยุดเรียน แล้วออกทำงานช่วยพ่อแม่ตั้งแต่จบมัธยมศึกษาปีที่ 6 ขณะที่เด็กผู้หญิงจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย การออกจากโรงเรียนกลางคันในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อจึงง่ายต่อการก้าวเข้าสู่ปัญหายาเสพติด กระทั่งขยายผลไปถึงปัญหาทางสังคมอื่นๆ และเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ยากของภูมิภาคนี้ในที่สุด
และนี่คือที่มาของ “โครงการพัฒนาขีดความสามารถขององค์กรเยาวชนระดับ อบต. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสร้างสันติสุข” ซึ่งได้รับสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นโครงการที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง นำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ แม้จะมีความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรมก็ตาม
จุดสำคัญของโครงการคือการนำเยาวชนต่างศาสนาและวัฒนธรรมมานั่งเรียนรู้ร่วมกันผ่านกิจกรรม เพื่อหวังสร้างเครือข่ายเด็กชายแดนใต้ที่พร้อมจะก้าวไปสู่ความสันติสุขร่วมกันอีกครั้ง
“หากชุมชนใดมี 2 วัฒนธรรม เราก็จะประยุกต์ศิลปะการแสดงทั้ง 2 รูปแบบจาก 2 วัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกัน เพื่อเยาวชนจะได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีดั้งเดิมว่า ทำไมคนอิสลามและคนพุทธสามารถอยู่ร่วมกันได้ สังคมก็จะกลับไปสู่ช่วงที่เราอยู่ด้วยกันอย่างสันติสุข ชุนชนเหล่านี้จะกลายเป็น 'ชุมชนต้นแบบสมานฉันท์’ ต่อไปในอนาคต” ดร.รุ่ง กล่าวและว่า
"ต่อไป ‘เด็กนอกห้อง (เรียน)’ ไม่ว่าจะเรียน ‘การศึกษานอกโรงเรียน’ (กศน.) เด็กไม่เรียนหนังสือ เด็กเกเร ติดยา จะกลายเป็นขุมพลังสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือเพราะเด็กพวกนี้เรียนจบแล้วไม่ไปไหน ต่างจากเด็กในโรงเรียนที่เรียนเก่ง ว่านอนสอนง่าย พวกนี้จบแล้วมักไม่อยู่ช่วยพัฒนาพื้นที่ แต่หนีไปอยู่กรุงเทพฯ เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ คงต้องฝากความหวังไว้กับ ‘เด็กนอกห้อง (เรียน)’ เพราะเด็กพวกนี้เรียนจบแล้วจะอยู่ในพื้นที่” ดร.รุ่งอธิบาย
ด้านเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการอย่าง มูหมัดซอเร่ เด็ง แกนนำองค์กรเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เผยความรู้สึกให้ฟังว่า แม้เขาจะไม่สามารถสร้างสันติสุขให้กับคนในพื้นที่ได้ทันที แต่การเริ่มต้นจัดกระบวนความคิดในเรื่อง "แบ่งเขา-แบ่งเรา" ในตัวเองเป็นเรื่องกระทำได้โดยไม่ต้องรอ
“ผมไม่รู้จริงๆ ว่าความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันมันเริ่มที่ตรงไหน แต่เราก็เห็นประกายความหวังจากการทำงานที่เราต้องการความสมานฉันท์ว่า เมื่อเกิดกิจกรรมร่วมกันระหว่างหมู่บ้าน การจัดประชุมแบบ 'ทีมเหย้า-ทีมเยือน' สลับกันไปแต่ละหมู่บ้าน ทำให้คนในพื้นที่เริ่มคุยกัน เริ่มทำความรู้จักกันมากขึ้น หลังจากที่มองหน้ากันไม่ติด ที่ถือตัวก็เบาบางลง” มูหมัดซอเร่ กล่าว
เขาเสริมว่า จุดเด่นของ “เด็กๆ” คือการไม่กลัวความผิดพลาด จึงเป็นที่มาของการนำเด็กติดยาเสพติด เด็กไม่เรียนหนังสือมาร่วมกิจกรรมด้วย
“ผมมองว่าเราพลาดได้ พลั้งได้ เราไม่ผิด ผู้ใหญ่ยังพลาดได้เลย เพราะฉะนั้นผมจึงมองว่าเยาวชนเป็นจุดกระตุ้นให้หลายองค์กรได้ตระหนักถึงปัญหาที่ต้องหันหน้าเข้าหากัน ต้องถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของเด็กๆ ที่เราเริ่มลบคำครหา และสร้างความเชื่อถือให้เด็กที่เคยหลงผิดกลับมาเป็นแนวร่วมของสังคมได้”
และสิ่งสำคัญคือต้องปลูกฝังให้เด็กรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา...
“แม้ว่าเขาไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็ไม่ควรท้อ ผมพยายามสะท้อนแง่มุมของเด็กเรียนเก่งที่เอาตัวรอดโดยไม่สนใจสังคมรอบข้าง ขณะที่เด็กไม่เรียนหนังสือช่วยสร้างสังคมที่ทำให้เกิดความปรองดองมากขึ้นได้ โดยอาศัยจุดแข็งของเครือข่ายที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี แล้วปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในพื้นที่”
“ผมยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันทำให้เราลำบาก แต่การลงทุนครั้งนี้เป็นการปูพื้นฐานให้เยาวชน ผมเองจากการเป็นลูกคนเดียวก็เคยชินกับการถูกตามใจ ไม่เคยทำอะไรให้คนอี่น แต่พอมาอยู่จุดนี้ ได้เรียนรู้ที่จะแบ่งปัน พอทำแล้วก็มีความสุขกับการได้ทำให้คนในท้องถิ่น ผมคิดเสมอว่าแม้เราจะแตกแยกทางความคิด แต่ต้องไม่แตกแยกในความเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องญาติมิตร และเป็นคนไทยด้วยกัน” มูหมัดซอเร่ ย้ำ
เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของเด็กๆ ขณะชมการแสดงพื้นบ้านอย่าง "ดิเกร์ฮูลู-มโนราห์-รองเง็ง" สลับกับการขับขานบทเพลง "อนาซีด" ด้วยน้ำเสียงและท่วงทำนองอันเปี่ยมพลังแสดงถึงความศรัทธาอย่างสูงสุดต่อองค์อัลเลาะห์ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมอันน่าประทับใจที่มีเยาวชนจากต่างศาสนาและวัฒนธรรมร่วมซึมซับอยู่ด้วยกัน
การเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วยการดึงเยาวชนมาร่วมกิจกรรมเสมือนหนึ่งเป็นแบบฝึกหัดชีวิตนั้น เป็นอีกแนวทางสำคัญในการเสริมสร้างสันติสุขในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนสืบไป...
--------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 กิจกรรมจากงานมหกรรมองค์กรเยาวชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ ที่ จ.ปัตตานี
2 ดร.รุ่ง แก้วแดง