เจาะปมเหตุ"วงจรปิด"ถูกเผารายวัน รัฐตื่นออกมาตรการล้อมคอก!
ยังคงถามไถ่ด้วยความสงสัยกันว่าเหตุใดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ ซีซีทีวี ที่ชายแดนใต้ถึงถูกเผากันรายวัน ทำไมกล้องที่มีวัตถุประสงค์ในการจับจ้องคนร้าย กลับไม่สามารถป้องกันอะไรได้เมื่อตัวมันเองกำลังถูกทำลาย เจ้าหน้าที่ไม่ได้เฝ้าดูกันเลยหรืออย่างไร ฯลฯ
ตั้งแต่ปีใหม่ 2556 เป็นต้นมา กล้องวงจรปิดถูกเผาและโจรกรรมไปแล้ว 3-4 รอบ สูญกล้องไปไม่ต่ำกว่า 100 ตัว และหากนับจากครึ่งหลังของปี 2554 ที่เริ่มเกิดเหตุการณ์ "เผากล้อง" กันอย่างเอาจริงเอาจัง สรุปได้ว่าจนถึงขณะนี้มีการเผามาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง กล้องพังและหายไปร่วมๆ 400 ตัว
ทั้งหมดนี้จับคนร้ายได้ไม่กี่ราย ทำให้โอกาสที่กล้องจะถูกเผาต่อไปเรื่อยๆ มีสูงมากทีเดียว
"ทีมข่าวอิศรา" เจาะลึกถึงปัญหาและเก็บข้อมูลจากพื้นที่เพื่อค้นหาสาเหตุกล้องวงจรปิดถูกเผา
รู้จัก "ซีซีทีวี"
ก่อนอื่นต้องทำความรู้จักกับส่วนประกอบของกล้องวงจรปิดกันก่อน เพราะเมื่อทราบ "ส่วนประกอบ" ก็จะพบ "ช่องโหว่-ช่องว่าง" ที่ทำให้คนร้ายยังกล้าท้าทายเผากล้องรายวัน
ทั้งนี้ ระบบโทรทัศน์วงจรปิด หรือ Closed Circuit Television System (ซีซีทีวี) แทบทุกรุ่นทุกแบบ มีส่วนประกอบหลักๆ อยู่ 4 ส่วนเท่านั้น ได้แก่
1.ตัวกล้อง คืออุปกรณ์ที่ถูกนำไปติดตั้งตามจุดล่อแหลมต่างๆ เป็นตัวที่รับภาพมาแล้วส่งไปให้เครื่องบันทึก หรือ DVR (Digital Video Recorder) ซึ่งแต่ละยี่ห้อไม่เหมือนกัน ขึ้นกับ housing หรืออุปกรณ์ห่อหุ้มกล้อง ตัวกล้องมีทั้งแบบติดตั้งอยู่กับที่ และขยับซ้าย-ขวา ขึ้น-ลงได้
2.เลนส์ ใช้ร่วมกับตัวกล้อง มีทั้งแบบ Fixed Lens คือไม่สามารถปรับมุมกว้าง-แคบ ซูมใกล้-ไกลได้ กับแบบ Auto คือสามารถปรับมุมได้อย่างอิสระ
3.เครื่องบันทึกภาพ หรือ DVR เป็นหัวใจของระบบซีซีทีวี เพราะจะเป็นอุปกรณ์เก็บภาพทั้งหมดที่บันทึกได้จากกล้อง ซึ่งแต่ละยี่ห้อมีคุณภาพและประสิทธิภาพแตกต่างกัน ขึ้นกับราคา
4.เครื่องรับภาพ หรือมอนิเตอร์ เป็นอุปกรณ์แสดงภาพที่ส่งต่อมาจาก DVR ส่วนใหญ่เป็นจอลักษณะเดียวกับทีวี แต่บางรุ่นก็ต่อเข้ากับจอคอมพิวเตอร์ได้
3 ปัญหาไม่น่าเกิด
จากข้อมูลที่รวบรวมได้ในพื้นที่ พบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้กล้องถูกเผาโดยที่เจ้าหน้าที่ไม่รู้ตัวล่วงหน้า มาจากปัจจัยส่วนประกอบข้อ 3 กับข้อ 4 คืออุปกรณ์ DVR และจอมอนิเตอร์
ทั้งนี้ กล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่จัดซื้อและติดตั้งในพื้นที่ในระยะหลังๆ ตัว DVR เป็นระบบดิจิตอลหมดแล้ว แทบไม่มีที่ยังใช้เทปบันทึกแบบโบราณ และกล้องที่ใช้ก็สามารถส่งสัญญาณภาพไปยังจอมอนิเตอร์ได้ แต่ปัญหาที่พบคือ จอมอนิเตอร์ที่ใช้ไม่ได้เป็นสัดส่วน 1 จอต่อ 1 กล้อง แต่ใช้แบบ 1 จอหลายกล้อง มีตั้งแต่ 4 กล้อง 8 กล้อง หรืออาจจะมากกว่านั้น
วิธีการก็คือ เมื่อติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการลากสายส่งสัญญาณภาพไปยังจอมอนิเตอร์ที่สำนักงานของหน่วยงานเจ้าของกล้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสถานีตำรวจ โดยจะมีห้องที่สามารถดูภาพมอนิเตอร์จากกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ในแต่ละจุดของพื้นที่ได้ แต่แทนที่การส่งสัญญาณภาพจะเป็นแบบ 1 จอต่อ 1 กล้อง เพื่อความชัดเจน กลับเป็นแบบแบ่งซอยจอมอนิเตอร์เพื่อให้แสดงภาพจากกล้องพร้อมๆ กัน 4-8 กล้อง หรือมากกว่านั้น ทำให้ภาพเล็ก มองไม่เห็นรายละเอียด และทำให้เจ้าหน้าที่ตาลาย ไม่สามารถเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกแบบหนึ่งคือมีจอมอนิเตอร์ 1-2 จอ แล้วดึงภาพจากกล้องที่ติดตั้งอยู่ทั้งหมด อาจจะ 10 ตัว 20 ตัว หรือมากกว่านั้น ให้ภาพขึ้นจอมอนิเตอร์วนสลับกันไป จุดอ่อนของวิธีการนี้ก็คือ หากภาพที่ส่งขึ้นจอมอนิเตอร์ไม่ใช่ภาพจากกล้องที่กำลังถูกทำลายพอดี ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าดูอยู่มองไม่เห็น เพราะกว่าภาพจากกล้องตัวนั้นจะวนมาถึง กล้องอาจถูกทำลายไปแล้ว
สาเหตุที่หลายหน่วยงานเลือกใช้จอมอนิเตอร์ลักษณะนี้ ก็เพราะราคาถูกกว่าแบบ 1 ต่อ 1 และใช้เจ้าหน้าที่เฝ้าดูจำนวนน้อย (เนื่องจากคิดว่าจอมีน้อย) ทั้งนี้ยังไม่นับรวมปัญหาที่เกิดจากความจงใจเพื่อทุจริต
นอกจากนั้นยังมีปัญหาพื้นฐานที่ไม่ควรเกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้นตลอดในพื้นที่ชายแดนใต้ คือมีจอมอนิเตอร์แต่ไม่มีคนเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากกล้องในแง่ของการป้องกันป้องปรามได้เลย ใช้ประโยชน์ได้เพียงดูภาพที่บันทึกได้หลังจากเกิดเหตุขึ้นแล้วเพื่อติดตามจับกุมคนร้ายเท่านั้น
ปัญหาเก่า "ไม่บูรณาการ"
นอกจากปัญหาในแง่เทคนิคและการจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าดูจอมอนิเตอร์แล้ว ยังมีปัญหาดั้งเดิมที่เป็นจุดอ่อนของระบบราชการ ส่งผลให้การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ดังนี้
1.ติดตั้งแบบไม่บูรณาการ หน่วยงานแต่ละแห่งแยกกันจัดซื้อ จัดจ้าง และติดตั้ง ใช้กล้องคนละชนิดกัน ไม่มีการเชื่อมต่อเครือข่ายสัญญาณภาพระหว่างกล้องที่เคยติดตั้งไว้แล้วกับกล้องที่ติดตั้งใหม่ ทำให้ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้
จากการรวบรวมหน่วยงานที่จัดซื้อกล้องและติดตั้งในพื้นที่ชายแดนใต้ พบว่ามีมากมายหลายหน่วยงาน เช่น กล้องของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีทั้งกรมการปกครอง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนั้นยังมีกล้องของทหาร ตำรวจ ที่ซื้อมาติดรอบๆ ฐานปฏิบัติการหรือรอบๆ หน่วยของตัวเอง มีกล้องขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จัดซื้อและติดตั้งเฉพาะเขตพื้นที่รับผิดชอบของตนเอง และยังมีกล้องของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งหน่วยงานหลังสุดนี้กำลังขอโยกงบปี 2557 มาใช้จัดซื้อและติดตั้งกล้องในปีงบประมาณ 2556
2.สืบเนื่องจากข้อ 1 คือเมื่อไม่บูรณาการก็ทำให้การกำหนดจุดติดตั้งไม่เหมาะสม ไม่สามารถจับภาพหรือเฝ้าระวังเหตุร้ายได้อย่างครอบคลุมเพียงพอ
3.คุณภาพของกล้องต่ำเกินไป และไม่เหมาะกับพื้นที่ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ กล้องบางตัวยังเป็นแบบติดตั้งอยู่กับที่ ไม่สามารถหมุนซ้าย-ขวาหรือซูมเข้า-ออกได้ และกล้องเกือบทั้งหมดไม่มีระบบป้องกันตัวเอง คือส่งสัญญาณเตือนเมื่อมีความร้อนหรือถูกกระทบด้วยของแข็ง
ปัญหานี้บางส่วนเกิดจากการทุจริต เขียนโครงการจัดซื้อกล้องในราคาสูง แต่กลับซื้อกล้องราคาต่ำ สาเหตุที่บางหน่วยงานกล้าทำเพราะไม่ค่อยมีการตรวจสอบ เนื่องจากมีสถานการณ์ความไม่สงบ และการทุจริตยังเป็นต้นเหตุของการสร้างสถานการณ์เผากล้องเพื่อปกปิดหลักฐานด้วย
ข้อสังเกตของ กมธ.วิสามัญฯ
ที่ผ่านมาเคยมีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด สภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบปัญหาการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีทั้งปัญหาการประมูลไม่โปร่งใส ทุจริตแก้ไขสัญญา และผู้รับเหมาทิ้งงาน
ปัญหาที่ กมธ.เคยสรุป (เฉพาะที่น่าสนใจ) มีดังนี้
1.กล้องมีจำนวนน้อยเกินไป ทำให้ไม่สามารถป้องกันและป้องปรามผู้กระทำผิดได้เท่าที่ควร
2.กล้องคุณภาพไม่ดี ภาพไม่ละเอียด เมื่อเกิดเหตุการณ์จึงไม่สามารถจับภาพคนร้ายได้อย่างชัดเจน
3.การติดตั้งกล้องแยกจุดกัน ทำให้ยากลำบากในการประสานงานและเชื่อมโยงเครือข่ายภาพ
4.คนร้ายมักตัดกระแสไฟฟ้าก่อนการกระทำผิด ทำให้กล้องไม่สามารถใช้งานได้
5.กล้องไม่มีระบบแบ็คอัพข้อมูลที่เพียงพอต่อการใช้งาน และไม่มีระบบสำรองข้อมูลภาพกรณีภาพแรกถูกทำลาย
6.กล้องถูกออกแบบมาเพื่อใช้จับภาพอย่างเดียว ไม่มีเทคโนโลยีอื่นเพิ่มเติม เช่น ระบบจดจำใบหน้าบุคคล เป็นต้น
7.กล้องขาดระบบแผนที่ดิจิตอล ทำให้ไม่สามารถระบุพิกัดของสถานที่เกิดเหตุได้ หลายอำเภอใช้ระบบไร้สาย ทำให้สัญญาณภาพไม่ชัดเจนหรือบันทึกภาพไม่ได้เวลาสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย
8.ไม่มีการตรวจสอบอย่างแท้จริงว่ากล้องทั้งหมดมีกี่ระบบ
9.มีการเอื้อประโยชน์การประมูลให้ผู้รับเหมาบางราย ทำให้ได้กล้องไม่มีคุณภาพ ราคาแพงเกินจริง และติดตั้งสายไฟเบอร์ออพติคไม่ครบถ้วน
10.การติดตั้งกล้องมีปัญหาความล่าช้าและติดตั้งไม่ได้ตามจำนวนที่กำหนด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่
รัฐเร่ง "ล้อมคอก"
จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา และเหตุการณ์เผาทำลายกล้องซีซีทีวีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดรัฐบาลได้ขยับออกมาตรการแก้ไขปัญหา ด้วยการสั่งการเป็นนโยบายให้การจัดซื้อกล้องหลังจากนี้ทั้งหมดต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติและสเปคจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เพื่อให้กล้องมีระดับคุณภาพใกล้เคียงกัน สามารถเชื่อมข้อมูลกันได้
โดยเฉพาะการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพิ่มใน 13 พื้นที่ปลอดภัยชายแดนใต้ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ทำให้หลายหน่วยงานของบประมาณเพิ่มเติมเข้ามา (ขอใช้งบกลาง) ล่าสุดสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณรวบรวมตัวเลข แต่การจัดซื้อทุกโครงการต้องผ่านกระทรวงไอซีที
นอกจากนั้นยังให้เพิ่มซอฟท์แวร์การแจ้งเตือน ซึ่งสามารถติดตั้งเพิ่มเข้าไปได้ เช่น เวลามีความร้อนหรือของแข็งกระทบตัวกล้อง ให้ส่งสัญญาณเตือนไปที่จอมอนิเตอร์ หรือการตั้งค่าแจ้งเตือนอื่นๆ อาทิ พื้นที่ห้ามจอดแต่กลับมีรถมาจอดเกินระยะเวลาที่กำหนด ก็สั่งให้กล้องสามารถแจ้งเตือนได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ ระบบการแจ้งเตือนจะช่วยลดภาระให้กับเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าดูจอมอนิเตอร์ เพราะได้มีการทดสอบแล้วว่า คนที่ดูจอมอนิเตอร์แค่ 5-10 จอ ระยะเวลาแค่ครึ่งชั่วโมง ประสิทธิภาพการเฝ้าระวังลดลงถึง 50%
ขณะเดียวกันก็มีข้อเสนออื่นๆ จากผู้เชี่ยวชาญแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล เช่น ให้นำระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้ในการเข้าถึงภาพจากกล้องโทรทัศน์วงจรปิด เพื่อเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการมอนิเตอร์ภาพจากกล้องและเฝ้าระวังเหตุร้ายหรืออาชญากรรม
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
1 เปิดสัญญา "พันล้าน" วงจรปิดชายแดนใต้... 5 ปีล่มซ้ำซาก สตง.ชี้มูลทุจริต
2 เผากล้องวงจรปิดยะลา 7 อำเภอ วอด 76 ตัว ย้อนอดีต 9 ครั้งสูญ 300 ตัว
3 เผากล้องวงจรปิดยะลาอีก 2 จุด ยิงผู้นำท้องถิ่นตาย-เจ็บเพียบตลอดสัปดาห์
4 ศธ.ของบเพิ่มติด"ซีซีทีวี"ใต้ ผบ.ทบ.แนะรื้อระบบ-จัดโซนเสี่ยงภัย
5 ถึงคิวปัตตานี! เผากล้องวงจรปิด 3 อำเภอ ดักบึ้มทุ่งยางแดงไร้เจ็บ
6 เขาจะของบดับไฟใต้เพิ่มอีกหมื่นล้าน!