ผู้หญิงมลายูมุสลิม...ความจริงที่ถูกกดทับท่ามกลางบริบทสังคมและสถานการณ์รุนแรง
เลขา เกลี้ยงเกลา / ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าครึ่งทศวรรษ แต่ละเหตุการณ์ไม่ได้เกิดขึ้นและจบลงด้วยการบาดเจ็บล้มตายของผู้คนเท่านั้น ทว่าความสูญเสียยังกระทบถึง "คนที่ยังอยู่" และสั่นคลอนสถาบันครอบครัวอย่างรุนแรงโดยมิอาจหลีกเลี่ยงด้วย
มีประเด็นที่ไม่ค่อยได้พูดถึงกันนักตลอด 6 ปีของปัญหาความไม่สงบ ก็คือบทบาทของผู้หญิงมลายูมุสลิม ไม่ว่าจะในฐานะ “เมีย” หรือ “แม่” ที่แม้ตนเองจะไม่ได้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยตรง แต่ก็ต้องได้รับผลกระทบจากการสูญเสีย “เสาหลักของครอบครัว” อย่างสามีหรือลูกชายไป
ความกดดันมากมายที่ถาโถมเข้าใส่ ไม่ได้แค่เฉพาะความรับผิดชอบที่พวกเธอจะต้องนำพา “ครอบครัวที่ขาดเสาหลัก” ให้ก้าวเดินต่อไป หรือต้องรับภาระดูแลลูกๆ เพียงลำพังโดยมิทันตั้งตัวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงกรอบเกณฑ์ในชีวิตอีกมากมายที่พวกเธอต้องเผชิญ ทั้งจากบริบททางสังคม ค่านิยม ศาสนา และวัฒนธรรม
เสียงของผู้หญิงมลายูมุสลิมบ้านๆ ที่ธรรมดาสามัญ หลายๆ ครั้งได้ถูกกดทับจนกลายเป็น “เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน”
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพโดย อังคณา นีละไพจิตร ได้นำเสนอรายงานวิจัยหัวข้อ “บทบาทและความท้าทายของผู้หญิงมลายูมุสลิมท่ามกลางความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย” ที่ห้องจะบังติกอ โรงแรมซี.เอส.ปัตตานี เพื่ออธิบายประเด็นที่อ่อนไหวอย่างยิ่งในดินแดนด้ามขวาน กล่าวคือสังคมมลายูมุสลิมกับการให้สิทธิเสรีภาพด้านต่างๆ ต่อผู้หญิงภายใต้กรอบของศาสนาอิสลาม ท่ามกลางบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2547 และบทบาทของผู้หญิงมลายูมุสลิมที่ต้องเผชิญชีวิตท่ามกลางความยากลำบากในการนำพาครอบครัวให้ก้าวเดินต่อไป ทั้งผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ จากกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ผู้หญิงในครอบครัวผู้ถูกบังคับให้สูญหาย ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มของผู้ใช้ความรุนแรง ตลอดจนอุปสรรคของการเข้าถึงกลไกความคุ้มครองจากการใช้กฎหมายอิสลาม ปัญหาเศรษฐกิจที่ผู้หญิงต้องเผชิญ การค้ามนุษย์ และความรุนแรงในครอบครัว
รายงานการวิจัยฉบับนี้เคยนำเสนอครั้งแรกในเวที Conference on Religious Activism & Women Development in Southeast Asia: Highlighting Impediments Exploring Opportunities ซึ่งจัดโดย Centre for Research on Islamic and Malay Affairs (AIMA) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ปีที่แล้ว
พลิกอ่านรายงานฉบับอ่อนไหว
มีความท้าทาย 2 ส่วนในรายงานฉบับนี้ ส่วนแรก คือท้าทายบทบาทของภาครัฐในการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของผู้หญิงมลายูมุสลิม ส่วนที่สอง คือท้าทายบทบาทของผู้ชายในสังคมมลายูที่มีวัฒนธรรมรองรับเรื่องการเป็นผู้นำ
“สังคมมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ผู้หญิงเองก็ตกเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ วันนี้ของผู้หญิงมลายูมุสลิมจึงอยู่ตรงกลางระหว่างสองทางเลือก ทั้งฝ่ายรัฐไทยที่ต้องการให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้นในเรื่องของการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความไม่สงบ และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในขบวนการแห่งสันติภาพ ในขณะที่อีกฝ่ายคือผู้นำศาสนาและขบวนชาตินิยมมลายูที่พยายามให้ผู้หญิงยอมรับและเชื่อมั่นว่า หน้าที่หลักของเธอยังคงอยู่ในบ้าน เพื่อทำหน้าที่ภรรยาและแม่ที่ดี เพราะการเคารพและเชื่อฟังสามีเป็นหนทางเดียวที่จะนำพวกเธอสู่สวรรค์”
เป็นโจทย์อันแหลมคมที่ตั้งเอาไว้ในรายงานการวิจัยของอังคณา ก่อนจะชี้ให้เห็นถึงบทสรุปของคำถามที่ต้องร่วมกันหาคำตอบ
“วันนี้ชีวิตของผู้หญิงมลายูมุสลิมในจังหวัดชายแดนใต้ส่วนหนึ่งจึงท้าทายต่อทั้งรัฐไทยซึ่งพยายามจัดวางให้เธออยู่ในที่ซึ่งรัฐเชื่อในสิทธิเสรีภาพของพวกเธอ กับการท้าทายต่อนักการศาสนาโดยการตั้งคำถามกับการตีความที่เคร่งครัดและจำกัดในบทบัญญัติต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้หญิงในฐานะแม่และภรรยาโดยตรง ที่สำคัญที่สุดคือการท้าทายต่อวาทกรรมการเป็น ‘ผู้หญิงที่ดี ผู้หญิงที่ประเสริฐ’ ในทัศนะการตีความของศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด โดยปราศจากการผ่อนปรน และเข้าใจถึงสภาพความเป็นจริงในบริบทของผู้หญิงและผลกระทบจากสังคมรอบข้างที่เธอกำลังเผชิญอยู่”
รายงานฉบับนี้มีข้อเสนอเพื่อคลี่คลายโจท์ที่ตั้งเอาไว้
ประการแรก รัฐ สถาบันทางศาสนา และผู้นำศาสนาควรสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันของผู้รู้ศาสนาที่เป็นผู้หญิง เพื่อให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการตีความกฎหมายอิสลามเกี่ยวกับผู้หญิงให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ของตนเองอย่างถูกต้องตามบริบทของวิถีชีวิตและหลักการศาสนาอิสลาม
ประการที่สอง ในการตัดสินคดีครอบครัวและมรดก หรือการตีความทางศาสนาที่เกี่ยวกับผู้หญิง ควรให้มีตัวแทนที่ผู้หญิงให้การยอมรับเข้ามีส่วนร่วม และสามารถทำข้อเสนอแนะไปยังดาโต๊ะยุติธรรมได้ด้วย
ประการที่สาม รัฐ สถาบันทางศาสนา และผู้นำศาสนาควรสนับสนุนให้ผู้หญิงเข้าถึงสิทธิในการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการศึกษาต่อเนื่องทุกรูปแบบที่เป็นความต้องการของผู้หญิง รวมถึงให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้โดยง่าย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
ประการที่สี่ ทุกภาคส่วนต้องร่วมสร้างกลไกการให้ความคุ้มครองผู้หญิงให้พ้นจากความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความรุนแรงในครอบครัว และควรมีสถานที่ซึ่งผู้หญิงจะสามารถพึ่งพิงได้กรณีเกิดปัญหาครอบครัว
ประการสุดท้าย รัฐ สถาบันทางศาสนา และผู้นำศาสนา ควรสนับสนุนองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ที่ทำงานเสริมสร้างศักยภาพผู้หญิง โดยเฉพาะการให้ความคุ้มครองแก่ผู้หญิงที่ทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
สะท้อนปัญหาเพื่อหาทางแก้ไข
อังคณา นีละไพจิตร กล่าวถึงสารที่ต้องการสื่อของรายงานฉบับนี้ว่า เน้นศึกษาผู้หญิงพื้นบ้านในสังคมมลายูมุสลิมที่ขาดโอกาสในหลายๆ ด้าน เมื่อเกิดเหตุรุนแรงและความสูญเสียต้องกลายเป็นผู้นำครอบครัว ทำให้ยากต่อการทำงานและสร้างโอกาสที่ดีในชีวิต ต้องเผชิญกับความท้าทายและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
“โดยเฉพาะครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ มักถูกมองอย่างเป็นอคติจากรัฐและสังคมว่าเป็นครอบครัวของผู้ก่อความไม่สงบ ทำให้เข้าไม่ถึงการเยียวยา และมีการฟัตวาจากผู้รู้ว่าเงินเยียวยาจากรัฐมิใช่มรดก ผู้หญิงที่พยายามพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของหัวหน้าครอบครัวต้องขึ้นศาล ไปสถานีตำรวจเพื่อขอประกันตัวและอื่นๆ ส่วนครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายหลายสิบครอบครัวได้รับการเยียวยาจากรัฐเพียง 17 ครอบครัวเท่านั้น” อังคณา ระบุ
เธอยังเห็นว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมและสายสัมพันธ์ของครอบครัวมุสลิม ส่งผลถึงขนาดที่ว่าน้อยครั้งนักที่ครอบครัวจะได้อยู่กันอย่างพร้อมหน้า ขณะที่ผู้หญิงไม่สามารถบอกเล่าปัญหาของตนเองได้ ต้องเผชิญกับปัญหาด้านเศรษฐกิจ ซ้ำยังมีการศึกษาน้อย ขาดทักษะและอำนาจต่อรอง ทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย และอีกจำนวนมากเกิดความรุนแรงในครอบครัว
“ผู้หญิงมุสลิมที่ออกมาทำงานนอกบ้านและมีบทบาทในสังคมหลายบทบาท บางครั้งกลับถูกกดดันและถูกประณามจากสังคม หรือเมื่อออกมาแสดงความคิดเห็นก็อาจถูกลดทอนความน่าเชื่อถือ ทำให้เป็นอุปสรรคในการก้าวต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการศาสนาต้องรับรู้รับฟังถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้น”
“ทุกวันนี้ผู้หญิงพูดเรื่องของผู้หญิงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงในประเทศอิสลาม เพราะมีหลายกรณีที่ผู้หญิงถูกกระทำ อยากเห็นผู้หญิงมุสลิมมลายูที่มีความรู้ด้านศาสนาออกมาตั้งคำถามกับสังคมและผู้นำศาสนา รวมทั้งปกป้องผู้หญิงด้วยกันให้มากกว่านี้” อังคณา กล่าว
ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ บอกด้วยว่า รายงานฉบับนี้ไม่ได้ทวงสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง แต่จะบอกถึงปัญหาของผู้หญิง แล้วตั้งคำถามว่าเราจะดูแลผู้หญิงอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้ ผู้หญิงไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น แต่เมื่อปัญหาแล้วเราจะกลับมาทบทวนหรือไม่ คนที่อยู่ในสถานะของแม่หม้าย เด็กที่พ่อไม่มี ซึ่งผู้หญิงต้องเป็นผู้นำครอบครัวแทน ในขณะที่การวินิจฉัยของนักการศาสนาบางกลุ่มยังคงยืนยันว่าผู้หญิงไปไหนไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ทำนิติกรรมไม่ได้ แล้วสังคมมุสลิมดูแลผู้หญิงแบบนี้อย่างไร
“ทั้งหมดเป็นคำถามและหวังว่ารายงานฉบับนี้จะได้รับการอ่าน การวิเคราะห์โดยมองถึงพื้นฐานของสิ่งที่เกิดขึ้นจริง โดยส่วนตัวแล้วขอยืนยันว่าเคารพหลักการทางศาสนา เคารพการทำหน้าที่ของแต่ละคน ไม่ได้ต้องการเรียกร้องสิทธิสตรีอะไรมากมาย เพียงแค่อยากจะบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงว่าปัญหามันมีอยู่จริงนะ แล้วเราจะทำอย่างกับปัญหานั้น เพราะเชื่อว่าหากเรายอมรับความจริงที่เกิดขึ้น เราก็จะแก้ปัญหาได้” อังคณา กล่าว
เมื่อผู้หญิงพูดเรื่อง “ผู้หญิง”
ในงานเดียวกันยังมีการเสวนาหัวข้อ “ชีวิตของผู้หญิงมลายูมุสลิมท่ามกลางความรุนแรง” ซึ่งได้เชิญผู้หญิงที่มีบทบาทในสังคมชายแดนใต้ในหลากหลายมิติมาร่วมแสดงความคิดเห็น
แยนะ สะแลแม นักสิทธิมนุษยชนรากหญ้าจาก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เจ้าของรางวัล “พลเมืองคนกล้า” กล่าวว่า หากไม่มีเหตุการณ์ตากใบ (การสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมจำนวนมากที่หน้า สภ.ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 85 ศพ หนึ่งในนั้นเป็นลูกชายของแยนะ) คงไม่มีใครรู้จักเธอซึ่งเป็นเพียงผู้หญิงมลายูมุสลิมเรียนจบแค่ชั้น ป.4 เรียนศาสนาแค่ชั้น 2 ฐานะยากจน
“ฉันเป็นลูกกำพร้า ต้องต่อสู้ชีวิตเรื่อยมา จนมามีครอบครัวและเกิดเหตุการณ์ตากใบ ทำให้ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อถามหาความยุติธรรมเพราะไม่มีใครทำ เมื่อถามผู้รู้ทางศาสนาเขาบอกว่าทำได้ ไม่เป็นบาปในเรื่องนี้ ทุกอย่างอยู่ที่พระเจ้าที่จะให้เรา ศาสนาสอนให้มีความซอบัร (อดทน) ผู้หญิงมีความอดทนในการทำงานหลายอย่าง ไปตรงไหนก็มีแต่ผู้หญิงที่ออกมาทำงานและกิจกรรมอื่นๆ”
ดารณี เจ๊ะเลาะ จากสมาคมสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสันติภาพ บอกว่า ขอเป็นฟันเฟืองเล็กๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีในพื้นที่ เพราะเรื่องนี้เป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นบททดสอบที่อัลลอฮ์ส่งมา ทุกชีวิตต้องแสดงบทบาทและหน้าที่ของตนเอง สิ่งที่เกิดขึ้นทำชีวิตของผู้หญิงหลายร้อยหลายพันชีวิตต้องได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มีปัญหาเล็กๆ หลายปัญหาที่การเยียวยาของรัฐยังเข้าไม่ถึง ผู้หญิงที่สามารถต่อสู้ต่อไปได้ต้องมีหลักการอิสลามในการดำรงชีวิต”
ผศ.ชิดชนก ราฮิมมูลา อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) กล่าวว่า เมื่อได้มาอยู่ในพื้นที่ ได้เห็นพลังของผู้หญิงมุสลิมที่ทำงานทุกอย่างในแต่ละวัน ให้ความสำคัญเรื่องศาสนา ไม่ทิ้งศาสนา ยิ่งกว่านั้นเมื่อมีปัญหาในครอบครัวยังสามารถลุกขึ้นมาสู้กับปัญหาได้มากกว่าผู้ชาย สามารถทำได้หลายหน้าที่และหลายบทบาท
ฮาฟีซะ สาและ นักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ในฐานะผู้ฟัง ร่วมแสดงความเห็นว่า สังคมมุสลิมยังไม่กล้าพูดเรื่องเหล่านี้มากนัก ทั้งที่เป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ใช่เฉพาะของผู้หญิงอย่างเดียว ผู้ชายต้องช่วยในการเปลี่ยนแปลง ถึงเวลาแล้วที่สังคมมุสลิมต้องพิจารณาว่าได้นำหลักการทางศาสนามาปฏิบัติจริงแล้วหรือยัง เป็นความท้าทายของผู้ชายมลายู
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเปิดโอกาสให้ผู้หญิงพัฒนาศักยภาพ สามารถสานสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดีขึ้น อิสลามเปิดโอกาสให้ตีความจากการศึกษาหาความรู้และเปิดโอกาสในการเรียนรู้ เมื่อโอกาสนั้นมาถึงชายแดนใต้ ผู้หญิงได้รับโอกาสมากขึ้น ผู้ชายก็ต้องมาตั้งคำถามว่าจะเอื้อให้ผู้หญิงพัฒนาโอกาสที่ได้รับนั้นได้อย่างไร”
เมื่อ “ผู้ชาย” พูดถึง “ผู้หญิง”
ในเวทีเสวนา ยังมีผู้ชายหลายคนที่ร่วมรับฟังและขอแสดงความคิดเห็น อาทิ อับดุลอซิซ ตาเดร์อินทร์ จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) กล่าวว่า รายงานการวิจัยชิ้นนี้เป็นสิ่งที่ดี แต่เรื่องราวที่นำเสนอเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้วในทุกสังคม มีปัญหาผู้หญิงถูกละเมิดสิทธิในทุกภาคของประเทศ จริงๆ แล้วเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวกับอิสลามไม่ได้ขัดแย้งกัน
“ผมเป็นห่วงว่าเนื้อหาในรายงานบางแง่มุมอาจทำให้ผู้อ่านที่ไม่เข้าใจผลักให้กลายเป็นประเด็นทางศาสนา ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของตัวบุคคล ถ้าบุคคลทำผิด ผู้นำศาสนาทำผิดก็ต้องฟ้องร้องกันไป มันมีช่องทาง หรือจะตั้งเป็นศูนย์ร้องเรียนก็ได้ อิสลามมีทางออกตลอด แต่จะบอกว่าหลักการแย่คงไม่ได้ ผมกังวลว่าจะเกิดขึ้นกับคนบางคนที่อ่านรายงานแล้วทำความเข้าใจผิดเพี้ยนไป ตรงนี้ต้องระวัง”
อย่างไรก็ตาม อับดุลอซิซ เห็นด้วยว่า สิ่งที่รายงานฉบับนี้นำเสนอเป็นการสะท้อนความอ่อนแอบางประการของผู้ชาย ผู้นำศาสนา และผู้นำในพื้นที่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหันมาดูแลรับผิดชอบผู้หญิงที่ถูกลิดรอนสิทธิอย่างจริงจัง และควรตั้งวงพูดคุยปัญหาเหล่านี้ให้เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้นเสียที
แม้ความเปลี่ยนแปลงจะยังอีกยาวไกล แต่รายงานของอังคณาและคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพก็ได้ทำหน้าที่ให้เกิด “ก้าวแรก” ของการเริ่มต้นสะสางปัญหาแล้ว...
------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ปกรายงานวิจัยเรื่อง บทบาทและความท้าทายของผู้หญิงมลายูมุสลิมท่ามกลางความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย (ตกแต่งภาพโดยกองบรรณาธิการอิศรา)
2 อังคณา นีละไพจิตร