แนะกองทุนสตรี สร้างความรู้ท้องถิ่น-สร้างนักสิทธิสตรี
ชี้ความรุนแรง 3 จว.ชายแดนใต้กระทบสิทธิผู้หญิงหนัก จี้รัฐปฏิบัติตามมติยูเอ็น แนะกองทุนสตรีพัฒนาให้ถูกที่ สร้างความรู้ท้องถิ่น-สร้างนักสิทธิสตรี
วันที่ 29 ม.ค. 56 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และมูลนิธิผู้หญิง จัดสัมมนา ‘ก้าวต่อไปของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน’ ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า การคุกคามนักสิทธิมนุษยชนหญิงมักเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศ ซึ่งปี 55 มูลนิธิได้วิจัยเรื่อง ‘ผู้หญิงกับการเข้าถึงระบบนิติธรรมของไทย สำรวจอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น’ โดยปรากฏข้อมูลส่วนใหญ่ พบ การออกจากบ้านผู้หญิงจะถูกท้าทายจากการตั้งคำถามของครอบครัวและสังคมว่า ออกไปข้างนอกไม่พ้นหาสามีใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการคุกคามทางเพศด้วยวาจา ส่งผลให้เกิดการลดทอนความน่าเชื่อถือของนักสิทธิมนุษยชนหญิงได้
สำหรับความจำเป็นบังคับใช้มติคณะมนตรีความมั่งคงแห่งสหประชาชาติ ข้อ 1325 ที่เกี่ยวกับบทบาทสำคัญของสตรีในการป้องกันและไกล่เกลี่ยความขัดแย้งและรังสรรค์สันติภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย กรณีการทำงานของนักสิทธิมนุษยชนหญิงนอกเหนือจากการถูกละเมิดจากรัฐ สิ่งที่ผู้หญิงต้องเผชิญอีก คือ ความท้าทายต่อระบบคิด วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อถือ ที่ลดทอนคุณค่า และเกิดการเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อนต่อผู้หญิง ทั้งที่ควรสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทในการสร้างสวัสดิภาพและความมั่นคงแก่สังคม
ประธานมูลนิติยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 43 เป็นต้นมา สหประชาชาติมีมติข้อ 1325 ให้สนับสนุนผู้หญิงในพื้นที่ขัดแย้งมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกระดับของการแก้ปัญหา รวมถึงมีส่วนร่วมการสร้างสันติภาพและความมั่นคง แต่ในไทยยังไม่มีการนำมติดังกล่าวมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากกระทรวงการต่างประเทศมีความคิดว่าพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ใช่สถานการณ์ความขัดแย้ง ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่เห็นความจำเป็นต้องนำมติข้อ 1325 มาใช้ ทำให้ผู้หญิงในพื้นที่ไม่ได้ขาดการใช้กลไกที่เป็นประโยชน์ในการปกป้องสิทธิ นอกจากนี้ไทยเคยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรีกว่า 20 ปี แต่ไม่เคยนำมาใช้เช่นกัน
นางอังคณา จึงข้อเสนอต่อรัฐบาล 4 ข้อ ดังนี้ 1.ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการยุติความรุนแรง โดยใช้มุมมองทัศนคติของความเป็นผู้หญิง และรับประกันว่าผู้หญิงจะต้องมีส่วนร่วมในยุทธศาสตร์การจัดการความขัดแย้ง พัฒนากลไกเพื่อสร้างหลักประกันป้องกันหญิงและเด็กหญิงจากความรุนแรงทุกรูปแบบ 2.ต้องสร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ทั้งในสถานการณ์ความขัดแย้ง และหลังความขัดแย้ง โดยรัฐต้องให้ความรู้และเสริมสร้างศักยภาพของผู้หญิง โดยเฉพาะผู้หญิงในชนบท ต้องเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการต่าง ๆ ที่รัฐตั้งขึ้น และมีสัดส่วนที่เหมาะสม 3.ปกป้องและคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงในระหว่างและหลังการขัดแย้ง เพราะมติข้อ 1325 เน้นให้รัฐต้องปกป้องจากความรุนแรงทางเพศ และไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล โดยเฉพาะผู้กระทำผิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ และ4.ต้องสร้างกลไกชดเชยเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยรัฐต้องตระหนักว่าการเยียวยาไม่ใช่การทดแทน
ทั้งนี้ ได้เปิดเผยข้อมูลปี 44-49 พบไทยมีนักสิทธิมนุษยชนถูกลอบสังหาร ลักพาตัว หรือทำร้ายร่างกายราว 20 คน ซึ่งมีเพียงไม่กี่กรณีที่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ และส่วนใหญ่เหตุการณ์ความรุนแรงเหล่านี้มักถูกลืมจากสังคมไทย
ด้านนางอรุณี ศรีโต นายกสมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา เจ้าของรางวัลนักสิทธิมนุษยชนดีเด่นปี 55 ผู้เรียกร้องให้แรงงานหญิงได้รับค่าจ้างในระหว่างลาคลอดบุตรได้ 90 วันและช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ จนทำให้นายจ้างยอมจ่ายเงินช่วยเหลือผู้เสียชีวิต กล่าวว่า ตนเป็นอดีตผู้ใช้แรงงานที่ลุกขึ้นเรียกร้องนายจ้างให้สร้างความเท่าเทียมระหว่างแรงงานชายกับหญิง จากนั้นได้ลาออกจากการทำงานโรงงาน และลงมาคลุกคลีกับชุมชนที่ต้องประสบกับปัญหาแหล่งอุตสาหกรรมรุกพื้นที่ในฐานะแกนนำ ซึ่งยอมรับว่าตนกลายเป็นนักสิทธิมนุษยชนหญิงได้ เพราะสถานการณ์พาไป อย่างไรก็ตามมองว่า วันนี้ไทยจำเป็นต้องสร้างนักสิทธิมนุษยชนหญิงมืออาชีพขึ้น โดยอาศัยการทำงานผ่านกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ส่งเสริมความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้หญิงในท้องถิ่นให้รู้จักเกิดความเข้มแข็งในการเข้าถึงสิทธิ มีความเป็นตัวเอง จะมีประโยชน์กว่าการนำเงินไปพัฒนากลุ่มอาชีพที่มีเงินจากกองทุนอื่นเกื้อหนุนอยู่แล้ว
ขณะที่นางจินตนา แก้วขาว กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหินกรูด บ่อนอก แกนนำคัดค้านการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าหินกรูด บ่อนอก จนต้องยุติไป กล่าวว่า ชาวบ้านกังวลว่าหากมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นอาจทำให้วิถีในชุมชนเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เห็นด้วยกับโครงการ และลุกขึ้นสู้ในฐานะประชาชน เมื่อแกนนำชายในชุมชนยอมจำนนต่ออำนาจรัฐ ตนในฐานะขึ้นเวทีปราศรัยการคัดค้านดังกล่าว จึงกลายเป็นแกนนำ แต่กลับถูกดูแคลนจากผู้ชายว่า แกนนำถ้าไม่มีเงิน ไม่มีรถก็เป็นไม่ได้ จึงฮึกเหิมและผลักดันผู้หญิงกลายเป็นแกนนำสิทธิมนุษยชนในวันนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันนักสิทธิมนุษยชนหญิงยังประสบปัญหาไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เพราะขาดความรู้ความสามารถ ดังนั้นเราต้องส่งเสริมคนเหล่านี้ให้เกิดความเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เดินบนถนนเส้นนี้อย่างมั่นคง โดยการร่วมมือกับทุกฝ่ายในการทำให้สถานะเป็นที่รู้จักของสังคม เพื่อป้องกันความปลอดภัย มิใช่ต้องคอยมีตำรวจคุ้มกันตลอดเวลาเหมือนตน และเร่งรัดให้รัฐบาลปฏิบัติตามปฏิญญาสากลต่าง ๆ เป็นรูปธรรม.