กษ.ดันโครงการ‘ปุ๋ยแห่งชาติ’ ตั้งเป้าเกษตรกรไทยลดปริมาณใช้ 20 – 50 %
กระทรวงเกษตรฯดัน โครงการปุ๋ยช่วยชาติจ่อเสนอสภาพัฒน์ เร่งวิเคราะห์สภาพดินวางระบบใช้ปุ๋ยนำร่องข้าว-มันสำปะหลัง-อ้อย-ยาง--ปาล์ม ตั้งเป้าลดปริมาณใช้ 20 - 50 %
วันที่ 30 ม.ค. 56 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์(กษ.) นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกษ. เปิดเผยถึงโครงการปุ๋ยแห่งชาติ หรือ โครงการปุ๋ยช่วยชาติ ที่เตรียมเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ ภายในวันที่ 22 ก.พ. 56 ว่า โครงการดังกล่าวคือการจัดโปรแกรมการใช้ปุ๋ย 3 ชนิด ได้แก่ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพซึ่งใช้จุลินทรีย์เป็นตัวนำ ให้เหมาะสมกับพืชในแต่ละพื้นที่ที่สภาพดินแตกต่างกัน เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดในการใช้ปุ๋ยอันจะเป็นการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยและต้นทุนการผลิตซึ่งถือเป็นภาระของเกษตรกรได้มาก
โดยดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งเป้าหมายว่าจะลดปริมาณการใช้ปุ๋ยของเกษตรกรในกลุ่มพืช 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และอ้อยได้ร้อยละ 20 – 50 ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 300 ล้านบาท โดยจะจัดโปรแกรมการใช้ปุ๋ยสำหรับข้าวในจังหวัดภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา มันสำปะหลังและอ้อยในพื้นที่ภาคอีสาน และยางพาราและปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้
สำหรับการจัดโปรแกรมการใช้ปุ๋ย เป็นโปรแกรมที่มีการคิดและบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมการพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว โดยสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร คือการใช้ปุ๋ยแต่ ชนิดให้เหมาะสมกับสภาพดินและพืช ซึ่งปัจจุบันพบว่าภาคการเกษตรไทยใช้ปุ๋ยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เนื่องจากในดินทุกแห่งมีแร่ธาตุไนโตรเจน(N) ฟอสฟอรัส (P) โปแทสเซียม (K) อยู่แล้ว แต่พืชไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เนื่องจากไม่มีจุลินทรีย์เป็นสื่อนำในการแตกตัวของแร่ธาตุ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรมักใช้แต่ปุ๋ยเคมีเป็นหลักซึ่งทำให้สภาพดินเสีย และขาดการวิเคราะห์สภาพดินว่าขาดแคลนแร่ธาตุใดบ้างที่ไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย แต่สามารถใช้จุลินทรีย์ซึ่งเป็นสื่อดึงแร่ธาตุมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้จะมีการตั้งคณะทำงานดูแลโปรแกรมการใช้ปุ๋ยให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดในกลุ่มจังหวัดต่างๆต่อไป
“การเอาโปรแกรมนี้ไปใช้ ต้องเริ่มต้นจากการวัดสภาพดินก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้าดินขาดโปแทสเซียม เราก็ใส่เติมเข้าไป หรือ ถ้าขาดไนโตรเจน ก็เอาอินทรียวัตถุ เช่น ขี้หมูขี้ไก่ใส่เพิ่ม แต่ถ้าดูแล้วแร่ธาตุมีเหลือเฟือ ก็ใส่สารชีวภาพอย่างเดียวไม่ต้องใช้ปุ๋ยอื่นเลย ก็อาจลดการใช้ปุ๋ยไปได้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ตัวอย่างเช่น ยางพารากับปาล์มน้ำมันในพื้นที่ภาคใต้ ต้องใช้ปุ๋ยทั้งสาม 3 ชนิด คือ ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพแต่ปกติเกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีอย่างเดียวทำให้สภาพดินเสีย พืชจึงไม่มีระบบในการสร้างผลหรือน้ำยางได้ดี ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ดังนั้นเราจึงต้องรู้ว่าขณะนี้เกษตรกรใช้ปุ๋ยชนิดใดอยู่เท่าไหร่ และควรใช้ปุ๋ยทั้งสามประเภทปริมาณเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับพืชแต่ละชนิดในแต่ละพื้นที่” นายนิวัติกล่าว
ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์การใช้ปุ๋ยภายในประเทศปี 2555 ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)รายงานว่า ความต้องการการใช้ปุ๋ยเคมีในประเทศอยู่ที่ 6.23 ล้านตัน โดยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมี 5.65 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 8.5 หมื่นล้านบาท นำเข้าจากประเทศซาอุดิอาระเบียร้อยละ 17.02 รัสเซียร้อยละ 16.89 จีนร้อยละ 11.5 กาตาร์ร้อยละ 8.1 และมาเลเซียร้อยละ 7.19
สำหรับการนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ปี 2555 มีการนำเข้ารวม 1 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 1.4 พันล้านบาท โดยนำเข้าจากประเทศเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 61.81 อังกฤษร้อยละ 23.65 สหรัฐร้อยละ 4.94 อิตาลีร้อยละ 4.54 และบัลแกเรียร้อยละ 3.59
ขณะที่การส่งออกปุ๋ยเคมีปี 2555 มีการส่งออกรวม 2.8 แสนตัน คิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านบาท โดยมีคู่ค้าหลักคือ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว พม่า ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ขณะที่การส่งออกปุ๋ยอินทรีย์มีการส่งออกรวม 3.3 หมื่นตัน มูลค่า 192 ล้านบาท โดยจะเห็นได้ว่าประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ทำให้ไม่สามารถควบคุมราคาปุ๋ยได้เอง
ที่มาภาพ :: AFP