ทีดีอาร์ไอเสนอรัฐประกาศ “ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพธุรกิจไทย”
ทีดีอาร์ไอเสนอรัฐประกาศ “ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพธุรกิจไทย”
นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทถือว่าเป็นนโยบายที่มีความสำคัญอย่างสูง เพราะค่าจ้างที่เหมาะสมจะมีผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเป็นตัวช่วยกระตุ้นการยกระดับอุตสาหกรรมและสร้างกำลังซื้อภายในประเทศ ทั้งนี้ ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในงานเสวนาสาธารณะในหัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2556” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2556 ว่านโยบายค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่นโยบายประชานิยมทั่วไป และทีดีอาร์ไอมีจุดยืนสนับสนุน
หลักการของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ
“นโยบายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลไม่ใช่นโยบายในตระกูลเดียวกับนโยบายประชานิยมทั่วไป เหมือนนโยบายจำนำข้าวหรือรถคันแรก นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำโดยเจตนาและจุดประสงค์เป็นนโยบายที่ดี แต่วิธีการปฎิบัติอาจจะมีปัญหาบ้าง และต้องมีวิธีการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมโดยการสนับสนุนของรัฐ”ดร.สมเกียรติ กล่าว
ดร. สมเกียรติเห็นว่ารัฐมีความชอบธรรมที่จะเข้าแทรกแซงตลาดแรงงานเพราะโครงสร้างของตลาดซึ่งผู้จ้างและผู้ถูกจ้างมีอำนาจต่อรองไม่เท่ากัน รัฐจึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ อีกทั้งค่าจ้างแท้จริงที่ผ่านมาต่ำและไม่มีแนวโน้มในการเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ค่าครองชีพกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานมากเพราะตลาดแรงงานไทยตึงตัว
อย่างไรก็ตาม ดร. สมเกียรติมีความเห็นว่า การปรับค่าจ้างแบบ ‘ก้าวกระโดด’ ของรัฐบาลอย่างรวดเร็วจะส่งผลกระทบด้านลบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น
ผลกระทบต่อภาคการผลิต
งานนำเสนอดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น ธุรกิจเครื่องนุ่งห่มซึ่งจะมีการเพิ่มขึ้นค่าแรงร้อยละ 47.7 ธุรกิจสิ่งทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.3 เมื่อเทียบกับภาคการผลิตที่ใช้เครื่องจักรกลและเทคโนโลยีเป็นหลักเช่น เหล็ก เครื่องจักรและอุปกรณ์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเพิ่มขึ้นค่าแรงเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 15 – 20 ดังนั้น ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นต้องเผชิญกับโครงสร้างต้นทุนและกำไรต่อยอดขายที่เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยแบบจำลองทางเศรษฐกิจชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ไม้ รองเท้า-เครื่องหนัง และเฟอร์นิเจอร์เป็นสาขาที่เสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างมากเนื่องจากกำไรต่อยอดขายที่ลดลงอย่างมากหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำดังภาพด้านล่างนี้
ข้อเสนอเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิต
จากผลกระทบต่อภาคการผลิตข้างต้น ดร. สมเกียรติได้นำเสนอต่อว่า รัฐบาลมีเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศให้หลุดจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางโดยรัฐบาลต้องการเพิ่มความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะฉะนั้น การมีค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น รวมถึงการมีผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปได้ ทั้งนี้ การปรับโฉมของอุตสาหกรรมไทยถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น รัฐบาลควรประกาศให้ทศวรรษต่อไปเป็นทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจไทย
“หัวใจของการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทย คือการต้องมีผลิตภาพของภาคการผลิตที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากฝากรัฐบาลช่วยต่อยอดจากยุทธศาสตร์ที่ได้ประกาศไป คือ การยกระดับผลิตภาพของประเทศ ผมอยากเสนอให้รัฐบาลประกาศให้ทศวรรษที่กำลังจะมาถึงเป็น “ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจไทย”โดยใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงภาคการผลิต”ดร.สมเกียรติ เสนอ
ทั้งนี้ การเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจสามารถทำได้โดยการออกมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาวดังนี้
ระยะสั้น:
รัฐควรมีมาตรการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมในสาขาเสี่ยง ควรเร่งรัดมาตรการเงินกู้และอนุญาตให้ผู้ประกอบการหักค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่งได้
รัฐควรมีมาตรการส่งเสริมผลิตภาพของอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการประหยัดพลังงานและลดของเสียจากการผลิต เช่น ควรนำเอาโครงการ ‘ชุบชีวิตธุรกิจไทย’ กลับมาใหม่และส่งเสริมทักษะแรงงานมากขึ้น โดยเร่งรัดการใช้ประโยชน์จากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน
รัฐควรอำนวยความสะดวกในการย้ายฐานการผลิต โดยบริการข้อมูลเกี่ยวกับตลาดประเทศเพื่อนบ้าน มีการลงทุนขั้นพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคมเพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน
ระยะกลาง-ยาว:
รัฐควรส่งเสริมกิจกรรมมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะงานวิจัยและพัฒนา โดยเพิ่มเป้าหมายการลงทุนด้าน R&D ให้ถึง 1% ของจีดีพี เช่น เร่งรัดการพิจารณาลดหย่อนภาษีในการทำวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน และเพิ่มประสิทธิภาพของ R&D ในภาครัฐมากขึ้น
ส่วนในระยะยาว รัฐควรปฎิรูปการศึกษา และสร้างระบบความรับผิดชอบในการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชนมีทักษะใหม่เพื่อสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (21st century skills) โดยเน้นทักษะในการคิดมากขึ้น
โดยสรุป การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายที่มีผลดีต่อแรงงาน แต่การขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดดของรัฐบาลจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อภาคการผลิตที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อความสมดุลทางเศรษฐกิจ ในอนาคตรัฐควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและภายใต้กติกาและนโยบายสนับสนุนที่ชัดเจน รัฐควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกปีในอัตราที่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยในช่วง 4 ปี นอกจากนั้น อัตราค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำภายใต้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะช่วยส่งสัญญาณต่อผู้ประกอบการในการปรับตัวอย่างต่อเนื่องและรัฐบาลควรใช้โอกาสนี้เร่งเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจไทยเพื่อศักยภาพในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในตลาดภูมิภาคและตลาดโลกต่อไป
ท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของทีดีอาร์ไอที่ได้
www.facebook.com/tdri.thailand
www.twitter.com/TDRI_thailand
web: http://tdri.or.th/tdri-insight/century-of-productivity