“ดินดี น้ำดี” การันตีความมั่นคงทางอาหารด้านประมงไทย
"...ไทยเลี้ยงกุ้งเก่งที่สุด ดังนั้นก็ไม่ต้องกลัว เพราะการเลี้ยงสัตว์น้ำ มันขึ้นอยู่กับพื้นที่ แม้ความรู้เท่ากัน แต่สภาพพื้นที่ดินไม่เหมือนกัน เลี้ยงยังไงก็สู้กุ้งไทยไม่ได้..."
“ประเด็น “ความมั่นคงด้านอาหาร” เป็นที่สนใจกันมาตั้งแต่ปี 2539 ในการประชุมอาหารโลก ประชาคมโลกให้ความสำคัญและเห็นว่าขณะนี้คนที่ยังหิวโหย ยังมีอยู่กว่าพันล้านคน จึงมีเจตนารมณ์ร่วมกันว่า ภายในปี 2558 ประเทศต่าง ๆ จะร่วมกันลดจำนวนประชากรที่หิวโหยลงสักครึ่งหนึ่ง
การคำนึงถึงความมั่นคงด้านอาหารได้เกิดขึ้นจากกระแสความกังวลว่าในอนาคต อาหารจะไม่เพียงพอสำหรับเลี้ยงพลโลก เพราะประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 6-7 พันล้านคน คาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าจะถึง 9 พันล้านคน”
ดร.วิมล จันทรโรทัย อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงที่มาของกระแสความตื่นตัวเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ในการสัมมนาเรื่อง “ประมงกับความมั่นคงทางอาหาร” ซึ่งจัดโดยคณะทำงานกลุ่มผู้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดล แผนกเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมประมงและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา
ก่อนจะกล่าวต่อถึงเหตุผลที่ทำให้การประมงถูกคาดหวังให้เป็นแหล่งประกันความมั่นคงด้านอาหารของโลกและของไทยในอนาคตว่า ภาคการประมงเป็นอีกหนึ่งภาคการผลิตอาหารที่สำคัญ ที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลกในอนาคต ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม ภูมิอากาศ โรคระบาดที่เกิดขึ้น อันจะส่งผลให้ผลผลิตธัญพืชหลัก ๆ 3 ชนิดของโลก คือข้าวสาลี ข้าวโพด และข้าว ลดปริมาณลงไป
จึงมีการหันมามองที่อาหารทางทะเลที่จะมาทดแทนหล่อเลี้ยงพลโลกในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยคาดการณ์ว่า โลกมีความต้องการผลผลิตสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอีก 75 ล้านตัน จากผลผลิตปัจจุบันที่ 144 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอกับประชากรที่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามผลผลิตด้านประมงหากจะนำซึ่งความมั่นคงด้านอาหาร ไม่เพียงมีแต่ปริมาณ แต่ต้องมีคุณภาพ มีความหลากหลาย มีการกระจายเข้าถึงทุกคน และมีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ข้อมูลปัจจุบัน ประเทศไทยมีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำเพื่อการส่งออกเฉลี่ยปีละกว่าล้าน ๆ ตัน เป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดโลก โดยมีความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี มีประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป แคนาดา และออสเตรเลีย สามารถทำเงินตราเข้าประเทศเฉลี่ยปีละกว่าสองแสนล้านบาท
ทั้งนี้การผลิตภาคการประมงในปัจจุบัน ยังได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย อาทิ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง น้ำท่วม แล้งยาวนาน ทรัพยากรทางทะเลที่เสื่อมโทรมลง เช่น ขยะทางทะเล หรือพื้นทะเลถูกครูด เป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล มลภาวะทางน้ำ จากน้ำเสียหรือสารเคมีที่ไหลลงสู่ทะเล ทำให้ปลาตายจำนวนมาก การทำประมงที่ไม่ถูกต้องของมนุษย์ เช่น ใช้ไฟฟ้าช็อต หรือใช้เครื่องมือประมงที่ไม่เหมาะสม
ที่สำคัญ ปัญหาเรื่องแรงงาน จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตสำหรับประเทศไทย เพราะหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เมื่อแต่ละประเทศมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น แรงงานเพื่อนบ้านที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตอาหารจากทะเลก็ต้องกลับประเทศ!
เมื่อเห็นปัญหาในภาพรวมเช่นนี้แล้วภาคราชการได้ดำเนินการแก้ไขอย่างไรบ้าง อธิบดีกรมประมงอธิบายคร่าว ๆ ว่า สิ่งกรมประมงทำอยู่คือ 1.ผลิตปลาปีละประมาณ 1,800 ล้านตัวกระจายปล่อยลงในแหล่งน้ำ คาดว่าแม้เหลือรอดเพียง 5% ก็ทำให้อุดมสมบูรณ์แล้ว
2.สร้างฐานที่อยู่อาศัยให้ปลาและสัตว์น้ำทั้งในแหล่งน้ำจืดและในทะเล เช่น สร้างปะการังเทียม
3.ส่งเสริมให้มีการทำประมงเฉพาะด้าน และทำประมงอย่างรับผิดชอบ เพิ่มโอกาสให้ชาวประมงขนาดเล็กสามารถทำมาหากินในพื้นที่ท้องถิ่นของตนเองได้
4.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์สัตว์น้ำให้เหมาะสม ถูกต้อง เน้นให้คนได้บริโภคก่อนเป็นลำดับแรก การประมงส่วนหนึ่งจะจับได้ปลาเล็กปลาน้อยขึ้นมา ซึ่งจำเป็นต้องเอาปลาพวกนี้มาเป็นอาหารให้คนกินให้ได้ เพราะการขาดโอกาสด้านอาหารในชนบทยังมีอีกมาก
เรื่องใหญ่ในอนาคตอันใกล้ ปลายปี 2558 ก็คือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่จะส่งผลกระทบไปทุกองคาพยพ ดร.วิมล จันทรโรทัย ให้ข้อมูลว่า จากการวิเคราะห์ของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแล้วพบว่า สาขาประมงและอาหารแช่แข็งประเทศไทยจะได้เปรียบ เนื่องจากไม่มีกำแพงภาษี ทั้งยังได้ขยายตลาดมากขึ้น
ส่วนผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้น สินค้าประมงถูก ๆ ที่ไม่มีการควบคุมมาตรฐานคุณภาพก็อาจทะลักเข้ามายังประเทศไทย แต่กรมประมงก็เตรียมรับมือ โดยเพิ่มการปรับปรุงระบบการตรวจตามด่านชายแดนต่าง ๆ เพื่อควบคุมสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ในส่วนเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำรายย่อยเอง ก็ต้องปรับตัวเข้าสู่มาตรฐานบนเพื่อไม่ให้ถูกแย่งตลาด
ที่ต้องระวังคือ ในเมื่ออาเซียนมีฐานการผลิตคล้าย ๆ กัน จึงต้องหันมาดูผลกระทบเรื่องสุขอนามัย ซึ่งจะนำมาสู่การออกกฎระเบียบต่าง ๆ อันเป็นการกีดกันทางการค้า ว่าจะมีมากขึ้นหรือไม่
แล้วประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะนำมาซึ่งความมั่นคงทางอาหารด้านประมงได้อย่างไร?
คำตอบอาเซียนต้องมีมาตรฐานเดียวกัน และรวมตัวกันเพื่อแข่งขันกับข้างนอก ไม่ใช่แข่งขันภายในกันเอง โดยสิ่งที่อาเซียนกำลังทำอยู่ในขณะนี้ อาทิ มาตรฐานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มาตรฐานการจัดการควบคุมโรค มาตรฐานกระบวนการผลิตและแปรรูป
“ประเด็นสุดท้ายที่เรากำลังทำอยู่ก็คือ เราจะปักธงอย่างไรว่า เราเป็นผู้นำด้านการประมงในอาเซียน จริง ๆ แล้วเราเป็นผู้นำประมงในโลกด้วยซ้ำไป แต่ในเมื่ออาเซียนเป็นหนึ่งเดียวแล้ว เราอยากให้โลกมองมาที่ไทยว่านี่คือศูนย์กลางตลาดสินค้าซีฟู้ดของอาเซียน ทางกระทรวงเกษตรก็ได้เตรียมการขับเคลื่อนให้เราเป็นศูนย์กลางด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ” อธิบดีกรมประมงกล่าว
ด้าน ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ก็เห็นตรงกันว่าต้องปรับให้สินค้าของเซียนเป็นมาตรฐานเดียวกัน ต้องให้โลกยอมรับว่ามาตรฐานของอาเซียนคือมาตรฐานโลก
ซึ่งจากประสบการณ์ยืนยันว่า ไทยเลี้ยงกุ้งเก่งที่สุด ดังนั้นก็ไม่ต้องกลัว เพราะการเลี้ยงสัตว์น้ำ มันขึ้นอยู่กับพื้นที่ แม้ความรู้เท่ากัน แต่สภาพพื้นที่ดินไม่เหมือนกัน เลี้ยงยังไงก็สู้กุ้งไทยไม่ได้
“สำหรับประเทศไทย เราคงไม่หวังจะเป็นอันดับ 1 ของโลกด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะในแง่ปริมาณผลผลิตอย่างไรก็สู้จีนไม่ได้ ขณะนี้ผลผลิตด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย 1.4 ล้านตัน เป็นการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง 9 แสนตัน และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอีก 5 แสนตัน โอกาสในการขยายปริมาณคงมีอีกไม่เกิน 20% ของพื้นที่ที่ใช้อยู่ แต่เราหวังเป็นที่ 1 ในด้านคุณภาพมากกว่า ว่าเราสู้ได้แน่ เช่น เรื่องของกุ้ง ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามผลักดันให้กุ้งไทยมีคุณภาพอันดับหนึ่งของโลกอยู่แล้วในขณะนี้ เพราะได้รับการยอมรับทั้งด้านความหลากหลาย รสชาติ และความปลอดภัย
"เรายังเป็นต้นน้ำด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการส่งออก เพราะพื้นที่มีความเหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งการันตีว่าความมั่นคงด้านนี้ก็จะยังอยู่กับเรา” นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยยืนยัน
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ประเทศไทยยืนยันความมั่นคงทางอาหารของเราได้มากขึ้น ที่สำคัญที่สุดต้องควบดุลยภาพของสินค้าประมงระหว่างการส่งออกสินค้าดี ๆ กับการเก็บไว้บริโภคภายในประเทศ เน้นเก็บของดีไว้ให้คนในประเทศได้กินก่อน
หลังเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว การค้าขายก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำรายได้ให้เกษตรกร และอย่าลืมว่าความมั่นคงที่ยั่งยืนที่สุด ก็คือการพึ่งพาตนเองตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง.