การลักลอบนำเงินออกนอกประเทศ โดย ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล
เขียนวันที่
วันพุธ ที่ 30 มกราคม 2556 เวลา 23:35 น.
เขียนโดย
ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล
หมวดหมู่
การลักลอบนำเงินออกนอกประเทศ
โดย ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบัน Global Financial Integrity (GFI) แห่งกรุงวอชิงตัน ดี ซี ได้จัดทำรายงานเรื่อง “Illicit Financial Flows From Developing Countries : 2001-2010” สถาบัน GFI ได้คำนวณเงินที่ส่งออกอย่างผิดกฎหมาย โดยเน้นเฉพาะเงินที่ถือว่า “สกปรก” เท่านั้น
ส่วนเงินที่มีการโอนเข้าโอนออกเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ หรือความไม่มีมั่นคงทางการเมืองนั้น ไม่จัดว่าเป็นเงิน “สกปรก” นอกจากนี้ยังไม่รวมเงินที่ได้จากการค้าขายตามชายแดน ดังนั้น จึงเหลือเฉพาะเงินที่ได้จากคอร์รัปชั่นและเงินค้ายาเสพติดเป็นส่วนใหญ่
ผลการคำนวณพบว่า ในช่วงปี 2001-2010 มีการลักลอบเงินออกจากประเทศกำลังพัฒนา เฉลี่ยปีละประมาณ 586,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 17,580,000 ล้านบาทต่อปี เฉพาะในปี 2010 มีการลักลอบส่งออกถึง 859,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 25,770,000 ล้านบาท) ยิ่งไปกว่านั้นเงินเหล่านี้ได้ไหลจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งส่วนใหญ่คือประเทศยากจน ไปยังประเทศร่ำรวยแล้วทั้งนั้น
ในจำนวน 143 ประเทศที่มีการลักลอบนำเงินออกมากนั้น ประเทศไทยติดอันดับต้นๆ ที่13 ในช่วง 10 ปีที่กล่าวนี้ มีการลักลอบนำเงินออกจากประเทศไทยรวมประมาณ 2 ล้านๆ บาท เฉลี่ยปีละประมาณ 2 แสนล้านบาท
การลักลอบนำเงินออกในช่วง 10 ปี สำหรับประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นเร็วมาก จาก 66,000 ล้านบาท ในปี 2001 เพิ่มเป็น 370,000 ล้านบาทในปี 2510 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 6 เท่า เงินจำนวนนี้สูงกว่างบประมาณโครงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่รัฐบาลตั้งไว้ 350,000 ล้านบาท
การคอร์รัปชั่นในประเทศไทย จึงสร้างความสูญเสียแก่ประเทศอย่างมหาศาล และเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคม ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้านำเงิน 370,000 ล้านบาทมาเพิ่มรายได้แก่ครู ตำรวจ ข้าราชการชั้นผู้น้อย และชาวบ้านยากจนทั่วๆ ไปคนละ 3,000 บาทต่อเดือน หรือ 36,000 บาทต่อคนต่อปี จะช่วยคนไทยได้ถึงกว่า 10 ล้านคน ! นำมาสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลได้หลายแสนโรง !
เราจะช่วยกันขจัดคนโกงให้หมดไปได้อย่างไร ?