ครม.แก้พิษค่าแรง ตั้ง คกก.ช่วยเหลือเอสเอ็มอี-ลดสมทบประกันสังคม
ครม.ไฟเขียวแก้พิษค่าแรง 300บ. ตั้ง คกก.ช่วยเอสเอ็มอี-ลดเงินสมทบประกันสังคมอีกร้อยละ 1 “เผดิมชัย”เผยยอดเลิกจ้างเดือน ม.ค. 16 สถานประกอบการ 1,264คน
วันที่ 29 ม.ค.56 นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าครม.เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท/วัน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นทีปรึกษา นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้คณะกรรมการจะดูแลปัญหาผู้ประกอบการ โดยเฉพาะปัญหาสินเชื่อที่ผู้ประกอบการขาดหลักประกัน ปัญหาต้นทุนสูง และปัญหาประสิทธิภาพและการผลิตต่ำ
นอกจากนี้ที่ประชุมเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอให้แก้ไขกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน โดยจะมีการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม กรณีประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือทุพพลภาพ เสียชีวิต และคลอดบุตร ทั้งในส่วนของรัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนจากร้อยละ 1.5 ของค่าจ้าง เหลือเพียงร้อยละ 0.5 ส่วนเงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพนั้น ในส่วนของรัฐบาลจะจ่ายสมทบเงินในอัตราร้อยละ 2 จากเดิมที่อัตราร้อยละ1 ส่วนนายจ้างและผู้ประกันตนยังคงการจ่ายเงินสมทบเท่าอัตราเดิมที่ร้อยละ 3 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 ธ.ค. 2556 ขณะที่สิทธิประโยชน์ของลูกจ้างยังคงเดิม
ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตั้งแต่ 1-25 ม.ค.56 มีสถานประการเลิกที่มีการเลิกจ้าง 16 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,264 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือนที่ผ่านมา 2 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน สถานประกอบการที่เลิกจ้างจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มี 7 แห่งเท่ากับกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นการเลิกจ้างบางส่วน 435 คน และสถานประกอบการเลิกจ้างจากผลกระทบอื่น อาทิ วิกฤตเศรษฐกิจยุโรปมี 9 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 598 คน ลูกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน แบ่งเป็นสถานประกอบการที่ปิดกิจการ 3 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 186 คน เพิ่มขึ้น 4 คน และสถานประกอบการเลิกจ้างบางส่วน 6 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างรวม 643 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือน 217 คน ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป แปรรูปอาหาร และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า
รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่าจากการรายงานของ “ศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ใน 25 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดด พบว่ายังไม่มีลูกจ้างรายใดแจ้งขึ้นทะเบียนว่างงาน เนื่องจากผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท แต่เป็นการแจ้งเลิกจ้างกรณีอื่นๆ 99 คน ทั้งลาออกเองและเลิกจ้างในสถานประกอบการ 94 แห่ง .
ที่มาภาพ : http://hilight.kapook.com/view/80376