บนความอ่อนไหวจากนิยาม "จังหวัดชายแดนภาคใต้" บทเรียนกระทบใจ"คนสตูล"ที่รัฐห้ามละเลย
ปรัชญา โต๊ะอิแต
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้สภาผู้แทนราษฎรจะโหวตผ่านมาตรา 3 ของร่างพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.... หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.” ไปแล้วเมื่อวันพุธที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยให้กลับไปใช้นิยามของ “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่ว่าหมายถึง 5 จังหวัดคือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล ดังเดิมแล้วก็ตาม
ทว่าประเด็นอันสืบเนื่องมาจากถ้อยคำในกฎหมายเพียงไม่กี่พยางค์นี้ สะท้อนถึงความอ่อนไหวของดินแดนปลายด้ามขวานอย่างที่หลายฝ่ายควรตระหนักและบันทึกไว้เป็นอุทาหรณ์
ในช่วงการพิจารณาร่างกฎหมายของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ (วาระ 2) กรรมาธิการเสียงข้างมากได้มีมติให้ตัด จ.สตูล ออกจากนิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้” และให้ จ.สงขลา เฉพาะ 4 อำเภอเท่านั้นที่นับเป็นจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงตัดอำนาจคณะรัฐมนตรีในการกำหนดพื้นที่เพิ่มเติมในอนาคตด้วย
ทั้งๆ ที่ร่างเดิมของรัฐบาลซึ่งส่งเข้าสภา กำหนดนิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้” เอาไว้ว่าหมายถึง 5 จังหวัดรวม “สตูล”
ประเด็นจากถ้อยคำในกฎหมาย สร้างปมปัญหาทางความรู้สึก เพราะเครือข่ายองค์กรประชาชนจังหวัดสตูล ซึ่งประกอบด้วยสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดสตูล คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูล ชมรมอิหม่ามจังหวัดสตูล ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สถาบันเกษตรจังหวัด หอการค้า สื่อมวลชน และองค์กรภาคเอกชนต่างๆ รวม 99 องค์กร ได้เคลื่อนไหวยื่นแถลงการณ์ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการตัด จ.สตูล ออกจากนิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความเคลื่อนไหวบานปลายขยายวงไปถึงขั้นมีการจัดชุมนุมใหญ่ของชาวสตูลที่หน้าศาลากลางจังหวัด เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา!
อิหม่ามหมัดโหด ละใบแด ประธานชมรมอิหม่ามจังหวัดสตูล หนึ่งในแกนนำเคลื่อนไหว เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการจัดชุมนุมว่า ได้ทราบข้อมูลจากนักการเมืองในพื้นที่ว่ามีความพยายาม “ตัดสตูล” ออกจากนิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้หารือกับเครือข่าย 99 องค์กรในพื้นที่ และได้ทำแถลงการณ์คัดค้านถึงนายกฯ ที่ปรึกษานายกฯ และบรรดา ส.ส. รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยผ่านทาง ส.ส.สตูล และได้นำชาวสตูลทั้งจังหวัดมาแสดงเจตนารมณ์ให้รัฐบาลได้รับทราบว่า คนสตูลไม่เห็นด้วยที่จะแยกสตูลออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้
“เหตุผลของเราก็คือ สตูลกับสามจังหวัดชายแดนคือปัตตานี นราธิวาส และยะลามีวัฒนธรรมเหมือนกัน และมีพื้นที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย จากประวัติศาสตร์สตูลเพิ่งแยกออกมาจากรัฐไทรบุรี (รัฐเคดาห์ในปัจจุบัน) ประเทศมาเลเซียมาประมาณร้อยปีมานี้เอง ดังนั้นถ้าหากตัดสตูลออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านก็เป็นห่วงว่าอาจมีผู้ไม่หวังดีกล่าวอ้างยุยงให้สร้างสถานการณ์ความรุนแรง หรือสร้างปัญหาซึ่งอาจกระทบกับความมั่นคงในอนาคตได้”
อิหม่ามหมัดโหด กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการที่ จ.สตูล เป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผลดีคือการได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ จากรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนตาดีกา โครงการบัณฑิตอาสา โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการรสร้างคน
“สิ่งสำคัญที่สุดคือเราเกรงว่าจะกระทบกับการอนุญาตให้ใช้กฎหมายอิสลามในคดีครอบครัวและมรดก (พระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล พ.ศ.2489) และผลกระทบกับดาโต๊ะยุติธรรม (ผู้ชี้ขาดข้อพิพาทตามกฎหมายอิสลาม) ซึ่งคนสตูลยอมรับไม่ได้”
“ถ้าหากสตูลโดนตัดออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจกระทบกระเทือนจิตใจของคนสตูลอย่างรุนแรง และกลัวว่าบุคคลที่ไม่หวังดีกับรัฐจะเข้ามาปลุกปั่น ยุยงให้คนสตูลออกมาสร้างปัญหาเหมือนสามจังหวัด บอกได้เลยว่าถ้าหากสุดท้ายสภาผู้แทนราษฎรมีมติตัดสตูลออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ พวกเราคนสตูลจะคืนบัตรประชาชนให้กับรัฐทั้งจังหวัด และจะติดป้ายประณามให้พวกท่านทราบว่าเป็นผู้ทำร้ายจิตใจและนำปัญหามาให้ชาวสตูลอย่างใหญ่หลวง” เป็นความเห็นร้อนๆ ของอิหม่ามหมัดโหด
นายซอบรี หมัดหมัน ปลัดอำเภอทุ่งหว้า จ.สตูล กล่าวทำนองเดียวกันว่า การชุมนุมคัดค้านการตัด จ.สตูล ออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก เข้าใจว่าเพื่อแสดงพลังให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพราะสตูลอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาโดยตลอด เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมา
“รัฐเข้าใจหรือไม่ว่ามันจะกระทบต่อความรู้สึกของคนสตูลเป็นอย่างมาก เนื่องจากหากรัฐมองจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงเพราะความคิดเรื่องการก่อการร้ายอย่างเดียว ก็เป็นเรื่องไม่ยุติธรรม ที่สำคัญสตูลมีความคล้ายคลึงกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบทุกด้าน ทั้งศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี คือมีประชากรนับถือศาสนาอิสลามถึงร้อยละ 80 และยังเป็นพื้นที่การใช้กฎหมายอิสลามในคดีครอบครัวและมรดกด้วย ซึ่งกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้เฉพาะสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น และบางส่วนของ จ.สตูล ประชาชนก็พูดภาษามลายู ทั้งยังมีชายแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย”
“อย่าลืมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสตูล เช่น ปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และปัญหาคุณภาพการศึกษา ก็มีไม่แตกต่างจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สตูลเพิ่งมีมหาวิทยาลัยเป็นปีแรก ยังต้องได้รับการผลักดันการพัฒนาจาก ศอ.บต.ต่อไป ทั้งที่สามจังหวัดมีมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว และเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ อย่ามองว่าที่ประชาชนคัดค้านการตัดสตูลออกไปเพียงเพราะเรื่องงบประมาณกับเรื่องผลประโยชน์ เพราะเป็นการดูถูกคนสตูลมากเกินไป”
อย่างไรก็ดี ปลัดซอบรี ยอมรับว่า การเป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของสตูล ทำให้ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ หลายประการจริง แต่นั่นก็ทำให้ จ.สตูล ได้รับการพัฒนา และผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็ได้มีโอกาสร่วมกันพัฒนาจังหวัดบ้านเกิด
“ที่ผ่านมาคนสตูลได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนจังหวัดอื่นๆ อีกสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น สิทธิพิเศษเรื่องเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สิทธิด้านศาสนา วัฒนธรรม การสนับสนุนโรงเรียนตาดีกา สนับสนุนการประกอบพิธีฮัจญ์ สิทธิด้านการพัฒนา ทั้งโครงการ พนม. โครงการ พนพ. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของศอ.บต. การจ้างงานเร่งด่วน และการส่งเสริมอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิพิเศษด้านการศึกษา มีการให้ทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมาก ทั้งทุนพยาบาล ทุนอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุนพิเศษโรงเรียนนายร้อย คนที่ได้รับประโยชน์เหล่านี้ล้วนกลับมาทำงานในพื้นที่ รับใช้พี่น้องชาวสตูลตลอดมา ถือว่าเป็นการเติมเต็มให้กับคนสตูล หากไม่มีสิทธิประโยชน์เหล่านี้ โอกาสของคนในพื้นที่ก็จะลดลง”
ปลัดซอบรี บอกด้วยว่า หากจะ “ตัดสตูล” ออกจากจังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงเพราะสตูลไม่มีปัญหาก่อความไม่สงบ ก็อาจกระทบต่อความรู้สึกและทัศนคติของพี่น้องประชาชน
“หากเปรียบเทียบสตูลก็เหมือนแก้วบางๆ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐเคยใส่น้ำเย็นมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้กลับเทน้ำร้อนใส่แบบกะทันหัน แน่นอนว่าย่อมทำให้แก้วใบนี้เกิดรอยร้าวและอาจจะแตกได้ในที่สุด ดังนั้นรัฐไม่ควรสร้างเงื่อนไขทางความรู้สึกให้กับชาวสตูล” ปลัดซอบรี อธิบาย
อย่างไรก็ดี ยังมีมุมมองที่แตกต่างจาก นายนัจมุดดิน อูมา ส.ส.นราธิวาส พรรคมาตุภูมิ ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างมากที่ลงมติให้ “ตัดสตูล” และ “สงขลา” ออกจากนิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้”
นัจมุดดิน กล่าวเรื่องนี้ระหว่างเป็นวิทยากรบรรยายหัวข้อ “แนวทางการเสริมสร้างสังคมสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้จากมุมมองของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง” ในการเรียนการสอนหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 2 ของสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยบอกว่า อยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลทุ่มงบประมาณจำนวนมากลงไปแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะปีงบประมาณ 2554 ตัวเลขอยู่ที่ 19,000 ล้านบาทเศษ หากนิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้หมายถึง 5 จังหวัด งบก็จะถูกกระจายออกไป
“อ.เจาะไอร้อง (จ.นราธิวาส) ได้รับงบและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เท่ากับ อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ซึ่งไม่ได้มีปัญหาเหมือนสามจังหวัด ตรงนี้คือตัวอย่างของความไม่เหมาะสม อยากบอกว่าในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นรัฐบาลหลังการปฏิวัติ และออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีฟื้นองค์กร ศอ.บต.ขึ้นมา ยังกำหนดขอบเขตอำนาจของ ศอ.บต.ให้ดูแลพื้นที่สามจังหวัดและสี่อำเภอของ จ.สงขลาเท่านั้น แสดงว่ารัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ยังเข้าใจปัญหามากกว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้เสียอีก”
ยังมีอีกหลายประเด็นในร่างกฎหมายที่ ส.ส.นราธิวาส ผู้นี้ไม่เห็นด้วย อาทิ การกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ศอ.บต.โดยตำแหน่ง และนายกฯสามารถมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนใดรับผิดชอบแทนก็ได้ ซึ่งส่วนตัวเสนอให้ใช้ระบบสรรหา ขณะที่คนในพื้นที่อยากให้มีการเลือกตั้งผู้อำนวยการ ศอ.บต.ด้วยซ้ำ เพื่อจะได้สามารถกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาพื้นที่ได้อย่างเข้าใจและเข้าถึงอย่างแท้จริง
แต่กระนั้น นัจมุดดิน ก็บอกว่าหลักการหลายอย่างตามร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องดี และเขาก็เห็นด้วย เช่น การแยกส่วนงานความมั่นคงออกไปให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ดูแลเท่านั้น ส่วนงานด้านการพัฒนาให้ ศอ.บต.ดูแลทั้งหมด และสามารถกำหนดยุทธศาสตร์เองได้ ทำให้เชื่อว่าเมื่อร่างกฎหมายผ่านสภาและมีผลบังคับใช้ แม้จะแก้ปัญหาไม่ได้ 100% แต่ก็น่าจะดีกว่าเดิม
ถึงวันนี้แม้การโหวตมาตรา 3 แห่งร่าง พ.ร.บ.ศอ.บต.จะผ่านพ้นไปแล้ว โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้กลับไปใช้นิยาม “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ตามร่างเดิม คือหมายถึง 5 จังหวัดรวม “สตูล” แต่ปัญหานี้ก็ยังไม่จบเสียทีเดียว เพราะยังต้องมีการโหวตรับหรือไม่รับร่างทั้งฉบับใน “วาระ 3” อีก และยังต้องส่งร่างให้วุฒิสภาพิจารณาต่อด้วย ที่สำคัญยังไม่มีใครยืนยันได้ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะอยู่ถึงวันที่ร่างกฎหมายผ่านสภาและมีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์
ฉะนั้นจึงยังไม่ชัดเจนว่า “สตูล” จะถูกตัดจากนิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ แต่ความเคลื่อนไหวจากแรงต้านของคนในพื้นที่ น่าจะทำให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักและหยิบมาเป็นบทเรียนอันสำคัญว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ล้วนมีความอ่อนไหวและอาจจุดชนวนความขัดแย้งได้เสมอ...
--------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 การชุมนุมของชาวสตูลเพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการ "ตัดสตูล" ออกจากนิยามจังหวัดชายแดนภาคใต้
2 อิหม่ามหมัดโหด
3 ปลัดซอบรี
4 นัจมุดดิน (โปรดคลิกปุ่ม next ใต้รูปเพื่อดูภาพ)
ขอบคุณ : ภาพ นายนัจมุดดิน อูมา จากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ